เรียกว่าลงรถไฟฟ้าสถานีไหนก็เจอ เพราะ บมจ. เซ็นทรัล พัฒนา หรือ CPN เป็นผู้ได้รับการพิจารณาพัฒนาพื้นที่ โรงภาพยนตร์สกาล่า จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 30 ปี ครองพื้นที่ ชิดลม, ราชประสงค์ และสยาม
CPN กับการบุกสยามสแควร์
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2021 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ประกาศให้ CPN เป็นผู้ได้รับพิจารณาคัดเลือกให้พัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A ของเขตพาณิชย์สยามสแควร์ เป็นเวลา 30 ปี หลังมหาวิทยาลัยประกาศเชิญชวนผู้ลงทุนมาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2020
สำหรับโครงการ Block A มีเนื้อที่ทั้งหมด 7 ไร่ 31 ตารางวา สภาพปัจจุบันประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สกาล่า และอาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น จำนวน 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการคลินิก, ร้านอาหาร, ร้านค้าสินค้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง, ธนาคาร และโรงเรียนกวดวิชา เป็นต้น
อ้างอิงจากร่างเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จะพบว่า ผู้ได้รับพิจารณาต้องชำระเงินค่าตอบแทนการทำสัญญาไม่ต่ำกว่า 742 ล้านบาท แบ่งชำระ 2 งวด งวดแรก 50% ของมูลค่าที่เสนอ และค่าตอบแทนรายปีจะเริ่มต้นที่ 1-3 ปีแรก ต้องไม่ต่ำกว่า 108 ล้านบาท/ปี สูงสุดที่ปี 28-30 ไม่ต่ำกว่า 254 ล้านบาท/ปี
กลยุทธ์ CPN ที่เปิดศูนย์การค้าใหม่ต่อเนื่อง
ปัจจุบัน CPN แบ่งธุรกิจเป็น 4 แกนคือ ธุรกิจศูนย์การค้า และศูนย์อาหาร, ที่พักอาศัย, ตึกสำนักงาน และโรงแรม ซึ่งตั้งแต่โรค COVID-19 ระบาดเมื่อปี 2020 ธุรกิจศูนย์การค้า และศูนย์อาหาร กับโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ธุรกิจตึกสำนักงาน กับที่พักอาศัยยังประคองตัวได้
สิ้นไตรมาส 2 CPN มีการบริหารจัดการศูนย์การค้าทั้งหมด 34 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ค้าปลีกกว่า 1.8 ล้านตารางเมตร และมีพื้นที่เช่าศูนย์การค้าเฉลี่ย 91% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วน 6 เดือนแรกของปี 2021 มีรายได้ 12,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.3% กำไรสุทธิ 1,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9%
ส่วนการเปิดศูนย์การค้าใหม่ CPN จะเปิด เซ็นทรัล พลาซ่า อยุธยา และ เซ็นทรัล พลาซ่า ศรีราชา ภายในปีนี้ เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ CPN ยังเพิ่งเข้าถือหุ้นใหญ่ใน บมจ. สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF ผู้บริหารศูนย์การค้า เมกา บางนา และ เอสพลานาด ต่อยอดกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน
PMCU กับการเป็นเสือนอนกิน
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ทำหน้าที่บริหาร และพัฒนาเขตพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 385 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลักคือ เขตพื้นที่สยามสแควร์ และเขตพื้นที่สยามย่าน ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4 ถนนพระราม 1 ถนนบรรทัดทอง และถนนอังรีดูนังต์
ถ้านับตามชื่อศูนย์การค้าที่ PMCU บริหาร มีทั้ง สยามสแควร์วัน, จัตุรัสจามจุรี และ ตลาดสามย่าน ส่วนการแบ่งพื้นที่ให้ผู้สนใจเช่าพื้นที่ และสร้างรายได้ระยะยาว เช่น สามย่านมิตรทาวน์ มีกลุ่มไทยเบฟเป็นผู้บริหาร, มาบุญครอง มีกลุ่มมาบุญครองเป็นผู้บริหาร และสเตเดียมวัน มี เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ เป็นผู้บริหาร เป็นต้น
PMCU ยังมีพื้นที่ในต่างจังหวัด เช่น ชายฝั่งทะเลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้บริษัทเอกชนพัฒนาเป็น โรงแรมวรบุระ รีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน ล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดรับความเห็นเพื่อใช้ประกอบการเสนอบริษัทเอกชนพัฒนาพื้นที่หมอน 34 (ศาลเจ้าแม่ทับทิมเดิม) เป็นศูนย์การแพทย์ และพื้นที่พาณิชย์ Wellness/Health Complex
สรุป
กลายเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญของ CPN เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สยาม, ราชประสงค์ และชิดลม ต่อยอดรายได้ได้อีกไกล ส่วนฝั่ง PMCU จะได้พาร์ตเนอร์รายใหม่ และน่าจะพัฒนาพื้นที่ได้ดีกว่าที่มีอยู่ ดังนั้นต้องจับตาดูแผนพัฒนาโครงการนี้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร
อ้างอิง // PMCU
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา