แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและประเทศไทยจะคลี่คลายลง แต่ผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว รวมไปถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงตามปัญหาเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางได้กลายเป็น “มรสุมลูกใหญ่” ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทยที่ได้รับผลพวงอย่างหนัก จนทำให้บางธุรกิจไปต่อไม่ไหวต้องปิดตัวลง
จะทำอย่างไรให้ธุรกิจ SME อยู่รอดท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจ?
เป็นคำถามที่หลายภาคส่วนร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะธุรกิจ SME มีมูลค่าเกือบ 40% ของ GDP ประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นการจะปล่อยให้เหล่า SME กว่า 3 ล้านรายเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ อย่างลำพังคงไม่ดีแน่
หนึ่งในภาคเอกชนไทยอย่าง “เครือซีพี” โดยการนำของซีอีโอ ศุภชัย เจียรวนนท์ จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปให้ได้ จึงมีนโยบายเร่งด่วนให้ 3 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพี ประกอบด้วย เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ผนึกกำลังทำโครงการที่มีชื่อว่า “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมแข่งขันในเวทีตลาดโลก
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจเครือซีพีได้สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยไปแล้วกว่า 900,000 ราย และในโมเดล “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมามีกระแสตอบรับจาก SME และเกษตรไทยให้ความสนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 17,300 ราย
Brand Inside จะพาไปแกะสูตรทางธุรกิจทำความรู้จักโมเดลของแพลตฟอร์มแห่งโอกาสคืออะไร? ทำไมผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทยถึงอยากที่จะเข้าร่วม และ “โอกาส” ที่ว่ามีอะไรบ้าง … มาร่วมหาคำตอบในบทความนี้กัน
จุดเริ่มต้นของ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส”
คุณศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ฉายภาพรวมของโครงการ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายของซีอีโอเครือซีพี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ที่อยากให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาช่วยกันสนันสนุน SME อย่างผู้ผลิตรายย่อยหรือผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อยที่ได้รับผลกระทบเยอะมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด -19 ที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจ SME ทั้งภาคการบริการและภาคการผลิต
ทำให้เมื่อกลางปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ซีอีโอเครือซีพีไม่นิ่งนอนใจที่จะนำศักยภาพของธุรกิจในเครือซีพีมาสนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จึงเปิดตัวโมเดล “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรรายย่อยในการพัฒนาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าตอนนี้จะมาถึงช่วงที่หลายๆ คนบอกว่าโควิดคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ยังเห็นได้ชัดถึงผลพวงของพิษเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของ SME ที่ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
“แพลตฟอร์มแห่งโอกาส จึงเปรียบเสมือนโมเดลสร้างโอกาสให้กลุ่ม SME และเกษตรกรไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจผ่านแพลตฟอร์มที่เครือซีพีและกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในเครือฯ อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส มาร่วมกันหาแนวทางการสร้างระบบนิเวศที่จะเสริมความแข็งแกร่งและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด พร้อมเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือซีพีที่คำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและสังคมเป็นสำคัญ”
ผนึกกำลังแม็คโคร-โลตัส-เซเว่น อีเลฟเว่น ดันผู้ประกอบการไทย
ธุรกิจ SME และเกษตรกรไทยถือเป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเครือซีพีและกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้ให้ความสำคัญส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยของไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 900,000 ราย และหลังจากเปิดตัวโมเดล “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยผนึกกำลังของ 3 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในเครือฯ ในการสนับสนุน SME และเกษตรกรไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีที่มีกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการได้ให้ความสนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 17,300 ราย ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ทางเราได้กำหนดไว้ 10%
คุณศิริพร ได้กล่าวขยายความถึงผลการดำเนินงานในการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำให้เห็นภาพความมุ่งมั่นของการบูรณาการในกลุ่มธุรกิจของเครือซีพีทั้งในแบบ B2B และ B2C อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส สู่การผลักดัน SME และเกษตรกรไทยให้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย
“วันนี้ผู้ประกอบการต้องนึกแล้วว่ากลุ่มลูกค้าของตัวเองไม่ได้มีแค่เมืองไทย ขณะเดียวกันมีแพลตฟอร์มต่างชาติเยอะแยะมากมาย ผู้ผลิต SME ต้องแข่งกับผู้ผลิตต่างชาติด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยสนับสนุนเรื่องการมีแพลตฟอร์มเรื่องการส่งออกไปขายต่างประเทศ นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าต้องจับมือกับ SME ร่วมกัน ไม่ใช่แค่แม็คโครอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องช่วยกันทั้งหมด”
ผลการดำเนินงานในปี 2564 ที่ผ่านมาแม็คโคร ได้สนับสนุน SME ไปแล้วกว่า 2,500 ราย และเกษตรกรรายย่อยกว่า 7,000 ครัวเรือน และในปีนี้เราได้ตั้งเป้าหมายที่จะรับซื้อสินค้าเกษตรและSME กว่า 230,000 ตัน รวมถึงยังสนับสนุนให้ SME ไปเติบโตยังต่างประเทศ โดยมีสินค้าไทยไปจำหน่ายที่สาขาของแม็คโครกัมพูชาและเมียนมากว่า 300 รายการ
ขณะที่โลตัสก็ได้สนับสนุน SME และเกษตรกรไปแล้วเกือบ 7,000 ราย ผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงเพิ่มสินค้า SME กว่า 1,000 รายการ จำหน่ายในสาขาทั่วประเทศกว่า 2,100 สาขาทั่วประเทศ และยังได้ดำเนินโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาได้รับซื้อผลผลิตไปแล้วกว่า 1,400 ครัวเรือน ด้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรกว่า 800 ราย และนำสินค้า SME กว่า 5,000 รายการ มาวางจำหน่ายที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และช่องทางออนไลน์ สร้างยอดขายของผู้ประกอบการ รวมจำนวนกว่า 15,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 10% จากปีที่ผ่านมา
เปิด 3 กลยุทธ์สำคัญติดปีก SME – เกษตรกรไทย
กลยุทธ์ของเครือซีพีและกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในเครือฯ ในการวางยุทธศาสตร์ของแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศในการพัฒนา SME และเกษตรกรไทยผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของ SME ไทยฟื้นตัวกลับมาได้ คือ
- เสริมช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าผ่านธุรกิจค้าปลีกของเครือฯ ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ที่รวมช่องทางการขายที่สำคัญกว่า 10,000 สาขา รวมไปถึงการเสริมช่องทางออนไลน์ในการสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ O2O (Online to Offline) ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสอุดหนุนสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น
- ให้องค์ความรู้ ในช่วงที่ผ่านมา SME เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคค่อนข้างมาก แพลตฟอร์มออนไลน์ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการแข่งขันทางการตลาด เครือซีพีจึงได้นำศักยภาพของบริษัทในเครือฯ มาร่วมสนับสนุนให้องค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้าทั้งการเปลี่ยนแปลงช่องทางการตลาด การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างโอกาสเชื่อมโยงกับลูกค้าทั่วทุกมุมโลกผลักดันให้เกิดการขยายการเติบโตของธุรกิจรายย่อยในไทยและต่างประเทศได้ และสุดท้ายคือ
- สนับสนุนหาแหล่งเงินทุน อย่างแม็คโครเองก็ได้เชื่อมโยงกับธนาคาร SME D Bank ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งสามารถช่วย SME ให้มีต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือทำการตลาดในธุรกิจเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 3 ธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพี ได้ร่วมมือกันเปิดเวทีจับคู่ธุรกิจ “SME Online Business Matching” โดยเป็นการจัดอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส และได้มีการขยายความร่วมมือไปยังสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมไปถึงหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEและเกษตรกรไทยทั่วประเทศสามารถนำเสนอสินค้าทุกประเภททั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค เพื่อจัดจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส รวมถึงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในเครือข่ายของเครือซีพีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมี SME ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มแห่งโอกาสอยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น พร้อมเตรียมวางจำหน่ายในเซนเว่นอีเลฟเว่น, แม็คโคร และโลตัสทั่วประเทศ
“ต้องบอกว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว แต่ SME ไทยที่จะไปขายในต่างประเทศได้ก็มีเงื่อนไขเยอะ มีหลักการโดยเฉพาะการจดทะเบียนสินค้า ขณะที่แม็คโครทราบดีว่าการจะส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศต้องทำอย่างไร เพราะเรามีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีทีมงานที่ดูแลอยู่ในแต่ละประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่เราช่วยได้ รวมไปถึงเรื่องของการขนส่ง เรื่องของระบบการจัดการ เรื่องโลจิสติกส์ที่ต้องเข้มแข็ง โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรเราจะเสริมความรู้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบเหล่านั้น ทั้งการนำวัตถุดิบมาประยุกต์ปรุงเป็นน้ำพริก เพิ่มความหลากหลายของเมนู ยิ่งอาหารไทยเติบโตไปในต่างประเทศ ก็ทำให้มีความต้องการน้ำพริกของไทยมากยิ่งขึ้น อย่างน้ำพริกจะโหรมวันนี้เราสนับสนุนให้ไปขายที่กัมพูชาและเมียนมาก็ขายดีมาก เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสจึงเป็นโมเดลที่ช่วยผู้ประกอบการ SME ให้โตไปข้างหน้าด้วยกันกับเรา” คุณศิริพร กล่าว
“จะโหรม เครื่องแกง” : จากตลาดสดปักษ์ใต้สู่ SME ไทยโตไกลในต่างแดน
จากเครื่องแกงใต้ที่เคยวางขายในตลาดสดท้องถิ่นจังหวัดตรัง จนขยายธุรกิจไปวางขายในแม็คโครทั่วประเทศ วันนี้รสชาติเครื่องแกงตำรับจากปักษ์ใต้ได้โกอินเตอร์ไปขายในสาขาของแม็คโครที่ประเทศกัมพูชาและประเทศเมียนมาในแบรนด์ที่ชื่อว่า “จะโหรม เครื่องแกง”
คุณเจต อาลิแอ เจ้าของ “จะโหรม เครื่องแกง” บริษัท ดีแอนด์จี ฟู๊ดซัพพลาย จำกัดได้เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของเรามาจากธุรกิจครอบครัวที่ขายพริกแกงอยู่ในตลาดสดท่ากลาง ต.ทับเที่ยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสูตรของคุณแม่ ทางฝ่ายจัดซื้อของแม็คโครซึ่งมาเปิดสาขาอยู่ที่ จ.ตรัง ในขณะนั้นได้เข้ามาสำรวจสินค้าในตลาดท่ากลาง และเห็นว่าจะโหรมเครื่องแกงได้รับความนิยมมากในท้องถิ่น ด้วยเอกลักษณ์ของพริกแกงจะโหรมมีความเข้มข้นรสชาติจัดจ้านในแบบตำรับพริกแกงใต้ จึงได้ชวนให้ไปจำหน่ายเครื่องแกงที่แม็คโคร
ในขณะที่คุณชุติมา อาลิแอ หนึ่งในเจ้าของร่วม “จะโหรม เครื่องแกง” ได้ขยายความต่อว่า หลังจากจะโหรมได้เข้าไปเป็นคู่ค้ากับแม็คโครผ่านโมเดลแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ทำให้เราได้ขยายช่องทางการขายเครื่องแกงปักษ์ใต้จากตลาดสดสู่ห้างโมเดิร์นเทรดได้อย่างมั่นใจและมองเห็นโอกาสมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ในทุกด้าน ทั้งการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้รับมาตรฐานอย่าง GMP HACCP และตอนนี้เราได้รับมาตรฐาน BRC ซึ่งสามารถที่จะส่งออกไปยุโรปได้
จนถึงวันนี้ “จะโหรม เครื่องแกง” เป็นคู่ค้ากับแม็คโครมาระยะเวลากว่า 18 ปีแล้วจากร้านเครื่องแกงเล็กๆ ในตลาดสดเมืองตรังจนตอนนี้ได้ขยายสู่ธุรกิจ SME วางจำหน่ายในแม็คโครทุกสาขาทั่วประเทศ รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ติดปีกขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ช และยังได้รับ “โอกาส” ส่งออกสินค้าไปขายในภูมิภาคอาเซียนผ่านสาขาของแม็คโครในต่างประเทศอีกด้วย
“ยอดขายของจะโหรมตอนนี้โตอย่างต่อเนื่อง ผลตอบรับของลูกค้าดีขึ้นมาก แพลตฟอร์มแห่งโอกาสทำให้เราเติบโตพัฒนาสินค้ากลายเป็นธุรกิจ SME ภายใต้แบรนด์ของตัวเองที่โตไกลยังต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล” คุณชุติมา ย้ำปิดท้าย
สรุป
“แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ภายใต้การผนึกกำลังของ 3 ธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพี จึงเปรียบเสมือนช่องทาง “โอกาส” ของ SME และเกษตรกรไทยทั่วประเทศให้สามารถขยายธุรกิจเติบโตไปดัวยกันกับเครือซีพี ผ่านโอกาสในการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพิ่มองค์ความรู้ มีแหล่งเงินทุน รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและเกษตรกรให้สามารถยกระดับมาตรฐานสินค้า SME และสินค้าท้องถิ่นให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมบุกตลาดแข่งขันในเวทีโลก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา