ปี 2022 ประเทศเวียดนามมีประชากมากกว่า 97 ล้านคน และคนเหล่านี้จับจ่ายใช้สอยจนตลาดค้าปลีกเวียดนามมีมูลค่ากว่า 49,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.73 ล้านล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor
จุดที่น่าสนใจคือ มูลค่าดังกล่าวมาจากการค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือ Traditional Trade ถึง 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 90% ของมูลค่านี้ และมีสัดส่วนจากค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade เพียง 5,700 ล้านดอลลาร์
ทำให้กลุ่มทุนที่เชี่ยวชาญในค้าปลีกสมัยใหม่ต่างเข้าไปลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่องเพื่อชิงส่วนแบ่งจากค้าปลีกดั้งเดิม หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเซ็นทรัลที่เตรียมลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดนี้
นำความเจริญเข้าช่วงชิงตลาดเวียดนาม
แม้เศรษฐกิจกำลังเติบโต และมีประชากรมากกว่า แต่เวียดนามยังตามหลังในตลาดค้าปลีกอยู่มากเมื่อเทียบกับไทย เพราะไทยที่มีประชากรมากกว่า 70 ล้านคน แต่มูลค่าตลาดค้าปลีกอยู่ที่ 3.45 ล้านล้านบาท และมาจากค้าปลีกสมัยใหม่เกือบ 70% ส่วนที่เหลือมาจากค้าปลีกดั้งเดิม
การเติบโตไปเป็นสัดส่วนเกือบ 70% เมื่อปี 2001 สัดส่วนค้าปลีกสมัยใหม่ของไทยยังอยู่ที่ 25% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า เวลาราว 20 ปี ความสะดวกสบายของโมเดิร์นเทรดเข้ามามีอิทธิพลในการจับจ่ายสินค้าของคนไทย ในทางกลับกันก็ส่งผลให้ค้าปลีกดั้งเดิมต้องดิ้นรนเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด เพราะคนมาจับจ่ายน้อยลง
เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม เพราะเวลานี้ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC รวมถึงกลุ่มทุน Lotte จากเกาหลี และ Aeon จากญี่ปุ่น กำลังนำความเจริญของค้าปลีกสมัยใหม่มาแย่งชิงเค้กค้าปลีกก้อนโตนี้ไปจากค้าปลีกดั้งเดิม
CRC เดินเกมบุกเวียดนามเต็มรูปแบบ
เริ่มต้นที่ CRC กันก่อน ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC เล่าให้ฟังว่า บริษัทเข้าไปในตลาดเวียดนามผ่านการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ในปี 2012 จากนั้นเริ่มเป็นพาร์ตเนอร์กับค้าปลีกท้องถิ่น Nguyen Kim และ Lan Chi ก่อนปี 2016 เข้าซื้อกิจการ Big C เวียดนาม กว่า 36,800 ล้านบาท
หลังจากนั้น CRC เพิ่มความเข้มข้นในตลาดเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับ Big C เป็น GO! วางตำแหน่งเป็น Hypermarket ครบวงจร เสริมด้วย Mini go! ร้าน Supermarket ที่มีสินค้าครบครัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีร้านค้าที่มีสินค้าครบเท่า รวมถึงดึง Tops Market เข้ามาให้บริการที่เวียดนามโดยอาศัยความสำเร็จในไทย
ผ่านมา 10 ปี CRC มีค้าปลีกในเครือข่ายในเวียดนาม 40 จังหวัด ผ่านหน้าร้านต่าง ๆ มากกว่า 300 แห่ง ในปี 2021 กินพื้นที่ขาย 1.2 ล้าน ตร.ม. และเป็นค้าปลีกต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ผ่านการเป็นเบอร์ 1 ในตลาด Hypermarket และเบอร์ 2 ในส่วน Lifestyle Mall
ทุ่ม 50,000 ล้านบาท ดันรายได้ 1.5 แสนล้านบาท
เพื่อต่อยอดการเติบโตดังกล่าว CRC ประกาศลงทุนอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของผู้จำหน่ายอาหารในช่องทางต่าง ๆ (Food Omnichannel) และเป็นเบอร์ 2 ของผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีก (Retial Property) ในประเทศเวียดนาม
พร้อมตั้งเป้าหมายภายในปี 2027 ต้องมีสาขาเพิ่มเป็น 600 แห่งในทุกค้าปลีกที่ถืออยู่ และทำรายได้กว่า 1.5 แสนล้านบาท จากปี 2021 ปิดที่ 38,592 ล้านบาท โดยปัจจุบัน CRC ที่ประเทศเวียดนามมีพนักงานกว่า 15,000 คน และมียอดขายจับจ่าย (Transaction) ถึง 66 ล้านครั้ง
เบื้องต้น CRC จะเปิดสาขาขนาดใหญ่ใหม่ในเวียดนามอีก 5-7 แห่ง และเตรียมหาพื้นที่อีก 5-8 แห่ง และหาโอกาสการลงทุนในอนาคตอีก 20 โครงการเพิ่มเติม โดยในปี 2023 จะมีการลงทุนราว 6,000 ล้านบาทก่อน หนึ่งในนั้นคือการประยุกต์ระบบสมาชิกในประเทศไทยมาปรับใช้กับลูกค้าในประเทศเวียดนาม
ส่งร้านพรีเมียมเข้าจูงใจลูกค้าท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน CRC มีแผนนำร้านค้ากลุ่มพรีเมียมเข้ามาทำตลาดในประเทศเวียดนาม แต่ยังต้องรอความพร้อม เพราะภาพรวมค้าปลีกเวียดนามยังตามหลังไทยอยู่มาก ทำให้การเติบโตที่เวียดนามต้องเน้นที่สินค้าทั่วไป เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารสด ผ่านการวางตัวเป็น Good Brand for Money
รวมถึงช่วงปลายปี 2023 CRC จะมีธุรกิจใหม่ในประเทศเวียดนาม แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ส่วนปัญหาในการทำตลาดที่เวียดนามคือ การก่อสร้างสาขาต่าง ๆ ที่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี นานกว่าประเทศไทยที่ใช้เวลาเพียง 1 ปี และการหาพื้นที่ รวมถึงการเดินหน้าเรื่องกฎหมายยังทำได้ช้ากว่าเช่นกัน
ปัจจุบัน CRC นอกจากแข็งแกร่งในประเทศไทย และเวียดนาม บริษัทยังมีการทำตลาดห้างหรูในกลุ่มประเทศยุโรป เช่น การร่วมมือกับกลุ่ม Signa เพื่อลงเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาทเข้าซื้อกิจการกลุ่ม Selfridges ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ค้าปลีกเวียดนามกับการรุกโดยต่างชาติ
สำหรับภาพรวมค้าปลีกสมัยใหม่ในปัจจุบันของเวียดนาม ปัจจุบันมี Mason Group เป็นผู้นำตลาด มีค้าปลีกในชื่อ Win Commerce ครอบคลุมการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ โดยมีสาขาทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง รวมถึง Vincom ธุรกิจค้าปลีกของ Vin Group กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม
แต่ถึงอย่างไรยังมีทุนจากต่างชาติเข้ามาหาโอกาสทางธุรกิจทั้ง Aeon จากญี่ปุ่น และ Lotte จากเกาหลี ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างนำความเจริญในด้านค้าปลีกเข้ามาให้บริการเพื่อจูงใจ และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในเวียดนามให้เปลี่ยนการซื้อสินค้าจากร้านค้าทั่วไปมาซื้อสินค้าในค้าปลีกสมัยใหม่
ยิ่งเศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคที่นั่นยังเติบโตตามไม่ทัน สังเกตจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ยังไม่เปลี่ยนจากในอดีตมาก ทำให้กลุ่มทุนท้องถิ่น และทุนต่างชาติต่างแข่งขันการด้วยความเจริญเพื่อจูงใจผู้บริโภค และใครประสบความสำเร็จในตลาดนี้ก่อนย่อมมีโอกาสเติบโตในระยะยาวได้สูง
อ้างอิง // Krungsri
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา