เจ้าสัวธนินท์ชี้ ถึงยุคโรงงานใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนเพื่อเพิ่มผลผลิต เสนอจีนใช้ “สองสูง”

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือซีพี กล่าวปาฐกถาเปิดงาน Nikkei Asia Forum เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2016 มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยนายธนินท์หรือที่เรียกกันว่า “เจ้าสัว” เน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มาทำงานแทนคน เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังอธิบายแนวคิดการร่วมทุนของซีพีในต่างประเทศ โดยเฉพาะกับดีล Itochu, CITIC และผิงอัน (Ping-An)

เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัวเร็ว ส่วนญี่ปุ่นต้องกล้าเสี่ยงให้มากขึ้น

เจ้าสัวธนินท์ เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกแยกรายประเทศ โดยมองว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นตัวเร็ว เพราะมีเทคโนโลยีพร้อมกว่าประเทศอื่น และมีกฎหมายเข้มแข็ง มีการกำกับดูแลที่ดี

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ตามมาเป็นอันดับสอง เพราะญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องหุ่นยนต์ แถมญี่ปุ่นยังเป็นชาติที่เน้นคุณภาพสูงมาก แต่จุดอ่อนของบริษัทญี่ปุ่นคือไม่ค่อยกล้าเสี่ยง ดังนั้น ธุรกิจญี่ปุ่นต้องปรับปรุงตัวเองให้กล้าเสี่ยงมากขึ้น คำว่า “เสี่ยง” ในที่นี้ ต้องอยู่ในระดับที่บริษัทไม่ล้มละลาย ถ้าปรับตรงนี้ได้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถเติบโตขึ้นมาเทียบชั้นอเมริกาได้

dhanin chearavanont

จีนมีโอกาสโตเยอะ เสนอจีนทำ “สองสูง”

ส่วนจีน เป็นประเทศที่สาม เศรษฐกิจจีนยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจยังอยู่ในวัยหนุ่ม ข้อดีคือการเมืองนิ่ง

ในฐานะที่ลงทุนในจีนมาสามสิบกว่าปี จีนยังมีโอกาสปรับตัว รัฐบาลจีนสามารถทำหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แต่ยังไม่ได้ทำ จีนสามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นได้ ไม่ใช่กดราคาให้ต่ำลง ไม่ใช่กดราคาสินค้าเกษตรให้ถูก เพื่อให้สอดคล้องกับคนรายต่ำในเมือง ทำแบบนี้เจ๊งทั้งคู่

สิ่งที่จีนต้องทำคือยกสินค้าเกษตรให้ราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก ต้องใช้ “ทฤษฎีสองสูง” ยกรายได้ของแรงงานในเมือง แรงงานขั้นต่ำให้สูงขึ้น ตรงนี้จีนยังทำได้ไม่ดีนัก

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนมีรายได้ภาษีคิดเป็น 60% จากเอกชน และ 40% จากรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าไปดูรายละเอียด เอกชนกู้เงินจากธนาคารน้อย ส่วนใหญ่กู้นอกระบบ ถ้ารัฐบาลจีนให้เงินกู้กับเอกชนมากขึ้น ปล่อยให้เกิดธนาคารส่วนตัวมากขึ้น นักธุรกิจมีโอกาสมากขึ้น ถ้าแก้ตรงนี้ได้ พลังของจีนยังอีกมีมหาศาล

พอคนส่วนใหญ่มีรายได้มากขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น สินค้าที่ขายให้ต่างประเทศไม่ได้ ก็มาขายให้เกษตรกรได้แทน

ผมไม่ห่วงจีนเพราะไม่มีหนี้ต่างประเทศ มีแต่หนี้ของประชาชนจีน แบบนี้มีหนี้มากหน่อยไม่เป็นไร

เมื่อต้นปี จีนพูดชัดแล้วว่าต้องการให้ประชาชนไปสร้างธุรกิจ ต้องเป็นผู้ประกอบการ ไปเปลี่ยนแปลงของใหม่ๆ ผมมองว่าตรงนี้หลายประเทศไม่มีวัฒนธรรมแบบจีน คนจีนเกิดมาอยากเป็นเถ้าแก่ เป็นสตาร์ตอัพ ตรงนี้เป็นพลังในวันข้างหน้า เป็นอนาคตของธุรกิจภาคบริการที่จะเติบโตได้อีกมาก

สุดท้ายคืออาเซียน อุตสาหกรรมเก่ากำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0 ตรงนี้ถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศอาเซียน เพราะถ้าอุตสาหกรรมไม่มีการเปลี่ยน ก็ไม่มีโอกาสสำหรับประเทศกลุ่มนี้เกิดขึ้น

รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ หุ่นยนต์ใช้แทนแรงงาน

นายธนินท์ คาดการณ์พัฒนาการของเทคโนโลยีว่า รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ เกิดขึ้นแน่นอน ในทางเทคโนโลยีแล้ว ต่อไปมนุษย์จะเหาะได้กันทุกคน

มนุษย์จะมีความสุขมากขึ้น เพราะต่อไปมนุษย์จะทำงานอาทิตย์ละ 3 วัน แล้วหยุด 4 วัน เพราะเทคโนโลยีช่วยให้ทำงานได้ตลอดเวลา สมัยก่อน แค่ขึ้นนั่งบนรถก็ทำงานอะไรไม่ได้แล้ว การจะไปต่างประเทศก็ใช้เวลานาน วันนี้อยู่ที่ไหนก็ทำงานกับทั่วโลกได้ อยู่ที่ไหนก็สั่งงานได้ แต่ยุคนี้ คนไม่รู้ตัวว่าทำงานมากขึ้นต่างหาก

มีคนบอกว่าอนาคต คนแก่ตัวไปจะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน ตรงนี้นายธนินท์มองว่าไม่ใช่ เพราะหุ่นยนต์จะถูกนำใช้ทำงานหนักแทนมนุษย์ แล้วเราต้องเอามนุษย์มาใช้ทำงานด้านใช้สมองที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้

การใช้หุ่นยนต์จะช่วยให้ผลผลิตดีขึ้น 10-100 เท่า ผลคือปัญหาเรื่องสวัสดิการแรงงานจะหายไปแน่นอน ตอนนี้ซีพี สร้างโรงงานที่ไม่มีคนงานแล้ว ในยุโรปทำแล้ว ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่ถูกฟ้องว่าทำงานเกินเวลา

CP 3 ประโยชน์

นโยบายการลงทุนของ CP ในต่างประเทศ ใช้หลัก “3 ประโยชน์”

CP มีนโยบายไปลงทุนผลิตอาหารทั่วโลก พอนำหุ่นยนต์มาใช้งาน ไม่มีระบบสหภาพแรงงานแล้วจัดการง่ายขึ้น

แนวคิดของ CP คือผลิตอาหารที่เหมาะกับประเทศเหล่านั้น แต่ไม่ใช่แค่ขายในประเทศนั้นเพียงอย่างเดียว อะไรดีก็ต้องนำกลับมาขายเอเชีย เพื่อขยายตลาดสินค้าของประเทศนั้นด้วย ซีพีลงทุนมีระบบค้าปลีกในเอเชียอยู่แล้ว ทุกฝ่ายต้องวิน-วิน

หลักการลงทุนของซีพีในต่างประเทศใช้แนวคิด “3 ประโยชน์” คือ ประชาชนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์, CP ต้องได้ประโยชน์ และถ้า CP ได้ประโยชน์ ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์

CP จะไม่ลงไปทำเกษตรแข่งกับเกษตรกรในแต่ละประเทศ แต่จะนำเทคโนโลยี นำเงินไป นำของที่ดีที่สุดไปทำประโยชน์ การเกษตรจะเป็นของประชากรประเทศนั้น ไม่ใช่ของ CP ส่วน CP จะทำเรื่องที่เกษตรกรทำไม่ได้ เช่น พันธุ์หมู พันธุ์ไก่ การบริการ การแปรสภาพ การตลาด ไปจนถึงเรื่องการค้าปลีก การเปิดภัตตาคาร

หลายคนไม่เข้าใจว่าประเทศด้อยพัฒนาจะนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลกมาใช้ได้อย่างไร ตรงนี้หลายคนเข้าใจผิด เพราะคนในประเทศด้อยพัฒนาสามารถใช้เทคโนโลยีล่าสุดได้ ขอเพียงกดปุ่ม เหมือนกับกล้องถ่ายรูปของญี่ปุ่น แค่กดปุ่มก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องวัดแสงอะไรก็ได้ผลงานออกมาเท่ามืออาชีพ ดังนั้น ยิ่งประเทศด้อยพัฒนา ยิ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูง

ธุรกิจของซีพีคือทำทุกอย่างระหว่างแปลงเกษตรไปจนถึงโต๊ะอาหาร ในระหว่างนี้มีขั้นตอนเยอะมาก มีรายละเอียดเยอะ จุดเด่นของซีพีอยู่ตรงนี้ บริษัทดูปองต์ (Dupont) มีนโยบายทำธุรกิจจากเกษตรถึงโต๊ะอาหารเหมือนกัน แต่ซีพีมีโอกาสมาก เพราะเริ่มในประเทศที่ยังเป็นกระดาษขาวอยู่ เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลกมาใช้ได้ง่ายกว่า

ยุทธศาสตร์การลงทุนต่างประเทศ เน้นตลาดภายใน เน้นอยู่ยาว

ในฐานะซีพี ผมไปลงทุนในทุกๆ ประเทศ เราไม่คิดจะย้ายฐานผลิต แต่เราจะโตไปกับประเทศเขา เราไม่ได้ไปจ้างแรงงานบนค่าแรงราคาถูก แต่เราไปสร้างธุรกิจมั่นคงถาวร

มีคนถามว่าถ้าซีพีต้องจ่ายภาษีสูง จะเป็นอย่างไร อันนี้ผมไม่กลัว เพราะถ้าผมจ่ายสูง คนอื่นก็จ่ายสูง ผมกลัวแค่ว่าต้องจ่ายภาษีสูง แต่ประสิทธิภาพของซีพี ไม่ได้สูงตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้เราต้องหาเทคโนโลยีมาช่วย อาจมีบ้างที่เราเห็นว่าสภาพตลาดไม่โต เราจึงอาจถอนตัวบ้าง แต่เราต้องรู้ล่วงหน้าว่าตลาดข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แล้วปรับตัวก่อน ถ้ารู้ตัวว่าตลาดภายในประเทศโตได้น้อย ก็อย่ารีบขยายตัวเยอะ หรือถ้าต้นทุนสูงเกินไปก็ต้องรีบเลิกธุรกิจนั้นไป

ซีพีไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานของประเทศนั้น แต่ใช้โอกาสจากตลาดบริโภคของเขาต่างหาก อย่างไปอินเดีย ไปทำฟาร์มไก่ รู้ไหมว่าแค่ขายไก่ในอินเดียก็ขายไม่ไหวแล้วเพราะตลาดมันใหญ่มาก ดังนั้นขอให้สินค้ามันถูก มีคุณภาพ ที่ไหนมีมนุษย์ สินค้าของซีพีก็ขายได้เมื่อนั้น

cp-global-investment

ไม่ต้องกลัวอาหารขาดแคลน กลัวแต่ผลผลิตจะล้นโลก

อีกเรื่องที่คนกลัวกันคือประชากรโลกเพิ่มขึ้น คนล้นโลก อาหารจะขาดแคลน ตรงนี้ขอให้ไม่ต้องห่วง เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีวันนี้ เพราะหุ่นยนต์ทำงาน 24 ชั่วโมงไม่ต้องพัก ผลิตได้มากกว่ามนุษย์หลายร้อยเท่า สินค้าการเกษตรจะมีมากกว่าที่มนุษย์ต้องการหลายเท่า ผมห่วงแค่ว่าผลผลิตจะล้นตลาด ห่วงว่าจะเงินฝืด ห่วงว่าของจะมากกว่าเงิน สินค้าขายไม่ได้นี่อันตราย

E-commerce เกิดขึ้นมามากมาย แต่เป็นการขายของบนอากาศ จะสร้างกี่หมื่นมอลล์ ซอฟต์แวร์ทำได้หมด แถมซฮฟต์แวร์ไม่แพง ใครก็ทำได้ เปิดร้านของตัวเอง ลูกค้าจากทั่วโลกก็เข้ามาซื้อสินค้ากัน คำถามคือใครผลิตสินค้าให้?

ทิศทางของการผลิตชัดเจนว่าต้องใช้หุ่นยนต์มาแทนคน แต่ในมุมกลับก็ต้องคิดว่าคนว่างงานมากขึ้นแล้วจะไปทำอะไร ตรงนี้ ธุรกิจบริการจะเกิดขึ้น มนุษย์อาจอยู่ได้ 200 ปีอย่างมีความสุข แล้วจากนั้นจะทำอะไร

ผมไม่ห่วงว่าอาหารจะไม่พอ แต่เมื่อคนแก่จะมากขึ้น นี่คือธุรกิจใหม่อีกธุรกิจหนึ่ง

ธุรกิจสำหรับคนแก่คืออนาคตที่ซีพีกำลังจับตา

ถึงจุดหนึ่งคนสูงอายุจะทำอะไรเองไม่ได้ อาบน้ำไม่ได้ จะหาคนที่ไหนมาดูแล เพราะคนสูงอายุเรื่องมาก ไม่เหมือนกับการดูแลเด็ก แต่ซีพีพบว่ามีอุปกรณ์ทันสมัยมากของญี่ปุ่น มาตอบโจทย์ตรงนี้ ทำอะไรก็คล่องตัวขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีเตียงที่กดปุ่มก็เคลื่อนตัวได้ ตรงนี้น่าสนใจมาก

ตอนนี้ ซีพีกำลังผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุ คนอายุยืนขึ้น อาหารก็ขายได้มากขึ้น แต่ต้องแยกผลิตภัณฑ์อาหารตามช่วงอายุของคน เหมารวมไม่ได้ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็ต้องเหมาะสม ปรับอุณหภูมิ-ความชื้นให้ดี คนก็อายุยืนขึ้น หมอก็จำเป็นน้อยลง โรงพยาบาลก็ต้องปรับตัว

เรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซีพีกำลังศึกษาอยู่ว่าควรไปลงทุนหรือไม่

itochu-citic-cp

ผนึกกำลังพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น-จีน CP-Itochu-CITIC

บริษัทญี่ปุ่นโดยทั่วไปไม่ค่อยเสี่ยง แต่บริษัทอิโต้ชู Itochu (บริษัทเทรดดิ้งขนาดใหญ่ในเครือ Mizuho) คล่องตัวกว่ารายอื่น ท่านประธานอิโต้ชูคิดไม่เหมือนคนอื่น ถึงเปิดให้ซีพีเข้าไปลงทุน แล้วเข้าไปลงทุนใน CITIC Group บริษัทลงทุนของจีนร่วมกัน

ผู้บริหารของซีพีพบกับทีมอิโต้ชู ทุก 3 เดือน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซีพีได้ข้อมูลจากอิโต้ชูเยอะ ผมเชื่อมั่นว่ามีอะไรน่าสนใจมาก ร่วมกันได้อีกเยอะ หลังการเปลี่ยนแปลงเที่ยวนี้แล้ว มีธุรกิจเยอะแยะที่จะร่วมกัน ทุกวันนี้ทำโปรเจคต์เล็ก โปรเจคต์กลางร่วมกันอยู่แล้ว

ไม่ทำไม่ผิด ทำมากก็ต้องผิดมาก พอทำผิด ตำแหน่งก็ไม่ได้เลื่อน ซีพีไม่ใช่ ทำล้มเหลวไปพันล้าน ต้องแก้กลับมาให้ได้หมื่นล้าน ไม่มีใครในชีวิตนี้ไม่เคยทำผิด ยิ่งงานใหม่ๆ ต้องให้ลองทำ

คนถามเยอะว่า ซีพีไปลงทุนผิงอัน (บริษัทประกันภัยของจีน) แล้วได้ประโยชน์อะไร ในมุมของนักธุรกิจคือต้องการข้อมูล เราไม่ได้ต้องการเงินของผิงอัน แม้คนเข้าใจว่าซีพีต้องการเงินผิงอัน แต่จริงๆ แล้วต้องการข้อมูลจากผิงอัน ส่วนเงินจะใช้ของใครก็ได้ แบงค์ญี่ปุ่น แบงค์อเมริกา แบงค์จีนก็ได้ทั้งนั้น

อนาคตของซีพีอยู่ที่การสร้างคน เตรียมสร้างศูนย์อบรมผู้นำ

กับคำถามว่าซีพีจะทำอะไรในอีก 10-20 ปีข้างหน้า? สุดท้ายแล้ว ซีพีจะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นกับคน เราต้องสร้างคนให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ ตรงนี้จะมาขึ้นกับผมคนเดียวไม่ได้ ต้องกระจายอำนาจออกไป ใน CP Group มีประธานของแต่ละกลุ่มรันงานอยู่เองแล้ว กลุ่มไหนที่ประสบความสำเร็จ ผมใช้เวลากับกลุ่มนั้นน้อยมาก ไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ แต่ผมเอาเวลาไปใช้กับกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ มากกว่า

เครือซีพีกำลังสร้างศูนย์ฝึกอบรมผู้นำ ตอนนี้เพิ่งเริ่ม ยังไม่ได้เปิดเป็นทางการ เรามีคน 3 แสนคน ต้องคัดหัวกะทิมาอบรม ใช้เรียนรู้จากแนวทางของ Jack Welch (อดีตประธาน GE) แต่ประยุกต์ให้เหมาะสมกับเอเชีย

สุดท้ายแล้ว อนาคตของซีพีขึ้นกับคน เราจะขยายกิจการใหญ่โตอย่างไร ถ้าสร้างคนไม่ทันก็อย่าเพิ่งขยายเลย เอาคนก่อน ธุรกิจมาทีหลัง คนต้องมีความสามารถ แล้วต้องมีคุณธรรม พนักงานต้องซื่อสัตย์กับผู้ถือหุ้น ลูกค้า

ในมุมมองของผม ยกให้ลูกค้าเป็นที่หนึ่ง พนักงานในเครือเป็นที่สอง ผมในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นที่สาม

ถ้าไม่มีลูกค้า ไม่มีพนักงาน ผมจะมีประโยชน์อะไรล่ะ ดังนั้นผมต้องดูแลลูกค้าและพนักงาน ต้องสร้างพนักงานที่เก่งและดี ยุคสมัยนี้เอาแต่กำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคืนสู่สังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้แรงงานเด็ก สวัสดิการต้องเหมาะสม เรื่องพวกนี้ต้องให้ความสำคัญ ผมเป็นประธานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา