ถอดบทเรียนบริษัทระดับโลก กับ Ethisphere ดัชนีชี้วัดจริยธรรมของภาคธุรกิจ

สถาบัน Ethisphere องค์กรนี้มีกระบวนการในการประเมินและวัดจริยธรรมของบริษัทต่างกันอย่างไร Kellogg Sony Henry Schein บริษัทชั้นนำต่างๆ เหล่านี้รวมถึงเครือซีพี มีการบริหารจัดการอย่างไรจึงพัฒนาสู่การเป็นองค์กรพลเมืองบรรษัทที่ดีในระดับโลกได้ และกระแส ESG ที่กำลังเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน  แต่ละองค์กรได้นำมาปรับใช้อย่างไร บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน

Ethisphere-CP

ทำความรู้จักสถาบัน Ethisphere

“Ethisphere” เป็นสถาบันชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2549 กำหนดและประมวล “มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม” เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจบริหารกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเติบโตอย่างยั่งยืน  มีแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่ดี โดยจัดทำมาตรฐานจริยธรรมสำหรับให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเป็นเครือข่ายสมาชิกมากกว่า 300 บริษัท อาทิ H&M, Intel, Microsoft, IBM, Kohl’s, Pepsico, Kellogg’s, L’oreal และ Sony เป็นต้น และอีกภารกิจที่สำคัญของสถาบัน Ethisphere คือการประกาศและเผยแพร่รายชื่อบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลก หรือ World’s Most Ethical Companies® เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการการันตีความสำเร็จด้านจริยธรรมในเชิงสัญลักษณ์ โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 

นายทิมโมธี เออร์บลิค (Timothy Erblich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบัน Ethisphere เปิดเผยว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความท้าทายในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัททั่วโลกที่จะก้าวเป็นผู้นำทางธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวและดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ มีจริยธรรมและความซื่อสัตย์ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน โดยในปีนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกประจำปี 2565 ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างคุณค่าเชิงบวกให้กับสังคมในทุกมิติ

Ethisphere EQ score

Ethisphere ทำการคัดเลือกบริษัทที่มีจริยธรรมระดับโลกมาจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 16 มีเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกภายใต้ระบบ Ethics Quotient (EQ) มีคำถามกว่า 200 ข้อในการวัดสมรรถนะการดำเนินกิจการขององค์กร 5 ด้านแบ่งสัดส่วนในการให้คะแนน ดังนี้ 

  • ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance) 15%
  • ด้านภาวะผู้นำและการรักษาชื่อเสียงขององค์กร (Leadership & Reputation) 10%
  • ด้านการดำเนินงานทางจริยธรรมและการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Ethics & Compliance Program) 35%
  • ด้านการสร้างวัฒนธรรมทางจริยธรรม (Culture of Ethics) 20% 
  • ด้านการปกป้องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental & Societal Impact: ESG) 20%

ซีพี กับ การประเมินจาก Ethisphere

รงค์รุจา สายเชื้อ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธรรมาภิบาล สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กรเครือเจริญโภคภัณฑ์ พูดถึง ESG ว่าเป็นแก่นสำคัญที่ทุกองค์กรใหญ่ในโลกต้องทำเรื่องนี้ ไม่มีองค์กรไหนที่จะละเลยได้ เช่นเดียวกันกับเครือซีพีเราคำนึงถึง ESG เสมอ ไม่เช่นนั้นจะกระทบผู้คน องค์กรและชุมชนที่ถือเป็นรากฐานสำคัญยิ่ง ปัจจุบัน ESG ถือเป็นเรื่องหลักที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเครือซีพีดำเนินธุรกิจเติบโตมาหนึ่งศตวรรษมีพนักงานกว่า 4 แสนคนทั่วโลก ก็เพราะยึดมั่นในหลักจริยธรรมและปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของเครือฯ ไปพร้อมกับการยึดหลักค่านิยมองค์กรเป็นเข็มทิศสำคัญในการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม อันได้แก่ “ปรัชญา 3 ประโยชน์” คือ การดำเนินธุรกิจของเครือซีพีจะต้องเกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน รวมถึงประชาชนในประเทศต้องได้ประโยชน์และสุดท้ายบริษัทก็จะได้รับประโยชน์  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเครือฯ เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเครือซีพีได้ปลูกฝังแนวคิดนี้มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน คำนึงถึงคนอื่นก่อนตัวเรา สามประโยชน์นี้ทำให้เรายึดมั่นเรื่องนี้มาโดยตลอด 

รงค์รุจา สายเชื้อ CP

ที่สำคัญเครือซีพียังยึดมั่นในค่านิยม “ซื่อสัตย์และมีคุณธรรม” ซึ่งถือเป็นรากแก้วสำคัญในการทำให้ธุรกิจของเครือฯ จนได้รับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

จากการประเมินของ Ethisphere ทำให้เครือซีพีสามารถ benchmark กระบวนการทำงานของเรากับมาตรฐานการทำงานขององค์กรระดับโลกและสามารถนำมาตรวจสอบระบบการทำงานของเรา เพื่อเปรียบเทียบและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้แนวโน้มของระบบบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานระดับโลกอีกด้วย

ซึ่งกระบวนการดำเนินงานด้านการสร้างจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ครอบคลุมขั้นตอนทั้งหมด 6 ขั้นตอน 1. การประเมินและบริหารความเสี่ยง 2. การสร้างกลไกการควบคุมดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ 3. การสร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ 4. การวัดประสิทธิผลด้านจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง 5. การวัฒนธรรมด้านจริยธรรม 6. การติดตามและปรับปรุงกระบวนการทำงานพร้อมพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นซึ่งเราได้นำมาตรฐานสากลนี้มาประยุกต์ใช้จนเกิดผลสำเร็จ” รงค์รุจากล่าว

บริษัทระดับโลกที่ได้รับรางวัล World’s Most Ethical Companies®

Ethisphere

Kellogg หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมด้านอาหารของโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับรางวัลนี้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 “ผู้บริโภคสนับสนุนบริษัทที่ดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและซื่อสัตย์” สตีฟ คาฮิลเลน ประธานและซีอีโอของ Kellogg กล่าวว่า “ที่ Kellogg เราทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของเราในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภค ผ่านแบรนด์อาหารที่เชื่อถือได้ของเรา เราภูมิใจที่ Ethisphere ตระหนักถึงสิ่งนี้และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลก”

ด้าน SONY ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกจากสถาบัน Ethisphere อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 Kenichiro Yoshida  ประธานและซีอีโอของ Sony กล่าวว่า “ความซื่อสัตย์และความจริงใจ” คือค่านิยมที่สำคัญของกลุ่ม ซึ่งพนักงาน 110,000 คนยึดมั่น เราจะบริหารจัดการ Sony อย่างมีจริยธรรมต่อไปและมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้คน สังคม และโลก ผ่านการดำเนินธุรกิจที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่หลายของ Sony

ขณะที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์และรถบรรทุกายใหญ่ที่สุดของโลกมีอายุมากกว่าหนึ่งศตวรรษและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางอุตสาหกรรมมากมายทั่วโลกโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การขนส่งด้วยเครื่องยนต์และวิศวกรรมและการผลิต รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านไฟฟ้าและแบตเตอรี่อัลเที่ยม ได้รับรางวัลนี้จากสถาบัน Ethisphere เป็นปีที่ 3 อย่างต่อเนื่อง  Michael Ortwein ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ General Motors (GM) กล่าวว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตไม่ใช่เรื่องใหม่ขององค์กร แต่เป็นสิ่งที่เรายึดถืออย่างแน่วแน่ แม้ในช่วงเวลาที่ท้าทาย” นั่นเป็นเหตุผลที่ GM ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกเป็นปีที่สามติดต่อกันเป็นแรงบันดาลใจให้กับองค์กร ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่ปลอดมลพิษ เรายึดถือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ในทุกวันและทุกที่ที่เราดำเนินการ ด้วยความเชื่อว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องปฏิบัติ”

Henry Schein บริษัทโซลูชั่นสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพที่ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายของผู้คนและเทคโนโลยี บริษัท ฯ เป็นผู้ให้บริการธุรกิจ, คลินิก, เทคโนโลยี, และการแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทันตกรรม สุขภาพสัตว์ และการปฏิบัติงานทางการแพทย์ ที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้บริษัทยังให้บริการห้องปฏิบัติการทันตกรรม และการดูแลสุขภาพของรัฐและคลินิก ตลอดไปจนถึงสถาบันดูแลสุขภาพอื่นๆ ได้รับการยอมรับเป็นเวลา 11 ปีติดต่อกันและเป็นผู้ได้รับรางวัลเพียงรายเดียวจากสถาบัน Ethisphere ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2565 

“นับตั้งแต่ Henry Schein ก่อตั้งเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เรายึดมั่นในความเชื่อที่ว่า ‘การทำดี’ สำหรับอาชีพและชุมชนที่เราให้บริการ ช่วยให้บริษัทสามารถ ‘ทำได้ดี’” สแตนลีย์ เอ็ม. เบิร์กแมน ประธานกรรมการและหัวหน้าคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่บริหารของ Henry Schein กล่าวว่า “การยอมรับนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นอันยาวนานของเราในการตอบสนองความต้องการของสังคมในขณะที่ยึดมั่นในมาตรฐานทางจริยธรรมสูงสุด ในนามของสมาชิก Team Schein กว่า 21,600 คน เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกเป็นครั้งที่สิบเอ็ด เราได้รับแรงบันดาลใจจากการยอมรับนี้เพื่อพัฒนาแนวทางธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและยั่งยืนต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทของเราทำหน้าที่ของเราในการสร้างอนาคตที่มีสุขภาพดี ครอบคลุมมากขึ้น และมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นสำหรับทุกคน”

สรุป

Ethisphere คือองค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินคุณค่าบริษัทระดับโลกในด้านจริยธรรม มีเกณฑ์กลั่นกรองที่มีมาตรฐาน ซีพี คือ 1 ใน 136 องค์กร คือ 1 ใน 45 ของภาคอุตสาหกรรมจาก 22 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับรางวัลจริยธรรมมากที่สุดในโลก 2 ปีติดต่อกัน

รางวัลจริยธรรมดังกล่าววัดคุณค่าขององค์กรต่างๆ ทั้งจากการกำกับดูแลกิจการ ภาวะความเป็นผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร การนำจริยธรรมมาปรับใช้ในองค์กรและการปกป้องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ซีพียืนหยัดกำกับกิจการด้วยจริยธรรมและยังยึดหลัก 3 ประโยชน์ที่เป็นค่านิยมหลักในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการบริหารเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท 

อีกทั้งกรณีศึกษาจากองค์กรระดับโลกในการกำกับกิจการด้านจริยธรรม อาทิ Kellogg, SONY, GM, Henry Schein ต่างก็สะท้อนให้เห็นว่า ความยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งขององค์กรทั้งหลายที่กล่าวมารวมทั้งซีพีนั้น ไม่ได้สะท้อนจากรายได้หรือผลประกอบการหรือการออกไปลงทุนในต่างประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนจากคุณค่าที่แต่ละบริษัทยึดถือ การประกอบกิจการหรือดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนอย่างจริงใจและการเต็มใจให้บริการแก่ผู้คน ปัจจัยเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเหตุผลสำคัญให้องค์กรเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืนและดำรงอยู่ท่ามกลางจิตใจของผู้คนตราบนานเท่านาน

อ้างอิง Food Business News (1), (2), SONY, PR Newswire, Businesswire

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา