สงครามการค้าและโควิด-19 ส่งผลกระทบหลากประเทศ ทำชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงมหาศาล หลายประเทศเริ่มมองหาแหล่งผลิตใหม่ และเริ่มปิดโรงงานที่มีอยู่เดิมทิ้ง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เคยทำงานอยู่ก่อนหน้านี้ต้องถูกปลดออกจากการทำงานจำนวนมาก
ล่าสุด South China Morning Post (SCMP) รายงานว่า ผลกระทบจากโควิดและสงครามการค้าทำให้โรงงานต่างๆ เริ่มปิดตัวและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนมากขึ้น
SCMP สัมภาษณ์ Rao Dequn อายุ 43 ปี เป็นคนจากกุ้ยโจว ทำงานในโรงงานในเมืองตงกวน (Dongguan) มณฑลกว่างตงเป็นเวลายาวนานถึง 25 ปี ผลกระทบจากสงครามการค้าและโควิดอาจทำให้เธอต้องตกงานภายในหนึ่งเดือน เนื่องจากเธอและเพื่อนร่วมงานราว 900 คนได้รับจดหมายแจ้งให้ทราบเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า บริษัท Dongguan Dingyi Shoes จะปิดตัวลงภายใน 5 สัปดาห์ การว่าจ้างก็อาจจะสิ้นสุดลงด้วย
Rao กล่าวว่า มันยากมากที่จะเจอโรงงานที่มั่นคง เพราะหลายๆ แห่งก็ปิดตัวลง หรือไม่ก็อาจจะปลดพนักงาน ซึ่งแรงงานข้ามชาติในจีนก็มีมากถึง 290 ล้านคน Rao บอกว่า เธอรู้สึกเสียใจที่ต้องออกจากงาน เพราะเธอมีหัวหน้าที่ดี จ่ายเงินค่าแรงตรงเวลาเสมอ หลายคนที่นี่ก็ทำงานมามากกว่า 20 ปี
เธอพักอาศัยในห้องขนาด 9.2 ตารางเมตร แชร์ห้องน้ำร่วมกับคนอื่น ค่าเช่าราว 250 หยวน หรือ 1,120 บาทต่อเดือน สามีของเธอก็ทำงานอยู่ที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ เขาบอกว่า ต้องย้ายออกจาก Dongguan เพราะงานเริ่มไม่แน่นอน
ทั้งนี้ บริษัท Dingyi ถือเป็น 1 ในบริษัทที่อยู่ในจีนที่มีนับพันรายและจัดว่าเป็นบริษัทที่หนุนบทบาทจีนในการเป็นโรงงานโลก Dingyi เป็นโรงงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจากนักลงทุนไต้หวันมาตั้งแต่ 1990 นำเข้าและอกแบบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปส่งออกไปยังต่างประเทศ
ขณะนี้จีนกำลังสูญเสียศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้เกิดการยกเลิกออเดอร์สำหรับการส่งออก ทั้งที่เคยทำสำเร็จอย่างมากก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี Zhao Jian หัวหน้าสถาบันวิจัยด้านการเงินแห่งแอตแลนทิส กล่าวว่า จีนพึ่งพาภาคการส่งออกอย่างมาก แต่ก็มีอัตราที่ลดลงมาตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกแล้ว
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมส่งออกราว 180 ล้านตำแหน่ง หรือราว 1 ใน 3 ของงานที่ไม่เกี่ยวกับภาคเกษตรที่มีอยู่รวม 530 ล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า เศรษฐกิจจีนกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากรัฐฯ มีการลงทุนมากขึ้นทำให้อุตสาหกรรมภาคการผลิตฟื้นตัว หลังจากที่ไตรมาสแรกหดตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 6.8% อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 5.7% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 5.9%
อย่างไรก็ตาม โรงงานในจีนก็กระทบจากโควิดและสงครามการค้าอย่างหนัก ซึ่งก็มีทั้งร้านอาหารขนาดเล็ก โรงแรม แลร้านค้าต่างๆ ก็ปิดตัวลง การปลดพนักงานเกิดขึ้นทั่วเมืองตงกวน
ที่มา – SCMP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา