เปิดรายงาน Credit Suisse: โควิดส่งเสริมคนรวยให้รวยขึ้น ทอดทิ้งคนจนให้ยากจนสุดขั้ว

โควิด-19 ระบาด สร้างผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างทั่วโลกแทบทุกสาขาอาชีพ คนจนยิ่งยากจนมากขึ้น หลายคนถูกลดรายได้ หลายคนถูกลอยแพปลดจากตำแหน่งกลางอากาศ หลายคนถูกตัดลดช่องทางและโอกาสทำมาหากินมากขึ้นจากการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ผู้คนฆ่าตัวตายมากที่สุดช่วงหนึ่งของภาวะวิกฤตนี้ ในทางกลับกัน แม้มีคนจนยิ่งยากจนมากขึ้น คนรวยก็รวยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน งานวิจัยจาก Credit Suisse (เครดิตสวิส) ระบุว่า มีคนจนจำนวนมากที่ยากจนข้นแค้นมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีคนรวยเพิ่มขึ้นราว 5.2 ล้านคนรวมเป็น 56.1 ล้านคนทั่วโลก 

ปี 2020 คนรวยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ทั่วโลก

ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีคนรวยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% เป็น 56.1 ล้านคนทั่วโลก นอกจากโควิดจะทำให้มีคนยากจนและร่ำรวยเพิ่มขึ้น มันยังทำให้คนกลายเป็นคนรวยครั้งแรกในชีวิตด้วย เนื่องจากตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวและราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นช่วยทำให้ความร่ำรวยของผู้คนรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นตามกัน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและโครงการสนับสนุนของรัฐบาลได้นำไปสู่การถ่ายโอนเงินจำนวนมหาศาลจากภาคเอกชนไปยังภาคครัวเรือน มีทั้งกระตุ้นให้เกิดการประหยัดในครัวเรือน ส่งผลให้มีทรัพย์สินในครัวเรือนเพิ่มขึ้นและทำให้หนี้สินในครัวเรือนลดต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น

จำนวนผู้คนที่ร่ำรวยมากถูกนิยามความร่ำรวยจากทรัพย์สินที่พวกเขาลงทุนได้มากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น 24% ทั่วโลก เป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา Credit Suisse ระบุว่า จำนวนคนรวยที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะมากกว่าที่องค์กรอื่นๆ ประเมินไว้เพราะประเมินทั้งจากสินทรัพย์ที่ลงทุนได้และสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีไว้ลงทุน เช่น การมีสินทรัพย์ที่ครอบครองเป็นบ้านหรือการเป็นเจ้าของบ้านด้วย

ด้าน Anthony Shorrock ผู้เขียน Global Wealth Report กล่าวว่า โรคระบาดส่งผลกระทบต่อตลาดโลกในระยะสั้นแต่ส่งผลตรงกันข้ามอย่างมากในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา มีการประเมินว่าครัวเรือนทั่วโลกจะสูญเสียความมั่งคั่งไปราว 4.4% ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ปี 2020 และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนจะลดลงทั่วโลกราว 4.7% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 ราคาหุ้นพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2020

ขณะเดียวกัน ราคาบ้านก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่ได้เห็นกันมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ส่งผลให้ความมั่งคั่งของครัวเรือนเพิ่มขึ้นทั่วโลกราว 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงช่วงสิ้นปี 2020 ความมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวม 418.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นราว 7.4% ความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่ 1 คนเพิ่มขึ้น 6.0% ทำสถิติสูงสุดได้ใหม่อยู่ที่ 79,952 เหรียญสหรัฐ

คนรวยก็รวยต่อไป กินรวบ ถือครองทรัพย์สินมหาศาล คนจนก็กัดฟันสู้ต่อ

ภาพด้านบนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของโลกในปี 2020 โดยกลุ่มคนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือคนรวยมากที่สุดอันดับ 1 มีสัดส่วน 1.1% หรือประมาณ 56 ล้านคน ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 32 ล้านบาทขึ้นไป ถัดมาคือคนรวยอันดับ 2 มีสัดส่วน 11.1% หรือประมาณ 583 ล้านคนถือครองทรัพย์สินตั้งแต่ 3.2 ล้านบาทถึง 32 ล้านบาท

คนรวยอันดับ 3 มีสัดส่วน 32.8% หรือประมาณ 1,715 ล้านคนคือคนที่ถือครองทรัพย์สิน 300,000 บาทถึง 3.2 ล้านบาท คนทั่วไป-คนจนมีสัดส่วนอยู่ที่ 55.0% หรือประมาณ 2,879 ล้านคนทั่วโลกถือครองทรัพย์สินน้อยกว่า 300,000 บาท

กราฟด้านบนขยายความจากกราฟภาพแรก เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าคนรวยมากที่สุดถือครองทรัพย์สินแตกต่างจากคนรวยแต่ละกลุ่มและคนทั่วไป-คนจนอย่างไร

คนรวยอันดับที่ 1 คือผู้มั่งคั่งที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมีเงินตั้งแต่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปหรือประมาณ 32 ล้านบาทขึ้นไป มีอยู่ราว 56 ล้านคน อัตรา 1.1% ครอบครองสินทรัพย์รวม 45.8% ของทั้งโลกหรือประมาณ 191.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6.16 พันล้านล้านบาท

ขณะที่คนรวยอันดับ 2 มีปริมาณทรัพย์สินในครอบครอง 100,000 เหรียญสหรัฐถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.2 ล้านบาทถึง 32 ล้านบาท คนร่ำรวยในสัดส่วนนี้มีราว 583 ล้านคน มีอยู่ราว 11.1% ครอบครองสินทรัพย์รวม 163.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5.27 พันล้านล้านบาท คิดเป็น 39.1% ของทั้งโลก

คนรวยอันดับ 3 คือคนที่มีปริมาณทรัพย์สิน 10,000 เหรียญสหรัฐถึง 100,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 แสนบาทถึง 3.2 ล้านบาท คนมั่งคั่งระดับนี้มีจำนวน 1,715 ล้านคนทั่วโลกหรือประมาณ 32.8% ของทั้งโลก ครอบครองทรัพย์สินราว 57.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.84 พันล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.7% ของทั้งโลก

คนทั่วไป-คนจน คือฐานรากของสังคม ถือครองทรัพย์สินน้อยกว่า 1 หมื่นเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.2 แสนบาท ถือเป็นฐานล่างที่มีผู้คนจำนวนมากที่สุดราว 55.0% หรือประมาณ 2,879 ล้านคนทั่วโลกครอบครองสินทรัพย์ 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 177 ล้านล้านบาทราว 1.3% ของโลก ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนคนจนทั้งโลกมีอยู่ราว 55.0% หรือ 2,879 ล้านคนถือครองทรัพย์สินเพียง 177 ล้านล้านบาท ถ้าคำนวณจำนวนสินทรัพย์ที่ถือครองต่อหัวคร่าวๆ จะตกคนละ 61,479 บาทเท่านั้น

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ความมั่งคั่งระหว่าง 10,000 เหรียญสหรัฐถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ ขยายกว้างมากขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 507 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2000 เป็น 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงกลางปี 2020 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความมั่งคั่งเพิ่มพูนมากขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะในจีนและยังขยายอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

ข้อมูลจาก Global Wealth Report ระบุว่า คนที่รวยเหนือระดับกลางขึ้นไปคือคนที่ถือครองทรัพย์สินระดับ 100,000 เหรียญสหรัฐถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคนที่ถือครองทรัพย์สิน 3.2 ล้านบาทถึง 32 ล้านบาทมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในศตวรรษนี้ จากเดิมมีจำนวนอยู่ที่ 208 ล้านคนเพิ่มเป็น 583 ล้านคนถือครองทรัพย์สินมากถึง 163.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 39.1% ของความมั่งคั่งโลกหรือเกือบ 4 เท่าของจำนวนประชากรผู้ใหญ่

ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่รวยที่สุดที่มีเพียง 1% ของโลกก็รวยเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากเดิมมีทรัพย์สินในครอบครอง 41.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2000 เพิ่มเป็น 191.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 สัดส่วนการถือครองทรัพย์สินก็เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 35% เป็น 46%

กราฟด้านบนสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่งคั่ง มี 10 ประเทศที่ร่ำรวยมั่งคั่งมากขึ้น ดังนี้ สวิตเซอร์แลนด์ รวยเพิ่มขึ้น 70,729 เหรียญสหรัฐต่อหัว ออสเตรเลีย รวยเพิ่มขึ้น 65,695 เหรียญสหรัฐ เบลเยียมและสวีเดนรวยเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์รวยเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐ ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสหรัฐอเมริการ่ำรวยมากขึ้น

ส่วนประเทศที่ต้องประสบปัญหายากจนต่อหัวมากขึ้น ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างหนักหน่วงคือบราซิล ชิลี รัสเซียลดลงต่ำกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คาดว่าน่าจะต่ำกว่า 18,540 เหรียญสหรัฐและฮ่องกงต่ำกว่า 26,419 เหรียญสหรัฐ

Credit Suisse วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้มีคนรวยเพิ่มขึ้นในประเทศเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ขนาดของจำนวนประชากรผู้ใหญ่ ความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยและความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง จากข้อมูลพบว่า สหรัฐอเมริกามีคะแนนเฉลี่ยตามเกณฑ์สูงสุด มีคนรวยจำนวนมากที่สุดราว 22 ล้านคนหรือประมาณ 39.1% ของโลก ตามด้วยจีนมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่อัตรา 9.4% ของเศรษฐีโลก

อันดับสามคือญี่ปุ่นอยู่ที่ 6.6% ตามด้วยเยอรมนี 5.3% อังกฤษ 4.4% ฝรั่งเศส 4.4% ออสเตรเลีย 3.2% แคนาดา 3.0% อิตาลี 2.6% สเปน เกาหลี เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์อยู่ที่ราว 2% ขณะที่อินเดีย ไต้หวัน สวีเดนอยู่ที่ 1% แทนที่ฮ่องกงครั้งแรก

ตารางด้านบนสะท้อนให้เห็นว่า สัดส่วนคนรวยมีความเปลี่ยนแปลงจากปี 2019 ถึงปี 2020 โดยแบ่งเป็นฝั่งซ้ายคือประเทศที่รวยเพิ่มขึ้นหรือได้ประโยชน์จากโควิดระบาดขณะที่ฝั่งขวาคือประเทศที่เสียประโยชน์และมีจำนวนคนรวยน้อยลงหรือคนจนมากขึ้นจากโควิดระบาด ดูรายชื่อประเทศก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดอย่างหนักหน่วง

ฝั่งซ้ายคือสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน แคนาดา เนเธอร์แลนด์และอิตาลี ขณะที่ฝั่งซ้ายคือบราซิล อินเดีย รัสเซีย ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย ไทย คูเวต ชิลีและเม็กซิโก

ภาพด้านบนนี้สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อนำข้อมูลจากตารางมาทำเป็นกราฟจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแต่ละประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้นและยากจนมากขึ้นแตกต่างมากเพียงใดจากปี 2019 ถึงปี 2020

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราได้เห็นภาพสัดส่วนคนรวย คนจนและการถือครองทรัพย์สินทั้งโลกแล้ว แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มจากคนรวยที่สุดถึงคนทั่วไปและคนยากจน ภาพด้านบนนี้คือการแบ่งสัดส่วนให้เห็นว่าคนที่รวยที่สุดที่อยู่บนยอด 1.1% หรือประมาณ 56 ล้านคนในโลกนั้น เมื่อแยกย่อยออกมาอีก พบว่า สามารถแบ่งออกมาเป็นคนรวย 4 กลุ่มด้วยกัน

คนที่รวยอันดับ 4 คือคนที่มีจำนวนเยอะที่สุดในกลุ่มเป็นฐานรากของคนที่รวยที่สุด คนกลุ่มนี้มีจำนวนราว 49.1 ล้านคน ครอบครองทรัพย์สินราว 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 32 ล้านบาทถึง 160 ล้านบาท ถัดมาคือคนที่รวยอันดับ 3 ของกลุ่ม มีจำนวน 4.5 ล้านคน ถือครองทรัพย์สิน 5-10 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 160 ล้านบาทถึง 321 ล้านบาท คนรวยอันดับ 2 คือกลุ่มคน 2.2 ล้านคน ถือครองทรัพย์สิน 10-50 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 321 ล้านบาทถึง 1.6 พันล้านบาท

คนที่อยู่ยอดบนสุดของโลก รวยที่สุดในโลกหรือผู้ที่รวยมากเป็นพิเศษ (ultra high net worth) มีราว 2.1 แสนคน ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,600 ล้านบาทขึ้นไป คนกลุ่มนี้รวยเพิ่มขึ้น 23.9% เรียกได้ว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่รวยเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้คนกลุ่มนี้มีราว 173,620 คน ปีนี้เพิ่มมาอีก 41,410 คน รวมเป็น 215,030 คน นโยบายรับมือโควิดระบาดมีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้พวกเขายิ่งรวยมากขึ้นไปอีก

shutterstock

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า โควิด-19 ระบาดกระจายความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในปี 2020 โดยก่อนหน้านี้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นกระจายตัวรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงปี 2008 ถึงปี 2009 จากนั้นเมื่อเกิดโควิดระบาดอย่างหนักหน่วงและรัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนไม่ให้เกิดการพักงานหรือเลิกจ้างย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อรายได้และการจ้างงานในปี 2020 อย่างหนัก

การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในสังคม รวมถึงคนที่ทำงานอิสระและถูกเลิกจ้างและพักงานเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อไม่ได้รับการเยียวยาให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้คนเหล่านี้ต้องนำเงินเก็บเงินออมออกมาใช้ทดแทนรายได้ประจำที่ขาดแคลน ส่งผลให้หนี้มีจำนวนมากขึ้น ในทางกลับกัน คนที่ร่ำรวยที่สุดไม่ได้รับผลโดยตรงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะงักตัว ยิ่งไปกว่านั้นยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มหาศาลจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงกอปรกับราคาบ้านและหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นจึงส่งผลให้ คนร่ำรวยที่อยู่ยอดบนสุดของสังคมยิ่งรวยเพิ่มขึ้นเอนกอนันต์ คนยากจนยิ่งจนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จึงขยายกว้างมากขึ้นอย่างรุนแรงหลังโควิดระบาด

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับโควิดระบาดอย่างหนักหน่วง แต่โลกก็จะมี GDP ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นเช่นกันในปีถัดไป โดยเฉพาะในปี 2021 ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินไว้ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ปี 2021 ว่า GDP โลกในปี 2021 นี้จะมีมูลค่ารวม 93.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 11% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ก่อนโควิดระบาดราว 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ประเทศไทย ภาพจาก Wikimedia โดย Dickelbers

สรุป

ข้อมูลจากเครดิตสวิสสะท้อนภาพให้เราได้เห็นว่าคนรวยยิ่งรวยเพิ่มมากขึ้นมหาศาล คนจนยิ่งจน ยากจนลงมากขึ้นในช่วงโควิดระบาดมากเท่าไร ก็ยิ่งฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่า มีคนได้และเสียผลประโยชน์จากโควิดมากเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า ประเทศใดที่มีศักยภาพมากพอจะช่วยเหลือหรือจัดการให้ประเทศและประชาชนรอดพ้นจากโควิดได้เร็วยิ่งขึ้นเท่าใดไม่เพียงสะท้อนศักยภาพของผู้นำประเทศทั้งคณะในความจริงใจ ตั้งใจเข้ามาบริหารประเทศและมุ่งขจัดปัญหาที่ทำให้ประเทศและประชาชนรอดชีวิตไปด้วยกันได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่าประเทศใดก็ตามที่มีศักยภาพนำพาประเทศรอดพ้นจากวิกฤตได้แต่เพิกเฉยหรือเตะถ่วงมาตรการใดๆ ที่ทำให้โควิดระบาด ระบาดทั่วประเทศเนิ่นนาน และดำเนินมาตรการที่ทำให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตได้อย่างเนิบช้า

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ อาจไม่ใช่คณะผู้บริหารประเทศไร้ศักยภาพทั้งคณะแต่เป็นเพราะความอำมหิตที่เกิดจากความอิ่มเอมจากห้วงขณะที่กำลังดื่มด่ำผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากวิกฤตนั้น เราจึงได้เห็นโศกนาฏกรรมจากจำนวนคนตายที่เพิ่มขึ้นทุกวันทั้งจากการฆ่าตัวตาย ปลิดชีวิตตัวเองเพราะหมดหนทางทำมาหากินและความตายที่เกิดจากโรคระบาด ทั้งหมดนี้คือความตายจากความไม่พยายามที่จะหยุดโรคระบาดอย่างจริงจังของรัฐบาลที่สามารถทำได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป เราจะเห็นจำนวนคนรวยที่รวยเพิ่มขึ้น โรคระบาดที่ระบาดอย่างไม่สิ้นสุด ไม่มีการผลักดันมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้ คนจะตายเพิ่มขึ้นต่อไปด้วยโรคและฆ่าตัวตายเองเพราะไม่มีจะกินต่อไป

ที่มา – BBC, Credit Suisse

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา