โควิดรอบ 3 กระทบตลาดอสังหาฯ: บ้านทาวน์เฮาส์ใกล้โรงงานโดนหนักสุด ยอดโอนหายสูงสุดเกือบ 90%

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 3 เริ่มกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยอดโอนกรรมสิทธิ์เริ่มลดลง ในขณะที่คอนโดสร้างใหม่ยังล้นตลาด แม้จะมีการเปิดตัวคอนโดใหม่น้อยลงแล้วก็ตาม

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้ทำการเปิดเผยบทวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 พบว่าเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เห็นได้จากอัตราการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลง

ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีทั้งการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายในปี 2564 การติดเชื้อโควิด-19 ที่กระจายเพิ่มในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กลุ่มกำลังซื้อใหม่ยังมีอัตราการว่างงานสูง กลุ่มกำลังซื้อต่างชาติที่ยังไม่กลับมาในปีนี้ หรือการอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น จะเป็นอุปสรรคที่ชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตลาดมีแนวโน้มหดตัวลงเป็นกลุ่มกำลังซื้อที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเกิดการแข่งขันแย่งตลาดที่ยังมีกำลังซื้อดังกล่าว

ยอดโอนกรรมสิทธิ์เปรียบเทียบระหว่างไตรมาส 1 ปี 2563 และ 2564

บ้านทาวน์เฮ้าส์ใกล้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนัก

ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด มียอดโอนกรรมสิทธิ์ลดลงถึง 88% ในจังหวัดนครปฐม 45% ในจังหวัดสมุทรสาคร และ 28% ในจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนในทาวน์เฮาส์ในกรุงเทพฯ มียอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลงเพียง 10% ในขณะที่บ้านเดี่ยวยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นถึง 35%

ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์ที่ลดลงนี้ แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของลูกค้าที่เป็นพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง จากรายได้ที่ไม่แน่นอน และการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ในกลุ่มโรงงาน โดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์ที่มีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท

จำนวนยูนิตของโครงการเปิดใหม่ ทั้งบ้านแนวราบ และคอนโดมิเนียม

นอกจากยอดการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว การเปิดตัวโครงการใหม่ก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีที่อยู่อาศัยใหม่เปิดตัวเพิ่ม 12,985 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงถึง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เมื่อเจาะลึกลงไปเพิ่ม จะพบว่าที่อยู่อาศัยใหม่ที่เปิดตัวเพิ่มในปีนี้ แบ่งเป็น

    • คอนโดมิเนียม 5,857 ยูนิต ลดลง 15%
    • ทาวน์เฮ้าส์ 4,159 ยูนิต ลดลง 56%
    • บ้านเดี่ยว 1,274 ยูนิต ลดลง 44%

หมายเหตุ: เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2563

ด้านคอนโดมิเนียมแม้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มถึงถึง 5,857 ยูนิต แต่ก็นับว่าลดลงถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีคอนโดมิเนียมใหม่ 6,919 ยูนิต ซึ่งคอนโดมิเนียมเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเมื่อปีที่แล้ว

ช่วงราคาของที่อยู่อาศัยที่ขายดี และจำนวนของยูนิตที่เปิดใหม่

ในด้านราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่ขายดี ทาวน์เฮาส์ที่ขายดีจะมีราคาอยู่ที่ 3-4 ล้านบาท (ทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น) และ 5-7 ล้านบาท (ทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น)

บ้านแฝดนอกเมือง มาแทนบ้านเดี่ยวที่ราคาสูงเกิน 10 ล้านบาทไปแล้ว

ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 บ้านเดี่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 1,274 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 44% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสินค้าชนิดอื่นทดแทนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากระดับราคาที่เพิ่มขึ้น

ที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมทดแทนบ้านเดี่ยว คือบ้านแฝดในระดับราคา 5-7 ล้านบาทในพื้นที่นอกเมือง แทนบ้านเดี่ยวในทำเลเดียวกันที่มีราคา 8-10 ล้านบาท ในขณะที่บ้านแฝดราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ก็ขายดีกว่าบ้านเดี่ยวในระดับราคาเท่าๆ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทำเลยอดนิยมของบ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ ที่ได้รับความนิยม มีจำนวนบ้านใหม่มากที่สุด คือพื้นที่ฝั่งตะวันออก และทางเหนือของกรุงเทพฯ เช่น บางนา-ศรีนครินทร์ รามอินทรา รังสิต-ลำลูกกา (ไม่เกินแนววงแหวนตะวันออก)

คอนโดราคาไม่เกิน 2 ล้านยังขายได้ สะท้อนกำลังซื้อที่เปลี่ยนไป

ในขณะที่ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ที่ยังขายดีอยู่ คือคอนโดมิเนียมในระดับราคา 1-2 ล้านบาท (สัดส่วน 17.3%) ระดับราคา 2-3 ล้านบาท (สัดส่วน 20.4%)

ระดับราคาของคอนโดมิเนียมที่ขายดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในช่วง 1 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มหดตัวลง เปลี่ยนเป็นกำลังซื้อเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

นอกจากนี้ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ยังระบุด้วยว่า ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายในปี 2564 การติดเชื้อโควิด-19 ที่กระจายเพิ่มในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กลุ่มกำลังซื้อใหม่ยังมีอัตราการว่างงานสูง กลุ่มกำลังซื้อต่างชาติที่ยังไม่กลับมาในปีนี้ หรือการอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น จะเป็นอุปสรรคที่ชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตลาดมีแนวโน้มหดตัวลงเป็นกลุ่มกำลังซื้อที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเกิดการแข่งขันแย่งตลาดที่ยังมีกำลังซื้อดังกล่าว

ที่มา – ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา