กระแสการเรียนรู้ผ่านโลก Online หรือ E-Learning เริ่มบูมขึ้นเรื่อยๆ ในไทย แต่ก็ท่ากับว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ Course Square ต้องปรับตัว
เริ่มจาก E-Learning Marketplace และยังโตอยู่
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ E-Learning ในรูปแบบ Marketplace หรือเปิดให้บุคคลใดที่อยากขายคอร์สเรียน Online มาขึ้นประกาศบนเว็บไซต์เพื่อหารายได้ ยังมีไม่มากในไทย แต่ถ้ามองแค่ระดับอาเซียนก็มีผู้เล่นจำนวนหนึ่งที่ต้องการขยายตลาดเข้ามา และถ้ามองในระดับโลกนั้นก็มีศูนย์รวมคอร์สที่สอนเป็นภาษาอังกฤษไว้จำนวนมาก
ณัฐพล วัชรศิริสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คอร์สสแควร์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ตัวธุรกิจของบริษัทเริ่มจากการเป็น E-Learning Marketplace ที่ตอนนี้มีคอร์สเปิดสอนอยู่กว่า 400 คอร์ส และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 40,000 คน ที่สำคัญคือมีรายได้เลี้ยงบริษัทเองได้ประมาณหนึ่ง แต่นั่นอาจไม่พอหากบริษัทต้องการเติบโตกว่านี้
“ไม่ใช่ว่าเรากลัวคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาเลยเริ่มปรับตัว แต่เราเห็นโอกาสของโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก-กลาง ที่พวกเขาน่าจะมีเครื่องมือมายกระดับการเรียนการสอนขึ้นไปอยู่บน Online ได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของระบบ Course Square Mine ที่เปิดให้โรงเรียนกวดวิชามาใช้งานระบบของบริษัทได้เต็มรูปแบบ”
Solution ที่ช่วยยกระดับการทำตลาดโรงเรียนกวดวิชา
สำหรับ Course Square Mine นั้นเป็นการปรับแต่งตัวระบบหลังบ้านของ Course Square ให้เข้ากับการใช้งานของโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น เช่นเพิ่มระบบชำระเงินค่าคอร์สเรียนในรูปแบบต่างๆ, มีระบบความปลอดภัยขั้นสูงหากทางผู้ใช้ Upload วีดีโอการสอนขึ้นมาในระบบ รวมถึงเปิดให้โรงเรียนกวดวิชาปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์ได้เอง
“จากเดิมที่เราเป็นฝ่ายทำตลาดเพื่อให้คนที่สนใจมาขายคอร์สบนหน้าเว็บเรา คราวนี้เราก็ปรับเป็นทำตลาดกับองค์กรมากขึ้น เหตุที่เล็งกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก-กลาง ก็เพราะพวกเขามีเงินทุนไม่มากเหมือนรายใหญ่ ยิ่งถ้าอยากทำระบบ E-Learning ที่ดีต้องลงทุนเป็นหลักล้าน แต่ของเราไม่เพราะเต็มที่จ่ายรายเดือนแค่หลักหมื่น”
ทั้งนี้ Course Square อยู่ระหว่างเร่งทำตลาดกับกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาที่สอนให้กลุ่มวัยเรียน รวมถึงวัยทำงาน ตอนนี้มีโรงเรียนกวดวิชาเข้ามาใช้บริการแล้ว 10 ราย ภายในปีนี้น่าจะได้เพิ่มมาอีก 5-10 ราย โดยทั้งหมดเป็นการทำสัญญาใช้บริการในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) หรือเช่าใช้งานตามที่สัญญาระบุไว้
ตลาดรวม 9,000 ล้านบาทที่ใครก็อยากเข้ามาแย่งชิง
ในทางกลับกันเมื่อมองภาพตลาดรวมโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยนั้นข้อมูลในปี 2558 ระบุว่าตลาดนี้มีมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท เติบโตต่อปี 5-10% ทำให้ Course Square คาดว่าสิ้นปี 2561 น่าจะปิดเกิน 9,000 ล้านบาท ดังนั้นหากบริษัทสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้ได้ก็น่าจะต่อยอดการเติบโตได้อีกระดับหนึ่ง
นั่นจึงเป็นที่มาของแผนระยะยาวที่ Course Square ต้องการมีส่วนแบ่งตลาด 5-10% ของมูลค่าดังกล่าว ผ่านการเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้โรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก-กลาง ขึ้น Online ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการช่วยพวกเขาให้ขยายตลาดไปทั่วประเทศโดยไม่ต้องเปิดสาขาเพิ่ม
“เราอยากเป็น Top of Mind ของโรงเรียนกวดวิชาที่อยากขึ้น Online และตอนนี้รายได้ของบริษัทก็หลัก 20 ล้านบาทแล้ว หากเราสามารถบุกตลาดนี้ได้สำเร็จ มันก็มีโอกาสเติบโตขึ้ 60% และถึงเราจะเติบโตมาในรูปแบบ Startup แต่ตอนนี้เราไม่ได้ต้องการเงินทุนขนาดใหญ่ เพราะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว แต่เราก็ไม่ปิดหากมีโอกาสเข้ามา”
สรุป
จากเป็นแค่ E-Learning Marketplace การขึ้นมาเป็นเครื่องมือให้โรงเรียนกวดวิชาใช้งานก็น่าจะช่วยให้ Course Square เติบโตได้อีกขั้นหนึ่ง แต่เชื่อว่าในอนาคตอาจมี EDU Tech Startup เข้ามาในประเทศไทยเยอะขึ้นแน่ๆ และถ้า Course Square ไม่สร้างความแข็งแกร่งในเรื่องนี้ ก็เสี่ยงที่โอกาสดังกล่าวจะหลุดลอยไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา