อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่วิกฤติยังคงจำกัดวงอยู่แค่ในจีน แม้ว่าจะเริ่มสร้างความยากลำบากให้กับธุรกิจแล้ว แต่ในเวลานั้น วิกฤตินี้ยังดูเหมือนเป็นเพียงการขาดตอนหรือการหยุดชะงักของซัพพลายเชนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากนัก
ในระยะแรกนั้น บริษัทต่างๆ ยังสามารถหาชิ้นส่วนที่จำเป็นได้อยู่แม้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ และในภาพรวมธุรกิจก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี สภาวะดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเนื่องจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก แม้การกลับมาเปิดโรงงานในจีนอีกครั้งจะช่วยลดผลกระทบในฝั่งของอุปทานให้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในส่วนอื่นๆ ของโลกเริ่มหยุดชะงัก
สิริกร บุญเสริมสุวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจดิจิทัลเซลล์และคอมเมอร์เชียล บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บอกว่า บริษัทหลายแห่งได้เริ่มปรับรายงานการคาดการณ์แนวโน้มของรายได้ในไตรมาสที่สอง รวมถึงแนวโน้มของรายได้ในปี 2563 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งฝั่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและฝั่งซัพพลายเชนทั่วโลกได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดย Canalys ได้คาดการณ์เกี่ยวกับสินค้าหมวดหมู่หนึ่งที่สำคัญอย่างสมาร์ทโฟนไว้ว่า การขนส่งสินค้าของจีนจะตกลงถึงร้อยละ 40-50 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในด้านอื่นๆ ของฝั่งอุปสงค์นั้นดูจะมีความน่าสนใจมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสินค้าใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจากที่บ้านกำลังขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดย ResearchAndMarkets.com ได้คาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยจะยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นผลจากการเจาะตลาดโทรศัพท์มือถืออย่างเข้มข้นและการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในภาคครัวเรือนก่อนหน้านี้
แต่เมื่อพิจารณาในอีกด้านหนึ่งของฝั่งอุปสงค์กลับพบว่า ชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นได้เริ่มเข้าสู่ภาวะนิ่งสนิท โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ชี้ให้เห็นว่า กำลังการผลิตรถยนต์ของไทยในปีนี้มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 30 เหลือเพียง 1.33 ล้านคัน และอาจลดลงไปอีกถึงร้อยละ 50 หรือเพียง 1 ล้านคันหากวิกฤติจากไวรัสโคโรนายังคงดำเนินต่อไปอีก 1 เดือน
หากเป็นเช่นนั้น บริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ควรบริหารจัดการสถานการณ์นี้อย่างไร องค์กรอาจต้องมองแนวทางเป็นสองช่วงเวลา นั่นคือ
-
- สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการกับผลกระทบระยะสั้นในปัจจุบัน
- ควรปรับอะไรบ้างเพื่อรับมือในระยะยาว
การรับมืออย่างเร่งด่วน
การรับมือในระยะสั้นของบริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือ การรักษาบริษัทให้อยู่รอดปลอดภัย และกลับมามีสภาวะที่แข็งแกร่งเมื่อวิกฤติสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็น
- การร่วมสร้างและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกับลูกค้าและคู่แข่ง เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างเร่งด่วนในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์และการติดต่อสื่อสาร
- การเปลี่ยนโฟกัสด้านการตลาดและการขายไปยังช่องทางออนไลน์ โดยควรลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อหันไปทุ่มเทให้กับผลิตภัณฑ์ที่สำคัญและการจัดวางโครงสร้างของแบรนด์ พร้อมทั้งขยายฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมในการซื้อสินค้า เช่น การนำ AI เข้ามาช่วยให้การตอบคำถามและให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเป็นไปอย่างถูกต้องและทันท่วงที
- หากสถานะเงินสดอำนวย องค์กรควรช่วยเหลือคู่ค้าที่มีขนาดเล็กกว่าให้รอดพ้นจากสภาวะอันยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกัน (เช่น การขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ให้บริการภาคสนามสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานของธุรกิจ
- ในกรณีที่สามารถดำเนินการได้ ควรมองหาแหล่งทางเลือกเพื่อจัดเตรียมชิ้นส่วนและอะไหล่ต่างๆ ดังตัวอย่างของ IBM Rapid Supplier Connect ที่นำบล็อกเชนเข้ารองรับระบบคัดเลือกซัพพลายเออร์และการจัดการ inventory เพื่อช่วยให้โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และร้านขายยา ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและอัพเดทแบบเรียลไทม์ เพื่อเร่งพิจารณาคุณสมบัติของซัพพลายเออร์ให้เร็วขึ้น
- นอกจากนี้ องค์กรยังอาจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติเพื่อผลิตอะไหล่ในกรณีที่จำเป็น เพราะสิ่งที่องค์กรต้องการไม่ใช่ความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังจำเป็นต้องมีความสามารถในการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน
- การเพิ่มความถี่ของ “การวางแผนด้านการขายและการดำเนินงาน” ให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถจัดการรับมือกับอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ โดยพยายามลงรายละเอียดให้ได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวในระยะแรกเริ่มนั้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
การปรับตัวเพื่อให้รับมือในระยะที่ยาวนานขึ้นได้
ณ จุดหนึ่ง วิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็จะผ่านพ้นไป ไม่มีใครรู้ได้ว่าทิศทางการฟื้นตัวจะเป็นอย่างไรและโลกจะเป็นอย่างไรหลังการฟื้นตัว ดังนั้น บริษัทต่างๆ จึงควรสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวได้เร็ว เพื่อรับมือกับปัญหาหลากหลายรวมถึงวิกฤติด้านสุขภาพครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อาทิ
- สินค้าบางอย่างจะขายในช่องทางร้านค้าไม่ได้อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงควรพุ่งเป้าไปที่การสร้างช่องทางการสื่อสารและบริการลูกค้าที่หลากหลาย (omni-channel) แทน รวมทั้งการขายปลีกผ่านช่องทางการขายเฉพาะของบริษัท (direct-to-consumer) เพื่อให้สามารถพึ่งตัวเองได้ องค์กรควรเป็นมากกว่าคนกลางที่นำสินค้าของคนอื่นมาขาย และควรคำนึงถึงการเพิ่มโมเดลใหม่ๆ เพื่อรองรับช่องทางค้าปลีกเดิมที่มีอยู่
- โมเดลการคาดการณ์จากข้อมูลในอดีตจะใช้ไม่ได้ผลไปอีกนาน องค์กรจึงต้องพัฒนาความสามารถในการคาดการณ์อุปสงค์ขั้นสูงขึ้น โดยอาจใช้ AI เข้ามาช่วยหาข้อมูลเชิงลึกหรือวิเคราะห์ข้อมูลอนาคต เพื่อจับสังเกตการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ และเพิ่มความคล่องตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่
- โควิด-19 จะไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินครั้งสุดท้าย ภาวะหยุดชะงักครั้งต่อไปอาจเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือวิกฤติด้านสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น องค์กรจึงควรออกแบบความสามารถและสถาปัตยกรรมด้านการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาผู้ให้บริการหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น การเลือกใช้คลาวด์ที่มี data center สำรองในหลายจุดทั่วโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคหนึ่ง หรือการนำเทคโนโลยีอย่าง AI Visual Insights เข้ามาช่วยตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ defect ขนาดเล็กมากบนแผงวงจร ไปจนถึงข้อผิดพลาดบนชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เพื่อให้องค์กรไม่ต้องสูญเสียเงินมหาศาลไปกับผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และงานผลิตต่างๆ ไม่ต้องหยุดชะงักแม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่สามารถเข้าทำงานที่โรงงานได้
- อุปสงค์ที่ไม่แน่นอนคือความปกติใหม่ (new normal) ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงควรเริ่มเปลี่ยนมาใช้โมเดลต้นทุนผันแปรกับทุกด้านของธุรกิจเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น พร้อมกับย้ายแอพพลิเคชันต่างๆ ขึ้นไปไว้บนระบบคลาวด์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและเชื่อมต่อกับระบบ multicloud และระบบอื่นๆ ขององค์กรได้อย่างไม่มีสะดุด โดยที่องค์กรไม่ต้องปวดหัวกับการบริหารระบบคลาวด์ที่ต่างกันไปของแต่ละเวนเดอร์ องค์กรควรจ้างทีมงานมืออาชีพเข้ามาดำเนินงานในส่วนที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญของธุรกิจ และปรับการทำงานของธุรกิจหลักให้เป็นแบบอัตโนมัติเพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างไม่มีสะดุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการให้บริการลูกค้า การรับประกัน และการเรียกร้องสิทธิ์
- โอกาสใหม่ๆ ในการเข้าซื้อกิจการได้ถือกำเนิดขึ้น บริษัทต่างๆ จะมีแนวทางในการรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับสถานะเงินสดและเครดิตของตน ซึ่งการควบรวมและการซื้อกิจการจะไม่มุ่งกลุ่มเป้าหมายอย่างแต่ก่อน แต่จะหันไปให้ความสนใจกับการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการและการบูรณาการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งระยะเวลาคืนทุนที่ต้องการยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 2 ปีด้วย
- โอกาสที่จะถูกโจมตีด้านความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น การเตรียมระบบให้พนักงานสามารถทำงานทางไกลได้อย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของวิกฤติอาจทำให้องค์กรต้องเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆ และบ่อยครั้งที่ต้องนำการจัดการด้านความปลอดภัยเข้ามาเพิ่มเติมภายหลัง (bolt-on security arrangements) ดังนั้น องค์กรควรแน่ใจว่าได้ปรับปรุงแนวทางด้านความปลอดภัยให้ทันสมัยเพื่อครอบคลุมทุกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานและกฎเกณฑ์ทางธุรกิจต่างๆ
เชื่อว่าในที่สุดแล้วเราจะสามารถเอาชนะวิกฤติโควิด-19 ได้ และเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง ชีวิตและธุรกิจจะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป บริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบจะเป็นผู้ที่รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและมีความสามารถในการฟื้นตัวเร็วมากขึ้นอีกด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา