ด้วยการเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ฟินเทคสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาใหม่จำนวนมาก ซึ่งฟินเทคส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาพร้อมคอนเซปต์บริการทางการเงินทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใช้ และมักจะชูจุดขายที่ต้นทุนถูกกว่าเพราะไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหมือนธนาคารในรูปแบบดั้งเดิม
จุดที่น่าสนใจคือ ฟินเทคสตาร์ทอัพเกือบทั้งหมดนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งมักจะเป็นหลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 เท่ากับว่าสตาร์ทอัพด้านการเงินแทบทั้งหมดไม่เคยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่จริงๆ เลย ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจาก COVID-19 จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทดสอบบริษัทฟินเทคเหล่านี้
Alex Kern นักวิเคราะห์ฟินเทคจาก CB Insights ระบุว่าปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของธนาคารดิจิทัลนั้นมาจากค่าธรรมเนียมการใช้บัตร ซึ่งมาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้ใช้โดยตรง อธิบายได้ง่าย ๆ ว่าถ้าผู้ใช้พร้อมจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น บริษัทเหล่านี้ก็มีรายได้มากขึ้น และแน่นอนว่าในช่วงเศรษฐกิจขาลง สิ่งเหล่านี้ก็ลดลงอย่างชัดเจน
ยิ่งช่วงนี้ที่คนไม่กล้าออกจากบ้านไปจับจ่ายใช้สอย ทั้งร้านอาหาร การท่องเที่ยว หรือใช้จ่ายต่างประเทศ บริษัทฟินเทคที่มีรายได้จากสิ่งเหล่านี้จึงต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยด้านเครดิตก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อของฟินเทคมักจะเป็นลูกค้าที่ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อจากธนาคาร อย่างเช่นสตาร์ทอัพระบบชำระเงิน Square นำข้อมูลธุรกรรมมาทำเป็นโมเดลด้านเครดิตและพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้ร้านค้าขนาดเล็ก เป็นต้น
โดยมากฟินเทคมักจะใช้ข้อมูลในการพิจารณาให้สินเชื่อ ดังนั้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ก็ถือเป็นบททดสอบที่น่าสนใจว่าการปล่อยสินเชื่อจะมีคุณภาพดังที่บริษัทเหล่านี้โฆษณาไว้หรือไม่
จุดขายที่สำคัญอีกข้อของฟินเทคโดยเฉพาะธนาคารแบบไม่มีสาขา คือการให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารใหญ่ของสหรัฐฯ ทำให้คนหันมาฝากเงินกับธนาคารในรูปแบบใหม่เยอะขึ้น แต่ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ลูกค้าย่อมไม่มั่นใจในบริษัทฟินเทคและกำลังหาช่องทางฝากเงินที่เหมาะสม โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าปลอดภัยกว่าฟินเทคแม้ว่าจะให้ดอกเบี้ยต่ำกว่ามากก็ตามที
Julie Chariell นักวิเคราะห์ฟินเทคและระบบจ่ายเงินอาวุโสจาก Bloomberg Intelligence ให้ความเห็นว่า นี่ถือเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทฟินเทคว่าจะยังคงสามารถจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงได้อยู่หรือไม่ แม้ว่าฟินเทคจะมีต้นทุนต่ำกว่าเพราะไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสาขาและพนักงานจำนวนมาก แต่ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในขาลงแรงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาดอกเบี้ยในอัตราเดิมไว้ได้
ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ลงมาจนถึงอัตรา 0-0.25% แล้ว
ธนาคารก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน
แม้ว่าฟินเทคจะต้องพบกับบททดสอบเรื่องโมเดลในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างออกไปจากธนาคารดั้งเดิม แต่ตัวธนาคารเองในยุคเศรษฐกิจตกต่ำนี้ก็ต้องปรับตัวไม่น้อยเหมือนกัน
สิ่งที่ธนาคารต้องพบในยุคของเศรษฐกิจตกต่ำจาก COVID-19 อาจไม่ใช่ปัญหาของความแข็งแกร่ง แต่เป็นเรื่องความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่ไวรัสระบาดจนต้องสั่งปิดเมือง ธนาคารคงเห็นความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีภายในกิจการมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เราน่าจะได้เห็นการลงทุนในเทคโนโลยีของธุรกิจธนาคารคงจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนและเร็วขึ้นกว่าเดิมอีกมาก
สรุป
ฟินเทคสตาร์ทอัพส่วนมากมักจะเกิดขึ้นมาในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้ยังไม่เคยถูกทดสอบด้วยวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่เลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทจะต้องผ่านการทดสอบในช่วงนี้ไปด้วยกัน และจะเป็นตัวชี้วัดได้ชัดเจนว่าโมเดลของใครเวิร์คหรือไม่เวิร์ค
เรียบเรียงจาก Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา