เปิดเหตุผลของคนไร้บ้าน เมื่อเป็นตัวเองไม่ได้ก็เป็นคน…ที่ไม่ต้องแคร์สายตาชาวบ้านไปเลยมั้ย วันนี้เราจะพูดถึงคนไร้ที่พึ่ง ที่เป็นคนป่วยจิตเวช คือ เขาก็คือคนที่มีหัวใจเหมือนกัน และการสื่อสารให้สังคมคนทั่วไปได้เข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่โครงสร้างและสวัสดิการรัฐต่างหาก ที่สำคัญยิ่งกว่า
จากกรณีของ “ริว อาทิตย์” นักแสดงชื่อดังในยุค 90 ย้อนกลับไปตอนนั้นถือว่า คุณริว อาทิตย์” โด่งดัง มีชื่อเสียง เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็แฟนคลับตามกรี๊ดจนห้างแตก อยู่มาวันหนึ่งคุณริว หายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิงนานนับหลายยี่สิบปี กระทั่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นข่าวของเขาก็กลายเป็นกระแสไวรัลอีกครั้ง ริว ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นคนไร้บ้าน อาบน้ำและนอนในปั๊มน้ำมัน สร้างความประหลาดใจให้แก่คนดู หลายคนไม่เชื่อว่าคนดัง มีชื่อเสียง ซุปเปอร์สตาร์ อย่างริวจะกลายเป็นคนไร้บ้าน
วันนี้ Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่จ๋า หรือ อัจฉรา สรวารี เจ้าหน้าที่มูลนิธิอิสรชน เป็นมูลนิธิที่เป็นเพื่อนของคนไร้ที่พึ่ง พัฒนาระบบสวัสดิการไทย เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ถึงเหตุผลที่ทำไหมคนมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือ แม้กระทั่งคนทั่วไป ถึงออกมาเร่ร่อนใช้ชีวิตตามข้างถนน
คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ทุกชีวิตต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งเราแก้ปัญหาตรงนั้น และ ก้าวข้ามผ่านมันมาได้ แต่กับคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ต้องเผชิญกับปัญหาที่ตัวเองไม่ทันตั้งรับ อย่างปัญหาเศรษฐกิจภาวะล้มละลาย หรือ ตกงานกะทันหัน พวกเขาเหล่านี้เกิดจากภาวะเครียดสะสม ไม่มีทางออก พอปัญหามันเริ่มสะสมมาก ๆ และไม่รู้จะพึ่งพาใคร แก้ปัญหาไม่ได้ จนกระทั่งสิ่งที่เป็นความรู้สึกหรือเป็นปัญหานั้นสะสมมานาน มันระเบิดออกมา ซึ่งเราก็จะเห็นคนแก้ผ้าเดินตามท้องถนน โวยวาย เสียงดัง ชกต่อย ตบหน้า คนที่เดินผ่านไปมา คนทั่วไปก็จะเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนบ้า” แต่หารู้ไม่ “พวกเขาคือคนป่วยจิตเวช ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง”
พี่จ๋าเล่าว่า “พวกเขาก็คือคนเหมือนเรา ๆ ซึ่งคนทั่วไปตีตราว่าคนเร่ร่อนเป็นคนบ้า เพราะรับรู้จากข่าวที่นำเสนอ ว่า มีผู้หญิงเร่ร่อนไปตบหน้าคนเดินอยู่บนฟุตบาท แต่จริง ๆ แล้ว คนนั้นคือคนป่วยจิตเวช ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เราควรเห็นใจเขา และหาทางให้เขาได้รับการรักษา ไม่ใช่การผลักไสให้เขาเหล่านั้นออกจากชุมชน หรือออกจากพื้นที่
“การสื่อสารสำคัญมากต่อการรับรู้ ในกรณีที่นำเสนอว่า คนเร่ร่อน คนไร้บ้านไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะคนจะมุ่งตีความไปว่า คนเหล่านี้คือ “คนบ้า” แต่ในความเป็นจริงพวกเขาคือ “คนป่วยจิตเวช” ที่ถูกครอบครัวทอดทิ้ง หรือครอบครัวอาจไม่มีเงินพาไปรักษา ทุกอย่างสะท้อนไปถึง “ระบบสวัสดิการของรัฐ” ที่ไม่รองรับกับสภาพของคนตรงนี้
สิ่งที่น่าสนใจและอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ลองคิดว่าวันนี้เราทำงานหนัก เสียภาษีก็มาก เพื่ออะไร? ก็เพื่อที่เราจะได้มีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ เลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัว คนเราต้องพยายามดิ้นรนเองทั้งนั้น รัฐไม่ได้มาซัพพอร์ตเมื่อเราแก่ชรา ต่อให้เราเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชรา เราก็ต้องจ่ายเงิน นอกเสียจาก “คุณจะทำงานในระบบราชการ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ
หรือในกรณีที่ตกงาน จากภาวะเศรษฐกิจ หรือ จากสถานการณ์โควิด มีสวัสดิการของรัฐเข้ามาซัพพอร์ตให้ชีวิตของประชาชนยังดำเนินต่อไปได้บ้าง
จึงเกิดปัญหาตามมาที่เรียกว่า “คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน” ก็เพราะ พวกเขาเหล่านี้ไม่มีที่พึ่งพา ไม่มีเงิน พอไม่มีเงิน ก็ไม่มีบ้าน กลายเป็นต้องออกมาอาศัยตามข้างถนน ปั๊มน้ำมัน
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้แก่ประชาชน หากเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนี หรือ ประเทสวีเดน คนแก่หลังเกษียณจะได้รับเงินจากรัฐเป็นรายเดือนซึ่งเป็นเงินภาษีที่รัฐเรียกเก็บตอนวัยทำงาน หรือ ผู้หญิงท้องที่ต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน รัฐบาลก็ให้เงินในการใช้จ่าย ค่ากิน ค่าอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนในครอบครัว
หากมองในเรื่องของตัวเลขของคนเร่ร่อน คนไร้บ้านในเมืองไทย กับ ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ก็พบว่า ในประเทศไทยมีคนเร่ร่อนอยู่ประมาณ 20,000 คน ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับที่เมืองนิวยอกที่มีคนเร่ร่อนอยู่ประมาณ 200,000 คน
อีกสิ่งที่น่าสนใจที่ Brand Inside ได้ข้อมูลมาจากพี่จ๋า คือ คนเหล่านี้เขาจะไม่แคร์สังคมว่าจะมองเขาอย่างไร เพราะเขาผ่านจุดที่ต่ำสุดและมืดมนที่สุดในชีวิตมาแล้ว ซึ่งอย่างกรณี ของคุณริวที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการทีวี คือ เขาแก้ผ้าเดินกลางถนน จนคนทั่วไปคิดว่าเขาบ้า ซึ่งคุณริวให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ต้องแคร์ใครในสังคมนี้อีกแล้ว ซึ่งดูจากภายนอกก็ทำให้มองได้ว่าผิดปกติ
คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วในเมืองไทยมีระบบสวัสดิการตรงนี้รองรับมากน้อยแค่ไหน คุณจ๋า ก็อธิบายว่า หมอจิตเวชคงไม่ไปเดินตามท้องถนนเพื่อรักษาคนป่วย คนป่วยต้องเดินเข้าโรงพยาบาลไปรับการรักษาด้วยตัวเอง มันก็ย้อนกลับไปที่เดิมคือ พวกเขาไม่มีเงินไปรักษา จะให้เขาเหล่านี้รักษาอาการป่วยทางจิตได้อย่างไร รัฐต้องเข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้เพื่อช่วยให้คนป่วยทางจิตได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะยารักษาอาการทางจิตเวชมีราคาค่อนข้างแพง คนทั่วไปที่มีงานทำงานหาเช้ากินค่ำ ยังต้องพึ่งสวัสดิการประกันสังคม และคนป่วยข้างถนนเขาจะได้เงินจากตรงไหนไปรักษา นั่นคือสิ่งที่คุณจ๋าสะท้อนความเป็นจริงให้ Brand Inside ฟัง
สิ่งที่กทม. หน่วยงานรัฐ หรือ หน่วยงานเอกชน ลงพื้นที่หางานให้คนเร่ร่อนทำ สร้างรายได้ให้กับคนเหล่านี้ พี่จ๋า อัจฉรา อธิบายว่า เป็นการชะลอปัญหาเท่านั้น ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ก็เข้ามาช่วยในการจัดหางานให้กับคนเร่ร่อนได้มีงานทำ แต่ใช่ว่าคนเร่ร่อน 10 คนได้มีงานทำทั้ง 10 คน จะมีแค่ประมาณ 2-3 คนที่ได้งานทำ เพราะเราต้องพูดคุย ต้องสอบถาม คนเหล่านี้ด้วย บางคนมีอาการป่วยทางจิตก็ต้องนำไปรักษาก่อน
“จะนำคนเร่ร่อนไปรักษาอาการป่วยทางจิตไม่ง่าย เพราะบางคนไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้ ก็ต้องสืบค้นประวัติซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ทางมูลนิธิอิสรชนก็ทำเต็มที่ในการช่วยเหลือเพื่อนข้างถนนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะ พวกเขาก็คือคนเหมือนกับเรา”
บทสรุปสุดท้าย พี่จ๋า มูลนิธิอิสรชน บอกว่า อยากสะท้อนการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจ ว่า คนที่เราเห็นเดินตามข้างถนน กลางคืนนอนตามริมฟุตบาท พวกเขาเหล่านี้ หลายรายคือผู้ป่วยทางจิตที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้ แม้ว่าเขาจะพยายามดิ้นรน ต่อสู้สุดกำลังที่เขามีแล้ว ชีวิตนี้ก็ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิม จึงได้ก้าวออกมาจากสังคมที่อยู่ สู่ โลกข้างถนนที่เป็นอิสระ ไม่มีความกดดัน ไม่ต้องเผชิญกับปัญหา นานวันเข้าอาการป่วยทางจิตหนักขึ้น จนลืมไปแล้วว่าชีวิตนี้เคยมีบ้าน จึงกลายเป็นคนเร่ร่อน ที่ถูกสาปด้วยคำพูดว่า “คนบ้า”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา