โควิด-19 กระทบรายได้โรงพยาบาลเหมือนกัน: โดยเฉพาะรายได้จากคนป่วยต่างชาติ

หลังจากที่โควิด-19 ระบาดจากจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 (ปี 2562) ที่ผ่านมา ไทยเคยคุมโรคระบาดได้ค่อนข้างดีแม้จะสวนทางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ประชาชนก็ยอมตกอยู่ในสภาพจำยอมเพราะหวังว่าการจัดการแบบเข้มข้นจะช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว ปัจจุบันนอกจากเศรษฐกิจจะไม่ดีขึ้น สถานการณ์โควิดระบาดยังแย่ลงต่อเนื่อง

จำนวนคนติดเชื้อจากโรคระบาดในไทยเพิ่มขึ้นจากหลักหน่วยเป็นหลักสิบจนกระทั่งปัจจุบันพุ่งสู่หลักหมื่นแล้ว มีจำนวนคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อทุกวัน คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อมีทั้งคนที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคนที่เสียชีวิตจากโรคที่ไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากเตียงผู้ป่วยขาดแคลน อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้าสาหัสจากการรับมือจากโควิด อีกทั้งวัคซีนประสิทธิภาพต่ำที่รับมือไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ ทำให้ด่านหน้าที่ทำหน้าที่รับมือโรคระบาดต้องเสี่ยงเพิ่มขึ้นและยังมีการติดเชื้อโควิดในบุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม แม้จะฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสแล้วก็ตาม 

วัคซีนอาจช่วยบรรเทาอาการ ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง แต่สำหรับคนที่ต้องทำงานรับมือกับโรคระบาดทุกวัน ทั้งวัน ก็ควรจะได้รับวัคซีนประสิทธิภาพสูง เพื่อจะมีศักยภาพมากพอในการรักษาคนป่วยและไม่ทำให้สูญเสียบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติม ขณะเดียวกันจำนวนคนป่วยก็ล้นโรงพยาบาลซึ่งก็มีทั้งคนป่วยที่ติดโควิดและโรคอื่นๆ หากประชาชนได้รับวัคซีนประสิทธิภาพสูงและฉีดได้รวดเร็วครอบคลุมจำนวนประชากรก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และคงไม่มีสถานการณ์รับมือโรคระบาดล้มเหลวเช่นทุกวันนี้ ดูจากสถานการณ์แล้วอาจทำให้ประเมินได้ว่าผลประกอบการโรงพยาบาลต่างๆ น่าจะมีทิศทางบวก เราจึงเลือกตัวอย่างโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์มา 3 แห่ง มาดูกันว่าทั้ง 3 แห่งนี้ได้รับผลกระทบอย่างไรท่ามกลางโควิด-19 ระบาด 

โรงพยาบาลที่เลือกมาเป็นกรณีศึกษาประกอบด้วย BDMS บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน), RAM โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) และ BH บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) 

BDMS บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

BDMS จดทะเบียนจัดตั้ง 30 ตุลาคม 2512 และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2534 จากนั้นจึงจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2537 

BDMS เป็นชื่อย่อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย มีโรงพยาบาลในเครือ 49 แห่งในไทยและในกัมพูชา มีทั้งธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล

BDMS มีธุรกิจหลักคือธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล โดยโรงพยาบาล 6 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ 25 แห่ง 4,063 เตียง, กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช 6 แห่ง 1,364 เตียง, โรงพยาบาลบี เอ็น เอช 1 แห่ง 144 เตียง, กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท 5 แห่ง 1,241 เตียง, กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล 6 แห่ง 1,008 เตียง, กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล 2 แห่ง 130 เตียง, กลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่น 4 แห่ง 627 เตียง รวมทั้งหมด 8,577 เตียง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล มีทั้งธุรกิจด้านสุขภาพเชิงป้องกัน ผลิตและจำหน่ายยา น้ำเกลือ วัสดุทางการแพทย์ ขายยาและเวชภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ บริการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ ฯลฯ

BDMS มีกลุ่มคนป่วยหลายกลุ่มด้วยกัน มีทั้งคนป่วยที่มารักษาด้วยสิทธิประกันสังคม คนป่วยที่มีรายได้ปานกลาง รายได้สูงและคนป่วยจากต่างประเทศ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 370,283.64 ล้านบาท (ณ วันที่ 16/07/2021)

  • ปี 2017 รายได้รวมอยู่ที่ 72,772 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 6% เทียบจากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีคนป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศมาใช้บริการเพิ่มขึ้น กำไรสุทธิ 10,216 ล้านบาท
  • ปี 2018 รายได้รวมอยู่ที่ 79,333 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้าเนื่องจากฐานคนป่วยเพิ่มขึ้น คนป่วยที่มารักษาด้วยสิทธิประกันก็เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีไข้หวัดใหญ่ระบาดในช่วงไตรมาสแรกปี 2018 กำไรสุทธิ 9,191 ล้านบาท
  • ปี 2019 รายได้รวม 83,774 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 7% เทียบจากปีก่อนหน้าเนื่องจากฐานลูกค้าที่รักษาด้วยสิทธิประกันเพิ่มขึ้น 12% เทียบกับปีก่อนหน้า กำไรสุทธิ 15,517 ล้านบาท
  • ปี 2020 รายได้รวม 69,057 ล้านบาท รายได้จากผู้ป่วยต่างประเทศลดลง 43% คนป่วยไทยก็ลดลง 8% เทียบกับปีก่อนหน้า กำไรสุทธิอยู่ที่ 7,214 ล้านบาท

ปี 2019 โควิดเริ่มระบาดปลายปีที่จีน

ปี 2019 นี้เป็นปีที่โควิดเริ่มระบาดปลายปีครั้งแรกของโลกในจีน เมื่อเทียบรายได้กับปี 2018 รายได้จากการดำเนินการอยู่ที่ 78,288 ล้านบาทเพิ่มเป็น 83,774 ล้านบาทในปี 2019

รายได้การดำเนินการของ BDMS เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับปีก่อนหน้า กล่าวคือรายได้จากผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 7% YOY โดยมีรายได้จากคนป่วยจากประกันภัยเพิ่มขึ้น 12% เทียบจากปีก่อนหน้า (คนป่วยที่มีประกันในไทยเติบโต 13% ขณะที่ต่างชาติเติบโตอยู่ที่ 11%) และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโรงพยาบาลนอกกรุงเทพฯ ราว 9% YOY โดยรวม รายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของคนป่วยทั้งไทยและต่างชาติ

รายได้ในส่วนของคนป่วย แบ่งเป็นคนป่วยไทยอยู่ที่ราว 70% คนป่วยต่างประเทศราว 30% สัดส่วนคนป่วยไทยและเทศในปี 2018 และปี 2019 อยู่ในอัตราที่เท่ากัน อัตราคนป่วยไทยที่มาใช้บริการ BDMS อยู่ที่ 69.5% ส่วนคนป่วยจากต่างประเทศ 5 อันดับแรกคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 2.4% ตามด้วยญี่ปุ่น 2.3% กัมพูชา 1.8% จีนและสหรัฐอเมริกาเท่ากันอยู่ที่ 1.6% และประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ราว 20.8%

ปี 2019 นอกจากรายได้จากคนป่วยไทยและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 7% แล้ว ยังพบว่า คนป่วยต่างประเทศที่เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มขึ้นถึง 56% โอมาน 56% และกัมพูชาเพิ่มขึ้น 16% เทียบกับปีก่อนหน้า ปีนี้มีคนติดเชื้อในไทยอยู่ที่ 40 คน มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบต่อคนป่วยจาก UAE ที่แบนพลเมืองไม่ให้เดินทางไปอิหร่านและไทย ขณะที่คูเวตระงับเที่ยวบินทั้งหมดมายังไทย เกาหลีใต้ และอิตาลี ส่วนคนจีนถูกจำกัดการเดินทาง

ปี 2020 ผลกระทบหลังโควิดระบาดทั่วโลก

รายได้จากการดำเนินการของ BDMS ในปี 2020 อยู่ที่ 69,057 ล้านบาท ลดลง 18% และลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสแรก จาก 2 หมื่นล้านบาท กำไรลดลง 4% ต่อมารายได้ในช่วงไตรมาส 2 ลดลงอีกเป็น 1.39 หมื่นล้านบาท กำไรลดลงตามอีก 29% จากนั้นในไตรมาส 3 รายได้เริ่มดีขึ้นเป็น 1.69 หมื่นล้านบาท กำไรเริ่มดีขึ้นอยู่ที่ -22% ในไตรมาส 4 ทั้งรายได้และกำไรก็ค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว รายได้อยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านบาท กำไรอยู่ที่ -16%

รายได้จากคนป่วยรายเดือนลดลงต่อเนื่องจาก 3%, 2% ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2020 กลายเป็นลดลงต่อเนื่องในเดือนมีนาคม -18% เดือนเมษายน -38% และค่อยๆ ดีขึ้นแต่ก็ยังลดลงตามกราฟด้านขวาบน รายได้ดังกล่าวที่ลดลงเกิดจากคนป่วยต่างประเทศได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจำกัดไม่มีให้มีการเดินทางเข้าประเทศหลังโควิดระบาด ต่อมา รายได้จากคนป่วยไทยก็เริ่มกลับมาเป็นดีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2020

รายได้จากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบมากกว่าโรงพยาบาลนอกกรุงเทพฯ อีกทั้งคนป่วยในประเทศและคนป่วยต่างประเทศในปี 2020 ก็ลดลงต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่มีจำนวนคนป่วยทั้งจากต่างประเทศและไทยลดลงต่ำสุดพอๆ กับรายได้ก็คือช่วงเมษายน 2020 ที่มีการสั่งล็อคดาวน์ครั้งแรก ห้ามออกนอกเคหสถาน 4 ทุ่มถึงตี 4 และปิดช่องทางเข้าประเทศ งดและชะลอการเดินทางเข้าจังหวัด

ปี 2020 พบว่ารายได้จากคนป่วยต่างประเทศลดลง 43% เทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่คนป่วยชาวไทยก็ลดลง 8% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยคนป่วยจากต่างประเทศแถบตะวันออกกลางลดลง 78% เทียบกับปีก่อนหน้า คนป่วยจากเมียนมาลดลง 70% คนป่วยจากออสเตรเลียลดลง 57%

ปี 2021 โควิดระบาดในไทยอย่างหนักหน่วง

รายได้จากการดำเนินการไตรมาส 1 อยู่ที่ 16,281 ล้านบาทลดลง 19% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยรายได้จากคนป่วยลดลง 19% YOY เนื่องจากโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้คนป่วยมีจำนวนลดลงทั้งสองรูปแบบคือ OPD (ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและกลับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัว) และ IPD คือคนป่วยที่เข้ารักการรักษาในโรงพยาบาลโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง) รายได้จากคนป่วยต่างประเทศลดลงเพราะมาตรการจำกัดการเดินทางตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2020

รายได้ของ BDMS ไตรมาส 1 ปี 2021 รายได้จากคนป่วยไทยลดลง 7% ขณะที่คนป่วยต่างประเทศลดลง 49% เทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนรายได้รายไตรมาส รายได้จากคนป่วยไทยลดลง 13% ขณะที่รายได้จากคนต่างประเทศลดลง 2% เทียบรายไตรมาส ส่วนรายได้จากคนป่วยตะวันออกกลางและจีนเติบโตเชิงบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2020

ขยายฐานลูกค้าเพิ่มโปรโมชั่นดึงดูด ทั้งแพคเกจตรวจสุขภาพ ผ่าตัด ส่งอาหาร

รายได้ของปี 2021 นี้ มีการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนที่เป็นลูกค้าโรงพยาบาลและลูกค้ากลุ่มบริษัทในประเทศและ BDMS ยังออกแพคเกจตรวจสุขภาพในราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงโปรโมชั่นด้านอื่น เช่นการผ่าตัด การตรวจคัดกรองโควิด ไปจนถึงการออกแบบอาหารบุคคลเฉพาะโรคที่เสิร์ฟจากโรงพยาบาลของ BDMS เดลิเวอรีถึงบ้านผู้มีปัญหาสุขภาพด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยที่ต้องทานอาหารควบคุมน้ำตาล ไปจนถึงผู้ป่วยโรคหัวใจ

แผนการลงทุนขั้นต่อไปของ BDMS ถัดจากนี้คือ ในปี 2021 กำลังลงทุนเพิ่มเตียงให้กับโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 จำนวน 30 เตียง, ร.พ. กรุงเทพจันทบุรี 96 เตียง, ร.พ. กรุงเทพราชสีมา 166 เตียง, ปี 2022 เพิ่มเตียงโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 จำนวน 59 เตียง, ร.พ. กรุงเทพอุดร 142 เตียง, ปี 2023 เพิ่มเตียงโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 100 เตียง, ร.พ. พญาไท 1 จำนวน 160 เตียง และปี 2024-2025 จะสร้างโรงพยาบาลใหม่คือโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชนานาชาติ 102 เตียง โดยรวมภายในปี 2025 น่าจะมีเตียงทั้งหมดราว 9,500 เตียง

RAM โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน)

โรงพยาบาลรามคำแหงดำเนินการในรูปแบบโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปขนาดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในนาม บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) วันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ปัจจุบันมีเตียงรับรองผู้ป่วย 486 เตียงบนพื้นที่ 36 ไร่ 3 งาน 83 ตารางวา ปัจจุบันมีโรงพยาบาบภายใต้การบริหารของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รวม 11 แห่ง มีโรงพยาลภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือและโรงพยาบาลพันธมิตรกว่า 16 แห่ง รวม 27 โรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วยมากกว่า 4,500 เตียง

RAM ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ ธุรกิจประกอบกิจการสถานพยาบาล, ธุรกิจขายเครื่องมือแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ และบริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ (M.I.CAL.SYSTEM) และการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทในเครือ กิจการสถานพยาบาลคือโรงพยาบาลรามคำแหง ร.พ. เมืองเลยราม ร.พ. ชัยภูมิราม กลุ่ม ร.พ.วิภาราม เป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ 6 โรงพยาบาลในเครือ 3 โรงพยาบาลสาขาและคลินิกเครือข่าย 3 แห่ง กลุ่ม ร.พ. วิภาราม ร.พ. แพทย์ปัญญา ร.พ. มเหสักข์ โรงพยาบาลรับรองคนป่วยทั่วไปและผู้ป่วยใช้สิทธิตามโครงการสวัสดิการด้านสุขภาพรัฐ เช่น ผู้ป่วยโครงการประกันสังคม ผู้ป่วยตามโครงการของสำนักงานหลังประกันสุขภาพแห่งชาติ RAM มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 33,240 ล้านบาท (ณ วันที่ 16/07/2021)

  • ปี 2018 รายได้รวมอยู่ที่ 6,044.48 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,892.23 ล้านบาท
  • ปี 2019 รายได้รวมอยู่ที่ 5,500.49 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,440.35 ล้านบาท
  • ปี 2020 รายได้รวมอยู่ที่ 8,312.07 ล้านบาท กำไรสุทธิ 632 ล้านบาท
  • ปี 2021 ไตรมาสแรก รายได้รวม 2,295.84 ล้านบาท กำไรสุทธิ 338.74 ล้านบาท

เมื่อย้อนดูรายได้ของโรงพยาบาลรามคำแหงย้อนหลังตั้งแต่ปี 2018 ก่อนเกิดโควิดระบาดจนถึงปีปัจจุบัน พบว่า รายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2020 ที่ผ่านมา รายได้จากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 94.46% YOY เนื่องจากมีบริษัทย่อยเพิ่ม 1 แห่งคือโรงพยาบาลวิภาราม ทำให้รายได้ในงบรวมเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิลดลง 845.17 ล้านบาท หรือ 64.29% YOY เพราะโควิดระบาดทั่วโลก เศรษฐกิจตกต่ำ รายได้จากการรักษาพยาบาลลดลง รายได้จากธุรกิจเสริมเช่น ขายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ก็ลดลงเช่นกัน อุตสาหกรรมโรงพยาบาลอยู่ในสภาพหดตัว มีการแข่งขันในระดับปานกลาง แข่งขันทั้งราคาและคุณภาพ

BH บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งปี 2523 เป็นผู้บุกเบิกให้บริการดูแลสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับโลกและให้บริการดูแลสุขภาพชาวต่างชาติยาวนานราว 40 ปี เริ่มจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2532 มีจำนวนเตียง 580 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยนอกมากกว่า 5,500 คนต่อวัน ดำเนินธุรกิจการการแพทย์และธุรกิจให้เช่า BH มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 97,336.74 ล้านบาท

  • ปี 2017 รายได้รวม 18,168 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,943 ล้านบาท 
  • ปี 2018 รายได้รวม 18,415 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,151 ล้านบาท
  • ปี 2019 รายได้รวม 18,559 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,747.72 ล้านบาท 
  • ปี 2020 รายได้รวม 12,445 ล้านบาท รายได้ลดลง 32.9% เทียบจากปีก่อนหน้า กำไรสุทธิ 1,204 ล้านบาท ลดลง 67.9% เทียบกับปีก่อนหน้า 
  • ปี 2021 ไตรมาส 1 รายได้รวมอยู่ที่ 2,679 ล้านบาท ลดลง 35.3% เทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนหน้าอยู่ที่ 4,137 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 1 ของปีนี้ลดลง 88.1% เป็น 91 ล้านบาท จาก 765 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์โดยส่วนใหญ่มาจากผู้ป่วยต่างประเทศเกินครึ่งหนึ่ง ปี 2016-2017 มีสัดส่วนคนป่วยต่างประเทศอยู่ที่ 64% คนป่วยไทย 36% ปี 2018 มีคนป่วยต่างประเทศ 66% คนป่วยไทย 34% ปี 2019 มีคนป่วยต่างประเทศ 67% คนป่วยไทย 33% ปี 2020 ที่มีโควิดระบาด มีคนป่วยจากต่างประเทศลดลงอยู่ที่ 52% คนป่วยไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48%

ปี 2020 ผู้ป่วยต่างประเทศที่รับการรักษาในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กว่า 160 ประเทศ รวมกว่า 3.5 แสนครั้ง ซึ่งประเทศที่ทำรายได้สูงสุดให้บริษัท 3 อันดับแรกคือ คูเวต การ์ตาและเมียนมา ผลจากโควิดระบาด แม้จะมีกลุ่มลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น แต่ข้อจำกัดอย่างต่อเนื่องจากการเดินทางและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติของบริษัท

สรุป

จากกรณีตัวอย่างผลประกอบการโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่ง คือ BDMS, RAM, BH พบว่าโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จากโควิดระบาดมักเป็นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากคนป่วยชาวต่างประเทศในอัตราที่สูงกว่าโรงพยาบาลที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากคนป่วยต่างประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง การห้ามชาวต่างประเทศเข้าประเทศเป็นอุปสรรคหลักในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะรายได้ในช่วงที่มีคำสั่งล็อคดาวน์ประเทศครั้งแรกช่วงเมษายน 2020 นั้นถือว่ารายได้ลดลงอย่างมาก

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดก็ส่งผลให้ผลประกอบการทั้งในส่วนของรายได้และกำไรของโรงพยาบาลที่ต้องพึ่งพารายได้จากคนป่วยในไทยและในต่างประเทศต่างก็ลดลงจากภาวะปกติ ทั้งเหตุผลที่มาจากคนป่วยในไทยก็ขาดทุนทรัพย์ในการใช้รักษาตัว ตลอดจนมีการแข่งขันในกลุ่มโรงพยาบาลเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น เราจึงเห็นทางออกของการหาช่องทางเพิ่มรายได้ในโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีการออกแพคเกจตรวจสุขภาพในราคาที่ต่ำลง มีความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันภัยและโรงพยาบาลมากขึ้น

COVID-19

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ระบุว่า รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2021 นี้ น่าจะกลับมาขยายตัวราว 1-4% เมื่อเทียบกับปี 2020 ที่หดตัวราว 12.1% ส่วนกำไรสุทธิน่าจะกลับมาขยายตัวราว 15%-20% เทียบจากปีก่อนหน้า มีการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลมากขึ้นแต่คนไข้ที่มีศักยภาพไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ลูกค้าที่เป็นคนไข้ในกลุ่ม Medical Tourism ไม่น่าจะกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลต้องแข่งขันกับทำกลยุทธ์ในการช่วงชิงตลาดคนไข้ภายในประเทศมากขึ้น

อ้างอิง – SET, BDMS (1), (2), (3), RAM (1), (2), BH (1)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา