โควิดทำชาวตะวันตกเปลี่ยนมุมมองคนใส่หน้ากาก จากความแปลก สู่เรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็ไม่อาจสังเกตเห็นได้เลย เพราะค่อยๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในระเวลาสั้นๆ

ไม่เว้นแม้แต่มุมมองการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในมุมมองของตะวันตก ที่เคยมองว่าการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ดูเป็นเรื่องแปลก ไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะภาพจำของตัวร้ายในภาพยนตร์บางเรื่อง ที่มักใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้าเมื่อต้องการทำสิ่งที่ไม่ดี

ก่อนหน้านี้ในปี 2011 ประเทศฝรั่งเศสเคยสั่งให้การใส่ผ้าคลุมฮิญาบที่ปิดบังใบหน้าทั้งหมด เป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยรัฐบาลฝรั่งเศสให้เหตุผลว่าขัดกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของประเทศ

การใส่หน้ากากอนามัยหลายๆ ประเทศในเอเชีย มองว่าเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ภาพจาก Shutterstock

หน้ากากอนามัย เรื่องปกติของคนเอเชีย

แตกต่างจากการใส่หน้ากากอนามัยของชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น และชาวเกาหลี ที่เคยชินกับการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะมาก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น เคยชินกับการใส่หน้ากากอนามัยมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสเปน เมื่อปี 1918

จนถึงช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน้ากากอนามัยไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันเพียงการแพร่กระจายของโรคเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกปลอดภัย และไม่ถูกตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอกจากคนอื่นๆ หรือในบางครั้งหน้ากากอนามัยยังทำหน้าที่เหมือนกำแพงเมื่อไม่ต้องการมีปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่นเดียวกับการใส่หูฟังในที่สาธารณะ

ส่วนที่ประเทศเกาหลีใต้ นักศึกษามหาวิทยาลัยรายหนึ่งเล่าว่า การใส่หน้ากากอนามัย นอกจากจะเป็นการป้องกันฝุ่นละอองได้แล้ว ยังเป็นการปิดบังใบหน้า และลดความสนใจจากคนรอบข้างได้อีกด้วย โดยเฉพาะในวันที่ไม่ได้แต่งหน้า ในขณะเดียวกันหน้ากากอนามัยยังกลายเป็นสินค้าแฟชั่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้จากหน้ากากอนามัยที่มีหลากหลายสี และลวดลาย

ชาวตะวันตกเปลี่ยนแนวคิด เลิกกลัวหน้ากากอนามัย

ส่วนในยุโรป ปัจจุบันผู้คนก็เปลี่ยนความคิดที่มีต่อหน้ากากอนามัยไปเสียแล้ว จากเดิมผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัยจะถูกมองในแง่ลบ หรือป่วยเป็นโรคจึงต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่กลายเป็นว่าความคิดเหล่านี้ค่อยๆ หายไป แล้วแทนที่ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด

Franck Cochoy ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา University of Toulouse Jean Jaures เผยว่า ในปัจจุบันหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความกังวลให้กับผู้ที่สวมใส่ แทนที่จะเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลเมื่อเห็นเหมือนในอดีต

นักวิจัยบางคนถึงขนาดมองว่า หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างคนที่ใส่หน้ากากอนามัย กับคนที่ไม่ใส่ คนที่ไม่ใส่อาจรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังแก้ผ้า

ภาพจาก Unsplash โดย Vera Davidova

ในปัจจุบันสินค้าแบรนด์เนมหลายๆ ยี่ห้อ เริ่มแข่งกันผลิตหน้ากากอนามัยของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะเห็นหน้ากากอนามัย ที่มีตราสัญลักษณ์ของแบรนด์เนมหรูราคาแพงที่ด้านหน้า หน้ากากอนามัยสำหรับการแพทย์ธรรมดาๆ หรือแม้แต่หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า มีสีสันสวยงามแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย

แน่นอนว่าเมื่อการใช้หน้ากากอนามัยกลายเป็นเรื่องปกติ ย่อมทำให้เกิดปัญหาขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว และต้องทิ้ง ไม่สามารถใช้ซ้ำได้แต่อย่างใด Vanessa Colignon นักออกแบบเสื้อผ้าในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แสดงความคิดเห็นว่า หน้ากากอนามัยที่สามารถใช้ซ้ำได้เป็นสิ่งจำเป็น ที่รัฐบาลแต่ละประเทศควรหาทางพัฒนา และการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นสิ่งที่ไม่สมควร

เช่นเดียวกับที่นักวิจัยหลายๆ คนมองว่า แม้หน้ากากอนามัยประเภทใช้แล้วทิ้ง จะมีความสามารถในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า เพราะได้มาตรฐานมากกว่า แต่อย่าลืมว่าหน้ากากผ้าสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง รวมถึงหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งสร้างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตมากกว่า

ที่มา – Japantoday, VOA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา