โควิด-19 กระแทกเศรษฐกิจแรง SCB EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 หดตัวที่ -0.3%

หลังโควิด-19 มีความรุนแรง กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาด การระบาดเริ่มที่จีนแพร่กระจายไปที่อื่นของโลกอย่างรวดเร็ว ล่าสุด องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระาดของโควิด-19 อยู่ในระดับ pandemic

ด้วยเหตุนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกขึ้น ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศหลักที่ได้รับผลจากโควิด-19 ความมั่งคั่งที่ลดลง สะท้อนจากการลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก

ปัญหาด้าน supply chain disruption ราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างมากจากสงครามราคาระหว่างประเทศ ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ผลบวกต่อการใช้จ่ายในประเทศที่นำเข้าน้ำมันจะมีน้อยกว่าปกติจากความกังวลต่อโควิด-19

EIC คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2563 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3% หลายประเทศมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี เช่น ญี่ป่น อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฮ่องกง เป้นต้น

ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นจากความผันผวนของตลาดเงินและการปรับลดอย่างรุนแรงของดัชนีตลาดหุ้นทั่วดลก ทำให้ EIC มองว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น Fed น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 75-100 bps อยู่ที่กรอบ 0-0.25% ECB น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย deposit facility rate ลงอีก 10 bps อยู่ที่ -0.6% และ BOJ อาจเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETF และปรับให้ยืดหยุ่นในการซื้อมากขึ้น

เศรษฐกิจไทย โควิด-19 จะกระทบผ่าน 3 ช่องทางหลักคือ การท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ โดยระดับของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับสมมติฐานของสถานการณ์ระบาดโควิด-19

EIC ประเมินสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในกรณีฐาน (Base case scenario) โดยสมมติฐานว่า

  • สำหรับการระบาดในจีน กรเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อมีจุดสูงสุดเดือนกุมภาพันธ์ และจะถูกควบคุมได้ ส่วนสถานการณ์ระบาดนอกจีน (รวมไทยด้วย) จะมีความรุนแรงมากสุดในช่วงต้นไตรมาส 2 และจะถูกควบคุมช่วงต้นไตรมาส 3 ปีนี้
  • กรณีของไทย มีข้อสมมติฐานว่า ไม่มีการ lockdown (ปิดเมือง) ในวงกว้าง EIC ประเมินดังนี้

การท่องเที่ยวหดตัว EIC คาดว่านักท่องเที่ยวทั้งปี 2563 เหลือเพียง 27.7 ล้านคน (-30.5%YOY) จะมีหดตัวมากสุดที่ -75%YOY ช่วงเมษายน และปรับตัวดีขึ้นช้าๆ จากนั้น จนกลับสู่ระดับเทียบเท่าปี 2562 (0%YOY) เดือนตุลาคม นอกจากนี้ คาดว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาสินค้า บริการด้านท่องเที่ยว มีแนวโน้มซบเซา

การส่งออกหดตัว มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับลด 5.8% จากปีก่อนหน้า จากผลกระทบโควิด-19 ราคาน้ำมันที่ลดลงมากทำให้ราคาสินค้าส่งออกในหมวดน้ำมันและปิโตรเคมีลดลงตาม ปัญหา supply chain disruption ที่เกิดการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าในประเทศ ได้รับผลกระทบ

ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตด้วย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทย 2 ประเด็น

  • ไทยจะส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางบางประเภทลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็ก สินค้าเกษตร ประเทศเหล่านั้นมีการหยุดชะงักของผลิตสินค้า จึงลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทย
  • ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออกบางประเภท เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศเหล่านั้น

การใช้จ่ายในประเทศลดลง นอกเหนือจากรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่โน้มลดลงจากผลของโควิด-19 การใช้จ่ายในประเทศจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความกังวลและตื่นกลัวกับสถานการณ์แพร่ระบาด ทำให้เกิดการลดการเดินทางท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมชนที่มีคนจำนวนมาก

รวมถึงการลดหรือเลื่อนกิจกรรมงานสังสรรค์ งานนิทรรศการต่างๆ ตัวเลขการใช้จ่าย online จะสูงขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายที่ลดลงได้ทั้งหมด

โดยรวม EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็นหดตัวที่ -0.3% (จากเดิมที่ 1.8%) เป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด technical recession ช่วงครึ่งแรกของปี ไตรมาส 1-2 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวทั้งในแบบ %YOY และ %QOQ sa เนื่องจากมีหลายปัจจัยรุมเร้า ได้แก่ การหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และภาคส่งออกที่จะส่งผลให้รายได้และการจ้างงานภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง

ภัยแล้งรุนแรงกว่าปกติ กระทบต่อรายได้ของภาคเกษตร และงบประมาณภาครัฐที่มีแนวโน้มเบิกจ่ายต่ำในช่วงไตรมาสแรก ความล่าช้าจากการอนุมัติงบประมาณรายจ่าย

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ EIC มองว่า กนง. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25bps) ในการประชุม 25 มีนาคม 2563 นี้ จากผลกระทบอย่างรุนแรงของโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีประกอบอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไทยในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ทำให้ความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในระยะข้างหน้าสูงขึ้น กนง. อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมสอดคล้องกับธนาคารกลางอื่นๆ

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์