CRG สร้างอาณาจักรร้านอาหารในเครือของตัวเองด้วยโมเดลใหม่ Food Heaven นำร้านอาหารมารวมกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน ประเดิมสาขาแรกที่เทสโก้ โลตัส บางใหญ่ พร้อม 3 แบรนด์ Yoshinoya, Pepper Lunch และคัตสึยะ
ร้านเดียวไม่สะใจ รวมหลายร้านให้ลูกค้าเลือกตามใจชอบ
CRG หรือ Central Restaurant Group ธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ที่ถือแฟรนไชส์เชนร้านอาหารจากต่างประเทศมาเปิดมากมาย ปัจจุบันได้ทำตลาดในประเทศไทยเป็นเวลา 40 ปีแล้ว แบรนด์เก่าแก่ที่สุดก็คือมิสเตอร์ โดนัทที่เริ่มเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2521
ยุทธศาสตร์ของ CRG มีการนำแบรนด์ร้านอาหารจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มพอร์ตให้หลากหลายขึ้น ทำให้ในตอนนี้มีหลายกลุ่มทั้งโดนัท อาหารญี่ปุ่น ราเม็ง อาหารไทย ไอศกรีม รวมทั้งหมด 12 แบรนด์ มีสาขาทั้งในศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล และนอกเซ็นทรัล
แต่จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้พบว่าส่วนใหญ่จะมารับประทานอาหารกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ทำให้เวลาเข้าไปร้านใดร้านนึงแล้วทางเลือกน้อย ในกลุ่มไม่ได้มีความชอบเหมือนกันหมด
จึงเป็นที่มาของฟอร์แมต Food Heaven เป็นการสร้างอาณาจักรร้านอาหารในเครือ CRG รวมร้านอาหารอย่างน้อย 3-5 แบรนด์ในพื้นที่เดียว ประเดิมสาขาแรกที่เทสโก้ โลตัส บางใหญ่ด้วยพื้นที่ 380 ตารางเมตร มีที่นั่ง 170 ที่ ที่นี่จะมี 3 แบรนด์ ได้แก่ Yoshinoya, Pepper Lunch และคัตสึยะ
ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า
“คอนเซ็ปต์ของ Food Heaven คือตั้งใจเอาแบรนด์ในเครือมาเปิดรวมกันเพื่อประโยชน์ของลูกค้า เห็นพฤติกรรมลูกค้ามาเป็นกลุ่มมีความชอบไม่เหมือนกัน ลูกค้าก็สามารถเลือกได้เลยว่าอยากทานอะไร จากเดิมที่ลูกค้าเข้าร้าน Yoshinoya เมนูส่วนใหญ่เป็นข้าวหน้าเนื้อ แต่บางคนไม่ทานเนื้อก็ลำบาก พอตอนนี้เข้า Food Heaven ก็ทานร้านอื่นได้”
รูปแบบการบริการใน Food Heaven จะเป็นแบบ Self Service เอาโมเดลของ Food Loft ในเครือเซ็นทรัลมา โดยมีการรับการ์ดจากด้านหน้า แล้วสั่งอาหารตามร้านจากนั้นก็สแกนบัตร พอทานอาหารเสร็จก็ชำระเงินที่แคชเชียร์
ณัฐเสริมว่าจริงๆ โมเดลรูปแบบนี้มีในต่างประเทศอย่างฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นโมเดลเอ็กซ์เพรส ที่รวมร้านการหารหลายๆ ร้านไว้ในที่เดียว เพื่อความสะดวกสบายของลูกค้า
ต้อง 3 แบรนด์นี้เพราะราคาเข้าถึงง่าย
Food Heaven สาขาแรกที่เทสโก้ โลตัส บางใหญ่ได้มี 3 แบรนด์ ได้แก่ Yoshinoya, Pepper Lunch และคัตสึยะ โดยให้เหตุผลว่าเป็นร้านอาหารที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มครอบครัว อีกทั้งสาขาแรกที่เปิดที่เทสโก้ โลตัสจึงจำเป็นต้องเลือกแบรนด์ที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่สูงมาก
“ที่เลือกทำเลนี้เพราะที่นี่ใกล้เซ็นทรัล เวสเกตท์ มีลูกค้ากลุ่มลูกค้าครอบครัวเยอะ และที่เลือก 3 แบรนด์นี้เพราะนำเสนอราคาเข้าถึงง่าย ต้องการทดลองตลาดก่อนด้วยว่ากลุ่มลูกค้าที่นี่จะตอบรับอย่างไรบ้าง อย่างร้านเปปเปอร์ลันซ์ก็มีการปรับราคาถูกลงมา 20% เพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น”
ทั้ง 3 แบรนด์นี้สร้างรายได้ให้ CRG รวม 15-20% โดยที่ Pepper Lunch มี 35 สาขา Yoshinoya 18 สาขา และคัตสึยะ 23 สาขา ยังเป็นแบรนด์ที่มีโอกาสการเติบโตได้อีก
CRG มีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 12 แบรนด์ 5 แบรนด์ที่สร้างรายได้ 5 อันดับแรก ได้แก่ KFC, Mister Donut, Auntie Anne, OOTOYA และ Pepper Lunch สร้างรายได้รวมสัดส่วน 75-80%
เตรียมขยายอีก 2 สาขาในปีนี้
ในปีนี้ CRG มีแผนขยายโมเดล Food Heaven อีก 2-3 สาขา โดยที่เล็งพื้นที่ซีคอนสเควร์ และเมกา บางนา อาจจะใช้พื้นที่เฉลี่ย 250-300 ตารางเมตร
สาขาอื่นๆ อาจจะมีแบรนด์อื่นๆ เข้ามารวม ไม่จำเป็นต้อง 3 แบรนด์นี้ แบรนด์ที่มีโอกาสมาร่วมได้ก็คือ ชาบูตง เทนยะ และเดอะ เทอร์เรส
แต่เบื้องต้นยังขยายแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ยังไม่ไปต่างจังหวัดเพราะต้องการรักษามาตรฐานควบคุมคุณภาพการโลจิสติกส์ก่อน
แต่มีการมองพื้นที่ขยายสาขาร้านอาหารนอกเครือเซ็นทรัลมากขึ้น ไม่ว่าจะไฮเปอร์มาร์เก็ต มหาวิทยาลัย อาคารสำนักงานก็มีความสนใจ เป็นการมองหาฟอร์มแมตใหม่ๆ จากเดิมที่เปิดแค่ในศูนย์การค้าเท่านั้น
ปัจจุบัน CRG มีสาขารวม 914 สาขา ครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 20 สาขา ครึ่งปีหลังจะเปิดอีก 60-70 สาขา คาดว่าสิ้นปีจะไปถึง 1,000 สาขาให้ได้ จะมีซื้อแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทั้งในและต่างประเทศ
ในปี 2560 CRG มีรายได้ 11,000 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 12,000 ล้านบาท
ทำไม CRG ต้องทำ Food Heaven
1.ขยายฟอร์แมตใหม่ๆ ที่อยู่ใหม่ๆ ต้องการขยายไปยังพื้นที่นอกเครือเซ็นทรัลมากขึ้นด้วย
2.ประหยัดต้นทุนมากขึ้น ค่าก่อสร้างลดลง 30-40% ใช้หลายๆ อย่างรวมกัน เช่น บาร์เครื่องดื่ม
3.เป็นการผนึกกำลังในการทำการตลาด ได้อิมแพ็คมากกว่า
4.สร้างแบรนด์ให้กับแบรนด์ใหม่ๆ ให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดยเป็นแบรนด์ที่ยังมีสาขาไม่มากนัก
5.ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค สร้างความหลากหลาย และพฤติกรรมการมาทานอาหารเป็นกลุ่ม
สรุป
เป็นทิศทางของทั้งรีเทล และร้านอาหารที่ต้องรวมเป็น Multi Brand เข้าด้วยกัน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคหลากหลายมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ต้องสร้างทางเลือกให้มากขึ้นเช่นกัน การรวมหลายแบรนด์เข้าด้วยกันทำให้ลูกค้าตัดสินใจเข้าร้านได้ง่ายขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา