โรคระบาด อุปสรรคสำคัญวงการรีไซเคิล: เมื่อพลาสติกรีไซเคิลราคาแพงกว่าพลาสติกผลิตใหม่

ที่ผ่านมาทั่วโลกมีความพยายามที่จะหาทางกำจัดขยะพลาสติก ด้วยวิธีการรีไซเคิลมาอย่างยาวนาน แต่สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาการรีไซเคิลขยะพลาสติกกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีก ทั้งกระบวนการรีไซเคิล รวมถึงปริมาณพลาสติกใหม่ที่ผลิตออกมา

ภาพจาก Shutterstock

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหนึ่งในตัวเร่งให้ปริมาณการใช้พลาสติกใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งหน้ากากอนามัย, ถุงมือ, Face Shield รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับบริการเดลิเวอรี ที่ต้องใช้พลาสติกจำนวนมาก โดยพลาสติกเหล่านี้ บางส่วนไม่ได้รับการนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

แต่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่การเพิ่มปริมาณการใช้พลาสติกเท่านั้น เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณความต้องการการใช้น้ำมันลดลง ยิ่งทำให้ราคาพลาสติกใหม่ถูกลง เมื่อเทียบกับพลาสติกที่ได้รับการรีไซเคิล และเตรียมนำมาใช้ซ้ำ

นับตั้งแต่ปี 1950 โลกได้ผลิตขยะพลาสติกไปแล้วประมาณ 6.3 พันล้านตัน โดยกว่า 91% ของขยะพลาสติกเหล่านี้ ไม่ได้รับการรีไซเคิล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลาสติกเหล่านี้ ยากต่อการรีไซเคิล และต้องอาศัยความช่วยเหลือของรัฐบาล ทำให้ราคาพลาสติกใหม่ ถูกกว่าราคาพลาสติกที่ได้รับการรีไซเคิลมาแล้วเกือบครึ่ง ยิ่งถ้าเป็นขวดพลาสติกสำหรับใส่น้ำดื่มที่ได้รับการรีไซเคิล จะมีราคาสูงกว่าขวดพลาสติกใหม่ประมาณ 83-89%

เมื่อความต้องการน้ำมันลด ความหวังอยู่ที่การผลิตพลาสติกใหม่

ไม่ใช่แค่สถานการณ์โควิด-19 เท่านั้นที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงเช่นกัน ความหวังใหม่ของอุตสาหกรรมน้ำมันจึงอยู่ที่การผลิตพลาสติกใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการน้ำมันในอนาคต

เพราะสัดส่วนความต้องการปริมาณน้ำมันของอุตสาหกรรมขนส่ง คิดเป็นสัดส่วน 90% ในปี 2018 และจะลดลงเหลือเพียง 20% ภายในปี 2050

ภาพจาก Shutterstock

รีไซเคิล กระบวนการที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ความท้าทายอย่างหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกคือ ในทวีปยุโรปความต้องการพลาสติกรีไซเคิลจากบรรจุภัณฑ์ ลดลงเหลือเพียง 30% ในช่วงไตรมาส 2 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะการที่คนอยู่ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการรีไซเคิลมากขึ้น

ในอีกทางหนึ่งกระบวนการรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องง่าย อุตสหกรรมที่ผลิตขยะพลาสติก ก็ต้องการบริษัทที่สามารถจัดการขยะพลาสติกนั้นด้วยการรีไซเคิลด้วยเช่นกัน

Coca-Cola หนึ่งในบริษัทที่ผลิตขยะพลาสติกจำนวนมาก เล่าว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา Coca-Cola ไม่สามารถสามารถทำตามเป้าหมายการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศอังกฤษ ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนด้าน Nestle เล่าว่า Nestle ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อพลาสติกที่ได้รับการรีไซเคิล ในราคาที่สูงกว่าการซื้อพลาสติกใหม่

แม้ว่าบริษัทหลายๆ แห่งมีความพยายามที่จะลงทุนพัฒนากระบวนการที่จะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกรีไซเคิลด้วยเงินลงทุนมหาศาล แต่จากการศึกษาของ Pew Trust พบว่า ขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเล จะเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านตัน เป็น 29 ล้านตัน ภายในปี 2040

นอกจากนี้หน่วยงาน NGO หลายแห่งทั่วโลก ได้มีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานที่จะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศกำลังพัฒนา อย่างที่ประเทศกานา มีความพยายามสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้หญิง ผ่านการเก็บขยะพลาสติกและนำไปรีไซเคิลได้ถึง 35 ตัน ในเดือนมีนาคม 2017

แต่อย่างไรก็ตามปริมาณขยะพลาสติก 35 ตันนี้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.01% ของขยะพลาสติกที่กานาผลิตขึ้นทั้งปี และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของปริมาณขยะพลาสติกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งให้ประเทศกานา

ที่มา – japantoday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา