สิ้นสุดแล้ว! มหากาพย์คดีเลอแปงบานาน่าในตำนาน CPALL เป็นผู้ชนะคดี

Brand Inside สรุปคดีมหากาพย์ที่ทำให้ซีพี ออลล์ เป็นที่ครหาของสังคมในเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปี ว่าบริษัทเป็นผู้ลอกสูตรจากผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคดีนี้ได้สิ้นสุดแล้ว และมีการดำเนินการทางกฏหมายต่อตัวการอีกคนด้วย

ขอบคุณภาพจาก Facebook ของ เลอแปง

หลังจากเป็นที่ครหาในโลกอินเตอร์เน็ตมานานกว่า 3 ปีว่าผลิตภัณฑ์เลอแปงบานาน่าของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นั้นไปลอกผลิตภัณฑ์เจ้าหนึ่งมา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าบริษัทนั้นทำร้ายผู้ประกอบการรายย่อย โดยการลอกเลียนสูตรสินค้า ทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหาย

ล่าสุดคดีสำหรับผู้ที่เป็นต้นเรื่องที่เผยแพร่บทความนี้ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ดีบริษัทได้ทราบถึงผู้ที่เป็นต้นเรื่องที่ให้ข้อมูลนี้และกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่

ที่มาของเรื่อง

ในปี 2558 มีบทความในเว็บไซต์โอเคเนชั่น ที่มีชื่อบทความหนึ่งชื่อว่า “โตเกียวบานาน่าไทย แบบมีกล้วยอยู่จริงๆที่แลกมาด้วยน้ำตา” ซึ่งผู้ผลิตกำลังที่จะเตรียมวางขายใน 7-Eleven และทางซีพี ออลล์ เป็นคนลอกสูตรมาจากผู้ผลิตรายนี้

แน่นอนว่าบทความนี้เป็นบทความที่โด่งดังบนโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหลายรายส่งต่อบทความ และแสดงความคิดเห็นว่าบริษัทใหญ่รังแกผู้ผลิตรายย่อย ฯลฯ

ต่อมาบริษัทได้ออกมาแถลงข่าวว่าบริษัทไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เนื่องจากบริษัทมีทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เลอแปงบานาน่านี้บริษัทได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะวางขายด้วยซ้ำ

ขอบคุณภาพจาก Facebook ของ เลอแปง

คดีแรกจบไป

บริษัทได้เปิดเผยว่าคดีนี้ได้สิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่บริษัทได้แจ้งดำเนินคดีความกับผู้เขียนบทความชื่อ assuming ที่มีชื่อจริงว่า ชิน รติธรรมกุล (“นายชินฯ”) โดยนายชินฯ ได้กล่าวว่าเขาเองได้ฟังเรื่องนี้มาจาก นางสาว พ. โดยที่นายชินฯ เองก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่

โดยเงื่อนไขในการยอมความของคดีนี้คือ นายชินฯ ได้ทำหนังสือแสดงความรู้สึกเสียใจและขอโทษบริษัทฯ ต่อหน้าศาล โดยนายชินฯ ยินดีที่จะแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายของบริษัทฯ ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและจะเผยแพร่บันทึกประนีประนอมยอมความระหว่างบริษัทฯ กับนายชินฯ และเอกสารย่อคำฟ้องคดีอาญา ที่แสดงถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้ ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 และจะลงติดต่อกันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

แต่เนื่องจากผู้เขียนบทความไม่ยอมทำตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้กระทำต่อหน้าศาล ทำให้บริษัทต้องฟ้องดำเนินคดีอีกครั้ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.860/2560 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ.1323/2561 โดยนายชินฯ จะต้องลงประกาศบันทึกฯ ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วันและให้ลงต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่ต่ากว่า 8 เดือน และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ จำนวน 80,000 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย

ภาพจาก Shutterstock

สืบหาต้นตอคนปล่อยข่าวต่อ

นอกจากนี้ ภายหลังที่บริษัทฯ ได้ทราบบุคคลที่เป็นตัวการที่ให้ข้อมูลและเนื้อหาที่นายชิน นำไปลงบทความ บริษัทฯ จำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏ ด้วยการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เป็นตัวการหรือผู้ใช้และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

ที่มาเอกสารจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), เว็บไซต์ MThai, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ