จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย (Inbound Tourist) กว่า 35.59 ล้านคน และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี โดยปีนี้ก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวกว่า 41-42 ล้านคน
แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย เป็นสัดส่วน 30% ไม่สามารถเดินทางมาได้จากคำสั่งของรัฐบาลจีน
ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศด้วย (Outbound Tourist) ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
ในปี 2560 มีคนไทยเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนกว่า 8.83 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 286,020 ล้านบาท โดยมีประเทศที่คนไทยใช้จ่ายสูงสุด 5 ประเทศ ได้แก่
- ประเทศญี่ปุ่น 42,290.78 ล้านบาท
- ประเทศมาเลเซีย 34,855.98 ล้านบาท
- ประเทศลาว 21,620.94 ล้านบาท
- ประเทศจีน 20,742.49 ล้านบาท
- ประเทศสิงคโปร์ 19,651.52 ล้านบาท
(อ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่นี่)
แต่ปีนี้สถานการณ์คงไม่ได้ดูดีแบบนี้อีกแล้ว ผลกระทบหลักๆ จึงตกอยู่กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ที่ทำอาชีพไกด์นำเที่ยว โดยเฉพาะในเวลานี้หลายๆ ประเทศเริ่มพบการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นวงกว้าง
นักท่องเที่ยวหายหมด ไม่เลิกก็เลื่อน
สกล อยู่วิวัฒน์ เจ้าของกิจการบริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่ง เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติบริษัทจะจัดกรุ๊ปท่องเที่ยวให้ลูกค้าเฉลี่ยเดือนละ 1 กรุ๊ป กรุ๊ปละประมาณ 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวในทวีปยุโรป
ในช่วงระยะแรกที่ COVID-19 ระบาดเฉพาะในประเทศจีน และบางประเทศในทวีปเอเชีย จึงยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะคนไทยยังสามารถไปเที่ยวทวีปยุโรปได้ปกติ แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะคนไม่มั่นใจสถานการณ์ความปลอดภัย โดยเฉพาะในประเทศเยอรมันนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุด และคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะยังเป็นแบบนี้ต่อไปจนถึงช่วงปลายปี 2563 นี้
ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม จนถึงเดือนมีนาคม บริษัทได้รับผลกระทบไม่สามารถจัดกรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยวได้เลย ลูกค้าส่วนใหญ่ยกเลิกมากกว่าเลื่อนการเดินทาง ส่วนลูกค้าองค์กรหรือกรุ๊ปท่องเที่ยวส่วนตัว ไม่ยกเลิกการเดินทาง แต่พยายามหาทางเลือกที่ไม่เสี่ยง หรือเลื่อนการเดินทางแทน
แหล่งข่าวผู้ประกอบการเจ้าของบริษัทนำเที่ยวอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลตรงกันว่าลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวในทวีปยุโรป และประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ไม่มีเหลือกรุ๊ปท่องเที่ยวต่างประเทศเลย จากสถานการณ์ COVID-19 ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่เป็นช่วงเวลา High Season ที่นักเรียนปิดเทอมในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม จะมีการจัดกรุ๊ปทัวร์ 20-30 กรุ๊ป กรุ๊ปละ 20-30 คน
มาตรการระยะสั้น ลดเงินเดือนพนักงานเพื่อประคองสถานการณ์
ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงช่วงสิ้นปี มองว่าเป็นเรื่องยากที่สถานการณ์จะดีขึ้นได้ หรือหากสถานการณ์ดีขึ้น แต่ด้วยลักษณะของกรุ๊ปทัวร์ไปทวีปยุโรป ที่ต้องมีการเตรียมตัวก่อนประมาณ 1-2 เดือน
ดังนั้น คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน แต่กว่าจะมีรายได้เข้ามายังบริษัทคงต้องรอหลังจากนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้จึงต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ด้วยการลดเงินเดือนพนักงานลงก่อนเพื่อความอยู่รอด รวมถึงให้พนักงานทำงานที่บ้านชั่วคราว แล้วช่วงกลางปีค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะทำอย่างไร
ส่วนอีกบริษัทนำเที่ยวอีกบริษัทหนึ่งที่มีพนักงานอยู่ 7 คนเล่าว่าในช่วงนี้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ทำให้ต้องออกมาตรการในแรก คือลดเงินเดือนพนักงาน 30-50% ลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ ให้ทำงานจากที่บ้านได้หากไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ แต่ก็มีบางบริษัทเช่นกันที่หักดิบให้พนักงานหยุดงาน 6 เดือน โดยไม่จ่ายเงินเดือน แต่หากพนักงานบางตำแหน่งยังจำเป็นต้องมาทำงานก็จ่ายเงินเดือนเพียง 50% เท่านั้น
เตรียมหาอาชีพเสริมรองรับ
ในระยะยาว มองว่ายากที่สถานการณ์จะฟื้นตัวโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินของ แม้จะไม่มีปัญหาการระบาดของ COVID-19 แล้วก็ตาม แต่การท่องเที่ยวคือสิ่งฟุ่มเฟือย แต่ก็ยังมีความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม เพราะไม่เช่นนั้นบริษัททัวร์จะได้รับผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงมีความรุนแรงควบคุมไม่ได้แบบนี้ต่อไปจนถึงช่วงปลายปี กิจการธุรกิจนำเที่ยวคงได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องหาอาชีพใหม่มารองรับ
หลายบริษัทต้องช่วยกันเพื่อความอยู่รอด
สกล อยู่วิวัฒน์ มีเพื่อนที่เป็นเจ้าของกิจการบริษัทนำเที่ยวอีกหลายคนที่เจอสถานการณ์ในแบบเดียวกัน จึงต้องช่วยกันเป็นพันธมิตรรวบรวมลูกค้าจากกรุ๊ปทัวร์ที่ถูกยกเลิก เพราะจำนวนคนเดินทางไม่พอ เป็นกรุ๊ปทัวร์ที่สามารถพาลูกค้าเดินทางไปเที่ยวได้ จะดีกว่าการแยกกันทำแล้วไม่สามารถพาลูกค้าไปท่องเที่ยวได้เลย ส่วนในช่วงนี้ยังไม่ท้อ แต่ต้องรับมือกับปัญหาให้ดีที่สุด
ถามหา ความชัดเจน จากรัฐบาล
ที่ผ่านมามาตรการของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนมากพอ โดยเฉพาะการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่ครอบคลุมความเป็นจริง บางประเทศมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 แต่ก็ไม่ได้ประกาศให้เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง เพราะผู้ประกอบการต้องใช้การประกาศของภาครัฐในการต่อรองกับโรงแรม หรือสายการบินที่ทางบริษัทจองไว้ล่วงหน้า เมื่อไม่มีการประกาศจากรัฐบาลอย่างชัดเจนหากบริษัทต้องการยกเลิกการจองที่พัก ก็จะถูกยึดเงินมัดจำ
ผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งอยากให้ภาครัฐออกประกาศว่าประเทศใดบ้างที่สายการบินควรงดบินไป บริษัททัวร์ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะหากรัฐบาลประกาศงดบินบริษัททัวร์ก็จะได้รับเงินคืน ซึ่งในขณะนี้มีเพียงเที่ยวบินไปประเทศอิตาลีเท่านั้น ที่ได้รับเงินค่าตั๋วเครื่องบินคืน เพราะประเทศอิตาลีปิดประเทศไปแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา