จับตาสัปดาห์ที่ 2 โรงงานหน้ากากอนามัย CP เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

หลังจากเจ้าสัวธนินท์ เครือ CP ประกาศ 5 สัปดาห์สร้างโรงงาน 100 ล้าน ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรี และเมื่อจบช่วงเวลาวิกฤต Covid-19 จะยกให้ รพ.จุฬาฯ

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา งานก่อสร้างโรงงานหน้ากากอนามัย เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเริ่มได้เห็นหน้าตาของ Corridor ที่งานโครงสร้างและงานปูพื้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับติดตั้งผนังกั้นห้องและฝ้าเพดาน เพื่อจัดทำห้อง Clean Room และยังมีงานอื่นๆ อาทิ งานโครงสร้างภายในของลิฟต์โดยสาร, งานรื้อถอนเดิมยังคงมีอยู่, เพื่อติดตั้งหน้าต่างรูปแบบใหม่ งานติดตั้งระบบรางไฟฟ้า พร้อมงานผลิต Pipe bridge สำหรับเดินสายไฟข้ามถนน เป็นต้น

ส่วนของฝ่ายไอทีทำงานคู่ขนาน ภายใต้โจทย์ที่ว่า ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส โดยมีการออกแบบระบบตรวจนับหน้ากาก หลังจากผ่านเครื่องตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้รู้จำนวนที่ผลิตได้แบบเรียลไทม์ และการจัดเก็บสต็อคว่า ผลิตแล้วเสร็จกี่อัน คงเหลือในสต็อคกี่อัน เพื่อรองรับการออกแบบระบบแจกจ่ายที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ คาดว่าจะใช้เวลาเขียนซอฟต์แวร์ ประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งจะเสร็จทันส่วนของเครื่องจักรพอดี

สำหรับการเขียนซอฟต์แวร์โดยกลุ่มทรู แอสเซนต์กรุ๊ป ทำงานผ่าน Work from Home ทำงานและประชุมกันผ่านระบบ VDO Conference เพื่อเขียนโปรแกรมให้ทันเวลา

อีกส่วนหนึ่งที่ดูเหมือนเล็กๆแต่สำคัญมาก นั่นคือลวดที่ใช้หนีบจมูก ไม่ให้เกิดช่อง เวลาสวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งจมูกและปาก ขอบที่มีลวดอยู่ด้านบนสันจมูกและรอยจีบพับคว่ำลง ใช้แล้วทิ้ง หากใครสั่งซื้อหน้ากากอนามัยต้องดูส่วนนี้ให้ดี หากเลือกวัสดุมาทำส่วนหนีบจมูกไม่ดี เวลาใส่จะไม่แนบสนิท ซึ่งซีพี ได้ศึกษาเรื่องวัสดุทางเลือกหลายชนิด เพื่อให้กดแนบจมูกได้สนิท ไม่มีอากาศเล็ดลอด ซึ่งได้ทดสอบ และสั่งซื้อลวดที่ใช้ในส่วนหนีบจมูกไว้แล้ว

ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวว่า ซีพีเลือกใช้ลวด ที่มีตัวล็อคหัวท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้แกนเหล็กเลื่อนไปมา ป้องกันอันตรายจากผู้ใช้งาน โดยระบบจะตรวจสอบอัตโนมัติว่า ลวดอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ จะเห็นได้ว่าแม้เรื่องเล็กๆก็สำคัญ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา