ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอของกลุ่ม True และบุตรชายคนที่สามของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จะได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นซีอีโอใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เพราะหลายคนก็มองออกอยู่แล้วว่า เจ้าสัวเตรียมดันบุตรชายคนนี้มาสืบทอดตำแหน่งตั้งแต่ต้น ขึ้นกับว่าจะเมื่อไรเท่านั้น
ในโอกาสที่กลุ่มซีพีกำลังอยู่ในช่วงผลัดใบอย่างเป็นทางการ Brand Inside ขอวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของซีพีในยุคของศุภชัย ดังต่อไปนี้
ซีพีสู่รุ่นที่สาม สุภกิตนั่งประธาน ศุภชัยเป็นซีอีโอ
เครือ CP เริ่มก่อตั้งจากร้านเจียไต๋ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) โดยสองพี่น้องชาวจีน นายเจีย เอ็ก ซอ และเจีย โซว ฮุย จากนั้น ลูกๆ ของทั้งสองก็เข้ามารับช่วงกิจการต่อในฐานะผู้สืบทอดรุ่นที่สอง ธนินท์ถือเป็นบุตรคนที่ 5 ของนายเจีย เอ็กซอ แม้จะเป็นบุตรคนเล็กที่สุด แต่สุดท้ายเขาก็ขึ้นมาเป็นผู้นำของเจียรวนนท์รุ่นที่สอง และนำพากิจการขยายมาจนยิ่งใหญ่ถึงทุกวันนี้
ธนินท์ มีบุตรชายสามคนคือ สุภกิต ณรงค์ ศุภชัย และบุตรสาวสองคนคือ วรรณี กับทิพาภรณ์ ตามแนวทางของธุรกิจคนจีนที่สืบทอดธุรกิจผ่านลูกชาย โดยสุภกิต ลูกชายคนโต และณรงค์ ลูกชายคนที่สองถูกส่งไปคุมธุรกิจที่เมืองจีนเป็นหลัก (สุภกิตดูธุรกิจภาพรวมทั้งหมดในจีน ส่วนณรงค์ดูค้าปลีก) ในขณะที่ศุภชัย ลูกชายคนที่สามถูกมอบหมายธุรกิจด้านโทรคมนาคม
การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ถือเป็นการผลัดใบของ CP เข้าสู่ยุคที่สามอย่างเต็มตัว โดยเจ้าสัวธนินท์ถูกดันขึ้นไปเป็นประธานอาวุโส แต่งตั้งสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตมาเป็นประธาน ณรงค์เป็นรองประธาน และมอบหมายให้ศุภชัยเป็นซีอีโอ เท่ากับว่ามหาอาณาจักรซีพีอยู่ภายใต้การดูแลของสามพี่น้อง “สุภกิต-ณรงค์-ศุภชัย” ไปเรียบร้อยแล้ว
ศุภชัยให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asian Review ว่าถึงแม้จะได้นั่งเก้าอี้ซีอีโอใหญ่ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก และหวังว่าจะเพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเองได้มากกว่านี้ ก่อนเจ้าสัวธนินท์เกษียณตัวเองอย่างเต็มตัว
ศุภชัยจะเป็นผู้นำของซีพีเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ในอีกไม่ช้านี้ (ครบ 100 ปีในปี 2564) น่าจับตาว่าภายใต้การนำของเขา ซีพีแห่งศตวรรษใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
Brand Inside มองว่าสิ่งที่น่าจับตาของซีพีรุ่นที่สามมีทั้งหมด 5 ประเด็น ดังนี้
1) ขยายธุรกิจ ดึงผู้บริหารคนนอกมาเสริมทัพ
สมดุลระหว่างคนในตระกูลเจียรวนนท์กับผู้บริหารคนนอก ถึงแม้แกนหลักของบริษัทจะยังเป็นคู่พี่น้องสุภกิต-ศุภชัย แต่ในยุคของเจ้าสัวธนินท์เองก็เริ่มเปลี่ยนผ่านให้ผู้บริหารมืออาชีพที่เป็นคนนอกตระกูล มานั่งกุมอำนาจสำคัญในบริษัทลูกขนาดใหญ่มานานแล้ว เช่น CPF ที่มี อดิเรก ศรีประทักษ์ หรือ CP All ที่มีก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ดูแลมาโดยตลอด ดังนั้นผู้บริหารคนนอกตระกูลถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเครือซีพี
ในระยะยาวแล้วด้วยกิจการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตระกูลเจียรวนนท์จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ผู้บริหารคนนอกให้มากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้ก็น่าจะยิ่งชัดเจนขึ้นในยุคของสุภกิต-ศุภชัย ที่สรรหาผู้บริหารมืออาชีพทั้งจากในไทยและต่างประเทศ มาเสริมทัพให้เครือซีพีอย่างต่อเนื่อง
2) ผลัดเปลี่ยนรุ่นผู้บริหาร สร้างขุนพลกลุ่มใหม่
ในระยะแรก ทิศทางของซีพีไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่ในระยะยาว สิ่งที่น่าสนใจคือการผลัดเปลี่ยนรุ่นของผู้บริหารรุ่นเดิมที่ทำงานกับเจ้าสัวธนินท์มานาน มาสู่ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับภาระสำคัญของธุรกิจในเครือ ในฐานะขุนพลของสุภกิต-ศุภชัย
3) เชื่อมต่อ-ประสานงานระหว่างกลุ่มธุรกิจในเครือให้มากขึ้น
นอกจากนี้ การผสานงานกัน synergy ระหว่างธุรกิจในเครือก็น่าจะชัดเจนมากขึ้น ต่างไปจากยุคปัจจุบันที่แต่ละกลุ่มธุรกิจยังแยกการทำงานที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศระหว่างกัน
4) นำนวัตกรรม-ไอที ขับเคลื่อนธุรกิจ
ศุภชัย นั่งเป็นซีอีโอของ True มานาน และเป็นแกนหลักในการก่อตั้ง Ascend ซึ่งเป็นสองกลุ่มธุรกิจที่ไฮเทคที่สุดในเครือซีพี ในยุคที่เทคโนโลยีด้านไอทีกลายเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ เขาย่อมใช้ประสบการณ์ที่ True มาผลักดันให้เครือซีพีไฮเทคขึ้นอย่างแน่นอน และจุดขับเคลื่อนสำคัญก็ย่อมเป็นกลุ่ม True/Ascend นั่นเอง
5) เร่งเกียร์บุกจีน ขยายความร่วมมือระดับภูมิภาค
ซีพีถือเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่เข้าไปลงทุนในจีนหลังเปิดประเทศ และช่วงหลังเราก็เห็นการขยายตัวของซีพีในจีนที่ชัดเจนมาก ยุทธศาสตร์ของซีพีใช้วิธีร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของจีนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Ping An ที่ซีพีเข้าไปซื้อหุ้น, SAIC ด้านรถยนต์, CITIC ด้านการลงทุนและการเงิน, China Mobile ที่เข้ามาลงทุนใน True และล่าสุดคือ Alibaba ที่เข้ามาลงทุนใน Ascend
ในจังหวะที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น กลุ่มซีพีที่เป็นพันธมิตรกับธุรกิจจีนมายาวนานย่อมไม่พลาดโอกาสนี้ และเราคงจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างซีพีกับบริษัทจีนรายอื่นๆ มากขึ้นด้วย
สำรวจอาณาจักรซีพี ยิ่งใหญ่จนต้องแบ่ง 13 กลุ่มธุรกิจ
ปัจจุบันเครือซีพีแบ่งหน่วยธุรกิจของตัวเองออกเป็น 13 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจในไทย 10 กลุ่ม และธุรกิจในจีนอีก 3 กลุ่ม ข้อมูลตามที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของ CP มีดังนี้
ธุรกิจในไทย
- กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
- กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ ซีพีออลล์ (7-Eleven) และสยามแม็คโคร (Makro)
- กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ได้แก่ บริษัทเจียไต๋ จำกัด ถือเป็นธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลเจียรวนนท์
- กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ซีพี.อินเตอร์เทรด, บริษัท ข้าวซีพี และบริษัทท่าเรืออยุธยาและไอซีดี
- กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ (CP Seeds) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม (CP Engineering)
- กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท ซี.พี.แลนด์
- กลุ่มธุรกิจพลาสติก เน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ทั้งร้านค้าปลีกและการเกษตร ได้แก่ บริษัท ซีพีพีซี (CPPC)
- กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง ได้แก่ บริษัทเพอร์เฟคต์ คอมพาเนียน กรุ๊ป เน้นการขายอาหารสัตว์เลี้ยงในหลายแบรนด์ เช่น มีโอ สมาร์ทฮาร์ท
- กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เน้นการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์และลอจิสติกส์ในหลายประเทศ
ปัจจุบันบริษัทในเครือซีพีที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 มีทั้งหมด บริษัท ได้แก่ CPF, CP-All, Siam Makro, True Corporations, CP-Land
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเครือซีพี ที่ไม่ได้ระบุชื่อบนเว็บไซต์ของกลุ่มซีพีอีกด้วย เช่น กลุ่มบริษัทดีที เจ้าของแบรนด์ Magnolia และ Whizdom ซึ่งบริหารงานโดย ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ลูกสาวคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์ หรือ Ascend Group กลุ่มธุรกิจไฮเทค-อีคอมเมิร์ซที่แยกตัวมาจากกลุ่ม True
ธุรกิจในจีน
- กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม มี SAIC-CP Motor บริษัทร่วมทุนกับ SAIC ยักษ์ใหญ่ของวงการรถยนต์จีน ทำตลาดไทยในแบรนด์ MG และ ECI Group ที่ทำมอเตอร์ไซค์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรมแบรนด์ Caterpillar
- กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร มี ธนาคารเชงสิน (ZhengXin Bank) และผิงอันประกันภัย (Ping An Insurance)
- กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ มีบริษัท Sino-Bio Pharmaceutical ที่ซีพีไปลงทุนไว้
นอกจากนี้เครือ CP ยังกระจายการลงทุนไปทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหารและอาหารสัตว์
จับตา True ยุคใหม่ ภายใต้ซีอีโอคนใหม่
การเปลี่ยนผ่านของกลุ่มซีพีครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่ม True อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะตำแหน่งซีอีโอเดิมของศุภชัยจะว่างลง และ True จะต้องสรรหาซีอีโอคนใหม่ ซึ่งศุภชัยก็ให้สัมภาษณ์ว่าน่าจะเสร็จกระบวนการสรรหาซีอีโอคนใหม่ภายในไตรมาสที่ 1-2 ของปีนี้ โดยขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ด ระหว่างนี้เขาจะยังดำรงตำแหน่งซีอีโอไปก่อน
การโอนถ่ายอำนาจภายในกลุ่ม True ก็น่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะศุภชัยก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้รับรู้กันภายในบริษัทมาได้สักพักแล้ว และเขาเองก็จะยังนั่งเก้าอี้เป็นบอร์ดของ True ต่อไป ในแง่ทิศทางและนโยบายของ True ก็คงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก
ศุภชัยยังให้สัมภาษณ์ว่า ทิศทางของ True จะเน้นเรื่อง Telecom Logistics มากขึ้น แทนการเป็นผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว ตรงนี้คงสอดคล้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก ที่เริ่มผันตัวไปทำบริการและคอนเทนต์กันมากขึ้น
ที่มา – กรุงเทพธุรกิจ, Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา