วันนี้ โรงหนังสกาล่า Scala ที่อยู่คู่สยามสแควร์มากว่า 50 ปี และมีการเรียกร้องให้อนุรักษ์ตัวอาคารโรงหนังมาตั้งแต่ราวปี 2561 ด้วยคุณค่าไม่ว่าจะในแง่ประวัติศาสตร์, ศิลปะและสถาปัตยกรรม แต่ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาหรือ CPN ที่คว้าสิทธิ์พัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บริเวณหัวมุมแยกปทุมวันตรงโรงหนังสกาล่า ได้เริ่มดำเนินการทุบตัวหนังโรงลงแล้ว
คุณค่าที่จะอนุรักษ์หรือจะสู้ห้างพาณิชย์
โรงหนังสกาล่า Scala เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2512 โดยที่ในช่วงปี 2559 มีข่าวว่าบริษัท สยามมหรสพ หรือโรงหนังเครือ Apex ไม่ต่อสัญญาพื้นที่ทั้งโรงหนังลิโด้และโรงหนังสกาล่ากับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU คาดกันว่าส่วนหนึ่งจากการขึ้นค่าเช่าจาก PMCU ก่อนที่ทาง Apex จะขอขยายสัญญาเฉพาะพื้นที่โรงหนังสกาล่า ซึ่งสิ้นสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ด้วยวิกฤติโควิด ทำให้ต้องยุติการให้บริการไปตั้งแต่ราวเดือนกรกฎาคม 2563
ขณะที่กระแสการเรียกร้องให้อนุรักษ์โครงสร้างและสถาปัตยกรรมเก่าของโรงหนังสกาล่า มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2560-2561 ที่มีข่าวเรื่องการไม่ต่อสัญญา ซึ่งในช่วงแรกทาง PMCU ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการทุบโรงหนังสกาล่า จนกระทั่งการปิดตัวของโรงหนังสกาล่าเมื่อปีที่แล้ว ก็ทำให้อนาคตของโรงหนังอายุ 51 ปีแห่งนี้เริ่มไม่แน่นอน และเกิดการเรียกร้องจากภาควิชาการและประชาชน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะภาครัฐหรือจุฬาฯ ให้อนุรักษ์โรงหนังสกาล่าแห่งนี้ไว้
ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ ศาสตราจารย์ด้าน ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเคยเสนอเอาไว้ในมติชนสุดสัปดาห์เรื่องการอนุรักษ์โรงหนังแห่งนี้ว่าควรอยู่ในรูปแบบการ Adaptive Reuse คือรักษาอาคารและพื้นที่ชมภาพยนตร์ที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ และ ปรับปรุงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือสำหรับการหารายได้
ซึ่งกลุ่ม CPN เปิดเผยในช่วงที่มีข่าวการคว้าสิทธิ์พื้นที่สยามสแควร์เมื่อเดือนที่แล้วว่า จะปรับปรุงและรีโนเวตโครงสร้างเก่าให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กคล้ายคอมมูนิตี้มอลล์ โดยจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าให้ได้มากที่สุด (อ้างอิงสำนักข่าวมติชน) แต่จากภาพที่ปรากฎออกมาเหมือนว่าทาง CPN จะไม่ได้ทำตามที่ให้ข้อมูลเอาไว้เสียแล้ว
ปิดฉากโรงหนังสามทหารเสือในตำนานย่านสยามสแควร์ตามรอย โรงหนังสยามและโรงหนังลิโด้
ถ้ามองในมุมนายทุนใหญ่อย่าง CPN ที่ได้พื้นที่ขุมทองอย่างย่านสยามสแควร์ และเป็นพื้นที่ที่ตัวเองยังไม่ได้ครอบครองและหากอ้างอิงจากร่างโครงการพัฒนาพื้นที่ Block A สยามสแควร์ที่ระบุว่า ผู้ที่ได้สิทธิ จะต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำสัญญาไม่ต่ำกว่า 742 ล้านบาท และค่าตอบแทนรายปีจะเริ่มต้นที่ 1-3 ปีแรก ต้องไม่ต่ำกว่า 108 ล้านบาท/ปี สูงสุดที่ปี 28-30 ไม่ต่ำกว่า 254 ล้านบาท/ปี ก็ไม่น่าแปลกใจว่าการเลือกทุบโรงหนังสกาล่าและสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ที่สามารถจัดสรรพื้นที่ใช้สอยและสร้างเม็ดเงินได้มากกว่า น่าจะตอบโจทย์มากกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา