เซ็นทรัลพัฒนา ลงทุน 10,000 ลบ. เปิด 37 โรงแรมใหม่ ใช้ชื่อ Centara, Centara One และ Go! Hotel

บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เดินหน้ากลยุทธ์ Retail-Led Mixed-Use Development ประกาศแผน 5 ปีลงทุน 10,000 ล้านบาท พัฒนาโรงแรม 37 แห่ง มีแบรนด์เดิม และแบรนด์ใหม่ ดันรายได้ธุรกิจโรงแรมเป็น 10%

cpn

เซ็นทรัลพัฒนา ดันธุรกิจโรงแรมเพิ่มรายได้

ช่วงต้นปี 2022 CPN มีการประกาศแผนลงทุนในระยะเวลา 5 ปี รวมมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้ากลยุทธ์ Retail-Led Mixed-Use Development ที่เปลี่ยนจากองค์กรพัฒนาศูนย์การค้ามาเป็นพัฒนาโครงการ Mixed-Use ที่ประกอบด้วย ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน, โรงแรม และที่พักอาศัย

หากเจาะไปที่โรงแรม CPN เตรียมเดินหน้าแผนลงทุน 5 ปี รวมมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงแรม 37 แห่ง รวม 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัดของประเทศไทย โดยโรงแรมเหล่านี้จะอยู่ติดกับศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการพักอาศัย และอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

ที่สำคัญโรงแรมเหล่านี้จะไม่ได้อยู่แค่เมืองท่องเที่ยว แต่ยังขยายไปยังหัวเมืองรอง และหัวเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพักอาศัยในโรงแรมที่เปลี่ยนจากการมาพักผ่อนจากการท่องเที่ยว เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว และกลายเป็นที่ทำงานตามกระแส Work from Anywhere

cpn

แบ่งเป็น 3 แบรนด์ เริ่มต้นที่โคราชก่อน

สำหรับ 37 โรงแรมที่ CPN จะทำตลาดภายใต้แผนดังกล่าวประกอบด้วย 3 แบรนด์โรงแรมคือ

  • Centara แบรนด์ระดับ Upscale ราคาเฉลี่ย 2,000 บาท/คืน
  • Centara One แบรนด์ระดับ Lifestyle Midscale ราคาเฉลี่ย 1,700 บาท/คืน
  • Go! Hotel แบรนด์ระดับ Premium Budget ราคาเฉลี่ย 1,000 บาท/คืน

ส่วนโรงแรมแห่งแรกที่ CPN จะเปิดตัวภายใต้แผนดังกล่าวคือ Centara Korat ส่วนหนึ่งของโครงการ Mix-use เซ็นทรัล โคราช โดยตัวโรงแรมจะมาพร้อมกับร้านอาหาร และห้องจัดเลี้ยง ที่ออกแบบมาให้คนในจังหวัดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากินข้าว และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงแรม

“ผมอยากให้ Centara Korat มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่คนกรุงเทพทำในโรงแรม เช่น กินข้าวกับครอบครัวในมื้อพิเศษ และจัดงานประชุมต่าง ๆ เช่นเดียวกับการกินบรรยากาศบนร้านอาหาร Rooftop และไม่ต้องห่วงเรื่องงานบริการ เพราะทางเซ็นทาราเป็นผู้รับผิดชอบ” ภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าว

โรงแรมทั้ง 3 แบรนด์จะแบ่งงบการลงทุนเท่า ๆ กันจากทั้งหมด 10,000 ล้านบาท และที่มาของแบรนด์ใหม่มาจาก CPN ต้องการให้เซ็นทาราแตกแบรนด์ที่เหมาะสมในการขยายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น จึงเป็นที่มาของ Centara One ส่วน Go! Hotel มาจากการต่อยอดแบรนด์ Go! ค้าปลีกราคาประหยัดจากเวียดนาม

cpn

ดันรายได้ฝั่งโรงแรมขึ้นเป็นสัดส่วน 10%

วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา เสริมว่า การเพิ่มความสำคัญในธุรกิจโรงแรม ทำให้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มเป็น 10% จากเดิมที่มีอยู่ค่อนข้างน้อย และ 80% ของรายได้มาจากธุรกิจศูนย์การค้า

“การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนนี้ไม่ใช่ว่ารายได้จากศูนย์การค้าลดลง แต่เป็นการเติบโตไปด้วยกัน เพียงแค่โรงแรม และสำนักงาน กับที่พักอาศัย ขึ้นมากินสัดส่วนมากขึ้น และเรามีความั่นใจว่าโรงแรมไม่ได้อยู่แค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว ต้องไปแล้วครบวงจร ทลายความคิดของการพักโรงแรมที่ต้องเน้นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเท่านั้น”

ทั้งนี้จากข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดมีถึง 40 ล้านคน แต่ปี 2022 มีการประเมินที่ 10-15 ล้านคน ทำให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบ และจุดขายของโรงแรมจึงจำเป็น และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ CPN เดินหน้าทำโรงแรมรูปแบบใหม่

cpn

สรุป

ถือเป็นการต่อยอดการทำตลาด CPN ที่น่าสนใจ เพราะค่อย ๆ ขยับจากการผูกอยู่กับศูนย์การค้า เป็นการเดินหน้าโครงการ Mixed-use ที่รวมความหลากหลายของการใช้บริการเอาไว้ และต้องดูว่าแผนเกี่ยวกับอาคารสำนักงาน และที่พักอาศัยของ CPN จะน่าสนใจหรือไม่หลังจากนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา