หนังสือเล่มขายยาก ใช้แรงงานเยอะ Cotsco ห้างดังเมกา ประกาศเลิกขายหนังสือ

ลาก่อนหนอนหนังสือ Cotsco ร้านค้าปลีกชื่อดังในสหรัฐอเมริกาวางแผนจะยกเลิกการขายหนังสือเร็วๆ นี้

Cotsco

สัญญาณนี้เริ่มมีออกมาให้เห็นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะ Costco ได้ยกเลิกการเก็บคลังสินค้าหนังสือ และเปลี่ยนมาขายแค่ในช่วงเทศกาลเท่านั้น นอกจากนี้ หนังสือบางเล่มในร้านที่มีคนสนใจ ก็ยังมีขายอยู่บ้าง แต่ไม่ขายตลอดทั้งปีเพราะจัดการยาก

อันที่จริง ถ้าเราไปเปิดข้อมูล จะรู้เลยว่า ในปัจจุบันหนังสือปกติยังขายดีกว่า eBooks 

จากสถิติที่รวบรวมโดย TonerBuzz พบว่า 

  • 68% ของนักอ่านรุ่นใหม่ (อายุ 18 – 29 ปี) บอกว่าชอบอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ มากกว่าแบบดิจิทัล 
  • ในปี 2027 มูลค่าทางตลาดหนังสือเล่มจะอยู่ที่ 1.87 พันล้านดอลลาร์ (67.97 ล้านล้านบาท) 
  • มากกว่ามูลค่าของตลาด eBooks ที่มีอยู่เพียง 670 ล้านดอลลาร์ (24 ล้านล้านบาท) เท่านั้น

ตลาด eBooks ยังเล็กกว่าหนังสือเล่มก็จริง แต่ถึงที่สุด ก็มีข้อได้เปรียบมากกว่าหลายเรื่องในทางธุรกิจ แถมยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่า

ขายหนังสือเล่มต้องใช้แรงงานเยอะ

สาเหตุที่ Cotsco ยุติการขายหนังสือ ก็เพราะว่ามันเป็นงานที่ใช้แรงงานมาก การขายหนังสือต้องมีพนักงานมาเรียงทีละเล่มด้วยมือ ซึ่งต่างจากสินค้าอื่นๆ ที่สามารถจัดวางได้ง่าย 

นอกจากนี้ หากหนังสือเล่มไหนขายไม่ได้ก็ต้องนำออก และเล่มไหนมาใหม่ก็ต้องเอามาวางเพิ่ม ดังนั้น หนังสือจึงเป็นสินค้าที่เข้าออกค่อนข้างบ่อย ส่งผลให้ภาระงานเยอะมากขึ้นไปด้วย

ปัจจุบัน Cotsco เลิกขายหนังสือไปแล้วในบางรัฐ เช่น Alaska และ Hawaii

เลิกขายหนังสือเล่มในห้าง กระทบหลายภาคส่วนใน Supply Chain

Photo by Takafumi Yamashita on Unsplash

การที่ Cotsco ตัดสินใจเช่นนี้ อาจทำให้สำนักพิมพ์ทั้งหลายย่ำแย่ลงกว่าเดิม เพราะแม้ว่า Cotsco จะไม่ใช่ร้านขายหนังสือรายใหญ่เทียบเท่า Barnes & Nobles แต่มันก็เป็นช่องทางที่ทำให้คนที่อ่านอาจไม่ใช่นักอ่านตัวยง ได้มีโอกาสมองเห็นและสัมผัสหนังสือมากขึ้น จนทำให้พวกเขาเลือกซื้อมันในที่สุด 

Brenna Connor ผู้อำนวยการของ U.S. Books at Circana บริษัทวิจัยทางการตลาด ได้พูดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Cotsco และ Target ว่า “มันเป็นสถานที่ที่สะดวกในการหานิทานให้กับลูกๆ หรือซื้อหนังสือเล่มล่าสุดจากคอลเล็กชันที่เรากำลังอ่าน” โดยรวมแล้วการมีอยู่ของพวกมันจะส่งผลดีต่อวงการหนังสือนั่นเอง

ที่สำคัญ Cotsco เป็นร้านค้าปลีกที่ขึ้นชื่อในการสต็อกของทีละเยอะๆ ดังนั้นเวลาสั่งหนังสือทีหนึ่ง ขั้นต่ำของพวกเขาคือเรื่องละหลายหมื่นเล่ม หากไม่มี Cotsco เป็นแหล่งกระจายสินค้า ยอดขายจากหนังสือปริมาณมหาศาลขนาดนี้จะไปอยู่ที่ไหนกัน

Robert Gottlieb ตัวแทนด้านวรรณกรรมและประธาน Trident Media Group ได้เข้าไปพูดคุยกับสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งที่อาจได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เขาเผยว่า “Cotsco ทุกสาขาเป็นแหล่งกระจายหนังสือขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้เราแทบจะหาร้านค้าปลีกที่ขายหนังสือไม่ได้แล้ว”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังอาจกระทบต่อลูกค้า Cotsco อีกด้วย โดยเฉพาะคนที่อาศัยในบริเวณที่ไม่มีร้านหนังสือ และเนื่องจากคนส่วนใหญ่มาซื้อหนังสือใน Cotsco ด้วยความบังเอิญแบบไม่ได้ไตร่ตรองมาก่อน ดังนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจไปซื้อหนังสือที่ Amazon หรือ Barnes & Nobles ซึ่งเป็นแหล่งที่คนมักตั้งใจมาเพื่อซื้อหนังสือโดยเฉพาะได้

แหล่งอ้างอิง: The Seattle Times / TonerBuzz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา