วิกฤติหนักของ Mazda ฟ้องกลับลูกค้าที่ประท้วงในงาน Motor Expo 2017

Mazda กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก เมื่อมีกระแสออกมาว่าบริษัทมีการฟ้องร้องกลับผู้ใช้งานรถยนต์รุ่น CX-5 ที่ไปประท้วงถึงปัญหาเครื่องยนต์ภายในงาน Motor Expo 2017

ฟ้องกลับลูกค้า พร้อมเรียกเงิน 95 ล้าน

กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์เมื่อเพจ “รถมีปัญหา Car Complaints, Thailand” ได้แชร์บทความโดยมีใจความว่าค่ายรถ Mazda โดย บริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ได้ฟ้องกลับลูกค้าที่ได้ไปประท้วงถึงปัญหาการใช้งานของรถยนต์รุ่น CX-5 ภายในงาน Motor Expo 2017 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง พร้อมเรียกเงิน 95 ล้านบาท

เหตุการณ์ดังกล่าวผู้ใช้งานรถยนต์ดังกล่าวได้รวมตัวกัน 15 คน เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาเรรื่องยนต์ดีเซลล์ ปัญหาน้ำดัน และน้ำมันเชื้อเพลิงไหลไปปนกับน้ำมันเครื่อง เป็นเหตุทำให้เครื่องยนต์เสียหาย

ผู้ใช้งานจึงได้มายื่นหนังสือเพื่อให้ทาง Mazda มีการแก้ไข และมีการยื่นข้อเสนอต่างๆ ภายในวันที่กำหนดแต่ก็พบว่าทาง Mazda มีการจัดการช้า แก้ไขช้า

จนกระทั่งพบว่า “ประชุม เหรียญดียิ่ง” แกนนำในการไปประท้วงครั้งนั้นได้รับหมายศาลจากทาง Mazda เป็นการฟ้องผู้ใช้งานรวม 3 คน พร้อมเรียกค่าเสียหาย 95 ล้านบาท

เกิดกระแสตีกลับ

ในส่วนของรายละเอียดการฟ้องร้องนั้น อาจจะต้องดูให้ละเอียดอีกทีว่าทาง Mazda มีแรงจูงใจอะไรในฟ้องกลับ ในเรื่องกฎหมายคงไม่ขอลงไปในจุดนั้น เพราะอาจจะมีการผิดข้อตกลงอะไรกันซึ่งคนนอกอาจจะไม่รู้

แต่เรื่องสำคัญที่กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากย์วิจารย์อย่างหนักก็คือตอนนี้กลายเป็นกระแสตีกลับไปหาแบรนด์ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ การฟ้องกลับลูกค้าของตนเองที่ใช้งานสินค้าของตนเองแล้วมีปัญหา เมื่อออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหากลับเป็นฝ่ายถูกฟ้องกลับ

โดยผู้บริโภคหลายคนต่างกันคอมเมนต์ว่าลาขาดกับค่ายนี้ หรือคนที่กำลังตัดสินใจซื้อค่ายนี้ก็มีการคิดใหม่ เพราะกลัวเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน

สุดท้ายก็สะท้อนกลับมาที่ “แบรนด์” ในระยะยาว เรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ความล้มเหลวในแก้ไข Crisis ของแบรนด์ จากวิกฤตที่ผู้ใช้มาประท้วงเรื่องการใช้งาน ยิ่งสร้างวิกฤติเพิ่มในการฟ้องกลับหาผู้บริโภค ซึ่งภายในเฟซบุ๊กเพจ Mazda Official Thailand ก็โดนกระหน่ำคอมเมนต์ถึงประเด็นนี้มากมาย

สรุป

– ยังไม่ขอฟันธงว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการฆ่าตัวตายของ Mazda หรือไม่ เพราะมีความเชื่อระดับหนึ่งว่าแบรนด์ระดับโลกต้องผ่านกระบวนการคิดมาพอสมควร แต่มองว่าเป็นการตัดสินใจที่พลาด เพราะน่าจะมีวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้ การฟ้องร้องกลับผู้บริโภคไม่น่าจะสร้างผลดีต่อฝ่ายใดทั้งนั้น

– โลกโซเชียลมีเดียมีการแชร์ต่อกันอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีปัญหา หรือดราม่าเกิดขึ้น ยิ่งมีการแชร์ต่อกันอย่างรวดเร็ว และสะท้อนกลับมาหาแบรนด์รวดเร็วเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา