ปิดเมืองไม่ช่วยอะไร โควิด-19 ในอินเดียยังน่าห่วง หลังผู้ป่วยสะสมทะลุ 1 แสนคนแล้ว

หนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดควิด-19 ที่ได้ผลที่สุด คือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งต้อทำควบคู่กับการล็อคดาวน์ประเทศ หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในที่ที่มีคนจำนวนมาก

มุมไบ เป็นเมืองที่มีประชากรเกือบ 20 ล้านคน ภาพจาก Shutterstock

แต่ดูเหมือนว่ามาตรการล็อคดาวน์อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ในการลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสมอไป เพราะที่ประเทศอินเดียสถานการณ์โควิด-19 ยังคงเลวร้าย แม้จะประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอินเดียล่าสุด มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 100,161 คน เสียชีวิต 3,144 คน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 5,242 คนภายในวันเดียว นับเป็นสถิติผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงที่สุดในรอบวัน

หากจำนวนผู้ป่วยในอินเดียยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ จะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 สูงที่สุดในเอเชีย รองจากประเทศอิหร่านเพียงประเทศเดียวเท่านั้น

มาตรการล็อคดาวน์ของประเทศอินเดียได้รับการต่ออายุเพิ่มเรื่อยๆ มาหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดมาตรการล็อคดาวน์จะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

ความแออัดของสถานีรถไฟในมุมไบ ประเทศอินเดีย ภาพจาก Unsplash โดย Smith Mehta

เมืองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คือเมืองมุมไบ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อคิดเป็น 20% และ ผู้เสียชีวิตอีกกว่า 25% อยู่ในมุมไบ ซึ่งสถานการณ์ดูเหมือนจะไม่ดีนัก เพราะโรงพยาบาลในมุมไบไม่สามารถรับคนไข้ได้เพิ่มอีกแล้ว ส่วนการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็ทำได้ยาก เพราะประชากรส่วนใหญ่ในมุมไบ ต้องอยู่รวมกันในบ้านด้วยความแออัด

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่โควิด-19 จะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของอินเดียได้ง่าย เพราะมุมไบมีแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานจากที่อื่นเข้ามาทำงานกว่า 40 ล้านคน เมื่อมีมาตรการล็อคดาวน์ ธุรกิจบางประเภทไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ แรงงานเหล่านี้จึงต้องเดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อโควิด-19 ไปสู่ชนบทได้ง่ายๆ

ในขณะนี้รัฐบาลอินเดียเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์บางอย่างแล้ว โดยอนุญาตให้ภาคการเกษตร ร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงธุรกิจ E-Commerce เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแล้ว แต่ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และการเดินทางโดยเครื่องบินทั้งหมด ยังไม่สามารถทำได้ต่อไป

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา