บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 และครึ่งปีแรก 2566 มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีการบริโภคในประเทศฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ครึ่งปีแรก 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 8,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีรายได้รวม 454,322 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.8%YoY
ด้านไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 4,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.7%YoY โดยมีรายได้รวม 232,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5%YoY ส่วนใหญ่เติบโตจากรายได้ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ธุรกิจแม็คโครและโลตัสส์ยังเติบโตดีขึ้นตามการ ฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว รวมถึงได้รับผลดีจากกลยุทธ์ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจ
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2566 CPALL มีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 49,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6%YoY จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจค้าส่ง
ขณะที่ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย มีรายละเอียดดังนี้
- ต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ 45,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1%YoY
- ค่าใช้จ่ายกลุ่มต้นทุนในการจัดจำหน่ายอยู่ที่ 38,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9%YoY
- กลุ่มค่าใช้จ่ายในการบริหารอยู่ที่ 7,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8%YoY โดยหลักๆ เพิ่มขึ้นจาก ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน และค่าโฆษณาและส่งเสริม การขาย รวมถึงการขยายสาขา
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อโตขึ้นแค่ไหน?
ด้านรายได้ของร้านสะดวกซื้อในไตรมาสนี้อยู่ที่ 102,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1%YoY
- ยอดขายเฉลี่ย 83,558 บาท/ร้าน/วัน
- ยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 7.916.1%YoY จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ยอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 84 บาท
- จำนวนลูกค้าเฉลี่ย 995 คน/สาขา/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการบริโภคในประเทศฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวไทย-ต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ CPALL วางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในไทยอีกประมาณ 700 สาขาในปี 2566 (ปัจจุบันมีอยู่ราว 14,215 สาขา) และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้าน สาขาในประเทศกัมพูชาให้ครบ 100 สาขา (จาก ณ มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 66 สาขา) รวมถึงเปิดสาขาแรกใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2566
ทั้งนี้ ทางบริษัทคาดการณ์ว่าปี 2566 นี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000 – 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท
- การปรับปรุงร้านเดิม 2,900 – 3,500 ล้านบาท
- โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท
- สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท
ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา