โควิด-19 ทำไทยสาหัส อาจสูญรายได้ท่องเที่ยวกว่า 5 แสนล้าน เลิกจ้างกว่า 1 ล้านคน

ผลกระทบจากโควิด-19 ยังสะเทือนไทยรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งสุขภาพของคน หน้าที่การงาน การบิน การท่องเที่ยว ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวทางอ้อม ภาคการผลิต และพนักงานที่ทำงานสายนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าสถานการณ์ระบาด COVID-19 ภายนอกจีน ส่งผลกระทบต่อการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากยุโรปและประเทศอื่น

มกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563

  • มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.87 ล้านคน หดตัว 19.80% YoY
  • รายได้จากการท่องเที่ยว 0.29 ล้านล้านบาท หดตัว 23.16% YoY
  • นักท่องเที่ยวไทย 20.22 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 15.60% จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการท่องเที่ยว 0.15 ล้านล้านบาท หดตัว 19.03% YoY

กุมภาพันธ์ 2563

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.06 ล้านคน หดตัว 42.78% สร้างรายได้ 0.10 ล้านล้านบาท หดตัว 43.90% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
  • ขณะที่รายได้นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวน 8.09 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 28.32% รายได้ 0.06 ล้านล้านบาท หดตัว 35.80% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
  • รายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 0.16 ล้านล้านบาท หดตัว 43.56% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราการขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก “ไทยเที่ยวไทย” คือหนึ่ง จันทบุรี +16.10% กาฬสินธุ์ +8.32% นครพนม +7.53%

สถานการณ์ท่องเที่ยว “ต่างชาติเที่ยวไทย” เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มี 5 อันดับแรก ดังนี้

  • รัสเซีย 214,315 คน อัตรา +11.88% (YoY)
  • มาเลเซีย 196,099 คน อัตรา -39.61%
  • จีน 160,564 คน อัตรา -84.92%
  • ลาว 136,089 คน อัตรา -0.86%
  • ญี่ปุ่น 136,045 คน อัตรา -15.94%

อัตราการหดตัวของนักท่องเที่ยวในไทย 5 อันดับแรก

  • จีน 160,564 คน -84.92%
  • เกาหลีใต้ 50,549 คน -72.59%
  • ยูเออี 1,368 คน -71.66%
  • คูเวต 1,716 คน -62.26%
  • ฮ่องกง 36,403 คน -54.80%

ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการระบาดของโรค COVID-19

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศลดลง ส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสายการบินที่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลักได้รับผลกระทบวงกว้าง

องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่ารายได้ของสายการบินต่างๆ ทั่วโลกจะขาดหายไปประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.63 แสนล้านบาท) จากการลดจำนวน/ ระงับเส้นทางบินสู่จีน นับตั้งแต่การระบาดของโรค COVID-19 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มีสายการบิน 70 แห่ง ยกเลิกเส้นทางบินสู่จีน และอีกประมาณ 50 แห่ง ลดจำนวนเที่ยวบินไปจีน คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารราว 20 ล้านคน

สายการบินที่จะได้รรับผลกระทบมากที่สุด 2 อันดับแรก คือสายการบินของญี่ปุ่นและสายการบินของไทย จะสูญเสียรายได้ราว 1.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.21 หมื่นล้านบาท) และ 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ (3.76 หมื่นล้านบาท)

ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีอัตราการเปลี่ยนแปลงการเข้ใช้บริการของผู้โดยสารเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวทั้ง 4 ท่าอากาศยาน ดังนี้

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารหดตัว 85.5% YoY
  • ท่าอากาศยานดอนเมือง หดตัว 52.6%
  • ท่าอากาศยานภูเก็ต หดตัว 34.6%
  • ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หดตัว 69.3%

The Economist Intelligence Unit (EIU) ประเมินว่า การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้าหรือปี 2021 ส่งผลให้โลกสูญรายได้มากถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนน้อยลงราว 30-40% สูญรายได้ราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2.18 แสนล้านบาท)

สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยวได้ประมาณการผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจาก COVID-19 โดยกำหนดระยะเวลาการระบาดให้สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2563

จากการวิเคราะห์บัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Sattellite Account: TSA) คาดว่าตลอดปี 2563 ผลกระทบทางตรง (Direct Impact) เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับ ประกอบด้วย ธุรกิจสถานพักแรม ธุรกิจการผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการอาหาร/ เครื่องดื่ม

ภาพจาก Shutterstock

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการผลิตที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว (Indirect Impact) มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับ ประกอบด้วย ธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การผลิตภาคเกษตร ธุรกิจค้าปลีก/ส่ง ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีผลทำให้มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดลงไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

อาจทำให้เกิดการเลิกจ้าง/ การขาดรายได้ของแรงงานภาคการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวอีกกว่า 1.3 ล้านคน โดยรวม ผลกระทบที่ทำให้แรงงานถูกเลิกจ้าง/ ขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคน

ทั้งนี้ รัฐมีมาตรการรองรับผลกระทบการระบาดของ COVID-19 ได้แก่ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย มาตรการเยียวยาจากสภาวะวิกฤต มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว

มาตรการที่ช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจการท่องเที่ยว ประกอบด้วย มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของกรมสรรพากร มาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงินกู้ของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ที่มา – กองเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกีฬา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์