ผู้เชี่ยวชาญเผยโรงหนังในยุคโควิดอาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่อย่าประมาทต้องป้องกันตัว

ในช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ บางวันไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม กิจการ ร้านค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าเริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

โรงหนัง
ภาพจาก pixabay.com

โรงภาพยนตร์ก็เป็นอีกหนึ่งกิจการที่ได้รับอนุญาตให้เปิดให้บริการได้ตามปกติแล้วเช่นกัน แต่ยังจำเป็นต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จัดที่นั่งให้มีความห่างกันมากกว่าปกติ รวมถึงจำกัดจำนวนผู้ชมที่จะเข้าไปในโรงภาพยนตร์

แม้ว่าโรงภาพยนตร์จะเริ่มเปิดให้บริการแล้ว แต่เชื่อว่าหลายๆ คนอาจเกิดคำถามว่า การไปโรงภาพยนตร์จะมีความปลอดภัยหรือไม่? แม้จะมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญชี้โรงภาพยนตร์ความเสี่ยงอาจน้อย แต่ก็ไม่ปลอดภัย 100%

Hitoshi Oshitani นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัย Tohoku ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในเมืองเซ็นได ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าสถานที่ที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดส่วนใหญ่แล้วจะเป็น ฟิตเนส ผับ สถานที่จัดแสดงดนตรีสด ห้องร้องคาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีลักษณะสำคัญคือ เป็นสถานที่ๆ คนจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อทานอาหาร ดื่ม พูดคุย ร้องเพลง ออกกำลังกาย หรือเต้นด้วยกันในระยะเวลานานมากกว่า

แม้ว่า Oshitani จะไม่ได้กล่าวถึงโรงภาพยนตร์โดยตรง แต่โรงภาพยนตร์โดยปกติแล้วไม่ใช่สถานที่ที่คนจะเข้าไปพูดคุยกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างจริงจัง ในต่างประเทศโรงภาพยนตร์ก็ไม่ใช่สถานที่ที่มีความเสี่ยงมากอยู่แล้ว เพราะการทำกิจกรรมอื่นๆ อาจมีความเสี่ยงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนก็ยังคงยืนยันว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากโรงภาพยนตร์ก็ยังคงมี ไม่ใช่ไม่มีความเสี่ยงเลยแต่อย่างใด

ภาพจาก Unsplash โดย Krists Luhaers

Jade Flinn อาจารย์จากมหาวิทยาลัย John Hopkins Medical เชื่อว่า การนั่งดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และไม่ได้พูดคุยกับใครเลย ปลอดภัยกว่าการทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก และมีการพูดคุยกันตลอดเวลา

นอกจากนี้โดยปกติแล้ว การเข้าไปในโรงภาพยนตร์มักมีการเดินเข้า-ออกเพียงทางเดียวอยู่แล้ว ตราบใดที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 ได้

แต่ Flinn ยังเสริมด้วยว่าแค่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องมีมาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การวิเคราะห์ทิศทางของลมที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศ เพื่อตรวจสอบว่าอากาศจะมีการไหลเวียนภายในโรงภาพยนตร์อย่างไร และจัดที่นั่งให้สอดคล้องกับการไหลเวียนของอากาศด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองสารคัดหลั่งพัดกระจายไปโดยผู้ชมคนอื่นๆ ในโรงภาพยนตร์โดยตรง

ที่มา – Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา