รูดบัตรฟรี! รัฐบาลอังกฤษเตรียมยกเลิกค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต-เดบิต มีผลบังคับใช้ปีหน้า

เรียกได้ว่าปฏิบัติกันมานานจนเคยชินแล้ว ถ้าจ่ายเงินผ่านบัตรจะต้องมีค่าธรรมเนียม หลายครั้งทำให้ผู้บริโภคกังวลใจ แต่ก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไข ล่าสุด ในสหราชอาณาจักรจะยกเลิกค่าธรรมเนียมนี้แล้ว มีผลบังคับใช้ปี 2018

Photo: Pixabay

ชำระเงินผ่านบัตร ไร้ค่าธรรมเนียม เริ่มปีหน้า

รัฐบาลอังกฤษประกาศยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมในการชำระเงินบัตรเครดิต-เดบิต มีผลบังคับใช้ปี 2018 หรือปีหน้าทั่วสหราชอาณาจักร (UK) เนื่องจากต้องการลดภาระของผู้บริโภค

ที่จริงแล้ว ตามกฎของสหภาพยุโรปหรือ EU ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2015 เป็นต้นมามีการระบุถึงค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิตไว้ว่า “ผู้ให้บริการชำระเงินต้องคิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 0.2 – 0.3 %” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสหราชอาณาจักรทั้งภาครัฐอย่างกรมสรรพากร หรือบริษัทเอกชนต่างก็ละเมิดข้อตกลงมาโดยตลอด เพราะคิดค่าธรรมเนียมสูงกว่า 2% กันมาตลอด

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทด้านการท่องเที่ยวอย่าง Flybe ที่คิดค่าธรรมเนียมเมื่อจ่ายผ่านบัตรสูงถึง 3% (น่าจะสูงที่สุดในเกาะอังกฤษ) ส่วนบริษัท Swinton Insurance อยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำของทั้ง 2 บริษัทนี้อยู่ที่ 5 ปอนด์ต่อการชำระเงิน 1 ครั้ง

การยกเลิกค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ กระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร ยืนยันแล้วว่า จะครอบคลุมบัตรทั้งหมดดังนี้คือ Visa, Mastercard, Paypal และ American Express

Stephen Barclay เลขานุการจากกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร ระบุว่า “การยกเลิกค่าธรรมเนียมเป็นความต้องการสร้างความเป็นธรรมและความโปร่งใสในเรื่องทางการเงิน ส่วนผลบังคับใช้จะมีขึ้นในปีหน้า”

การยกเลิกค่าธรรมเนียมครั้งนี้น่าจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิตกันได้อย่างไร้กังวลมากขึ้น

ส่วนไทย เดินเครื่อง National e-Payment แต่ค่าธรรมเนียมยังมีอยู่

เมื่อต้นปีกระทรวงการคลังของไทยได้จับมือธนาคารทั่วประเทศต้องการสร้างสังคมไร้เงินสด เริ่มด้วยการส่งเครื่อง EDC เพื่อทำให้ประชาชนใช้จ่ายและชำระเงินผ่านบัตรกันสะดวกมากขึ้น แต่ทั้งนี้เมื่อดูค่าธรรมเนียมของบัตรเดบิตที่ภาครัฐและเอกชนต้องการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ ยังคงคิดค่าธรรมเนียมจากเดิมที่ 1.5% – 2% มาอยู่ที่ 0.55% ส่วนรายละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่มา – Telegraph

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา