อาชีพผู้สอบบัญชีคือบุคคลภายนอกบริษัทที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบการเงินของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีจะต้องได้รับใบอนุญาตจากทางสภาวิชาชีพบัญชีหรือทางกรมสรรพากร โดยจะแบ่งใบอนุญาตในการสอบบัญชีเป็นสองประเภท ได้แก่ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และ ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA)
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) คืออะไร
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือ CPA ย่อมาจาก Certified Public Accountant คือผู้สอบบัญชีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องและได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีอนุญาตจาก สภาวิชาชีพบัญชี มีสิทธิในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของนิติบุคคลทุกขนาด ทุกประเภท แต่ต้องไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) คืออะไร
ผู้สอบบัญชีภาษีอากร หรือ TA ย่อมาจาก Tax Auditor คือผู้สอบบัญชีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องและได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีอนุญาตจาก อธิบดีกรมสรรพากร มีสิทธิในการตรวจสอบเฉพาะบริษัทหรือนิติบุคคลขนาดเล็ก เช่น SME, บริษัทที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้าน สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้าน และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้าน
โดยสรุปความแตกต่างระหว่าง CPA และ TA จะเป็นเรื่องของขนาดของนิติบุคคลที่ CPA จะสามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีได้ทุกขนาด ทุกประเภทบริษัท ไม่จำกัดเหมือน TA ซึ่งบริษัทที่จะจัดหาผู้สอบบัญชีจำเป็นต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย
นอกจากนี้ CPA ยังมีการแยกปฏิบัติงานตามกลุ่มธุรกิจเฉพาะด้านด้วย เช่น ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีบริหารสินทรัพย์
ทำไมถึงต้องมี CPA
ตามกฏหมายแล้วบริษัทจะต้องมีการจัดให้มีผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบงบการเงินที่ผู้ทำบัญชีเป็นผู้จัดทำก่อนที่จะนำส่งสรรพากรเพื่อใช้ยื่นภาษีในแต่ละปี โดยหน้าที่ของ CPA จะตรวจสอบและรับรองบัญชีตามที่สภาวิชาชีพบัญชีและกรมสรรพากรกำหนดไว้ หากบริษัทหรือนิติบุคคลไม่มีการจัดให้มี CPA หรือ TA ในกาาสอบบัญชีจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
Source: prosoft.co.th , rd.go.th, cpachiangmai.com, cpdacademy.co
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา