เรื่องการเมืองกับปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นของคู่กัน ยิ่งการเมืองไทยมีความซับซ้อนขึ้นเท่าไร ทั้งคนไทยและต่างชาติยิ่งจับตามองปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้น
นอกจากปัญหาคอร์รัปชั่นจะกระทบรายบุคคลแล้ว ยังกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยด้วย
3 เหตุผลคอร์รัปชั่นฉุดเศรษฐกิจไทย และ 2 ทางแก้ไขปัญหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC บอกว่า ปัญหาคอร์รัปชันส่งผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้าในหลายประเทศรวมถึงไทย ขณะเดียวกันผลการศึกษาจาก IMF ยังบอกว่าประเทศที่มี GDP ต่อหัว (รายได้ต่อคน) สูงมักเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นต่ำ ทั้งนี้ปัญหาคอร์รัปชั่นจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจใน 3 ด้าน ได้แก่
- รายได้ของภาครัฐน้อยลง เพราะภาครัฐเก็บภาษีได้น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะการติดสินบนเพื่อเลี่ยงภาษี ทำให้ประชาชนไม่อยากจ่ายภาษีเต็มที่
การศึกษาของ IMF พบว่า ประเทศที่คอร์รัปชั่นต่ำจะมีรายได้ภาครัฐสูงกว่าประเทศที่มีคอร์รัปชั่นสูงเฉลี่ยประมาณ 2.8-4.5% ของ GDP (เมื่อรายได้รัฐลดลง เม็ดเงินลงทุนของรัฐก็น้อยลงด้วย) - ลดประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ จากผลการศึกษา IMF พบว่าในประเทศที่มีโครงการลงทุนคล้ายกัน ประเทศที่คอร์รัปชั่นสูงจะใช้จ่ายแต่ละโครงการสูงกว่าประเทศที่คอร์รัปชั่นต่ำ โดยโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และพลังงาน มีความเสี่ยงเรื่องการติดสินบนมากที่สุด
ในส่วนของไทยจะเห็นว่าเมื่อภาครัฐดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพส่งผลต่อการศึกษาที่ด้อยลง เช่น ผลสอบ PISA ในปี 2015 อยู่ที่อันดับ 55 จาก 72 ประเทศ แม้จะจัดสรรงบเพื่อการศึกษาสูงก็ตาม - อุปสรรคต่อภาคธุรกิจและการลงทุน เมื่อมีคอร์รัปชั่นและระบบ Connection มักทำให้เกิดการผูกขาดตลาด เช่น การกีดกันผู้เล่นในธุรกิจ และทำให้ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ นอกจากนี้คอร์รัปชั่นส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นและลดความเชื่อมั่นในการลงทุน จึงส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้ลดลง
ทั้งนี้แนวทางในการแก้ปัญหาแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ยกระดับธรรมาภิบาลของภาครัฐ เพิ่มความชัดเจน และลดความซับซ้อนของกรอบกฎหมาย เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ (Discretion) รัฐวิสาหกิจต้องทำงานอย่างมืออาชีพและไม่ถูกแทรกแซง
2. เพิ่มความโปร่งใสด้านข้อมูลและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น การเข้าถึงข้อมูลรายรับ/รายจ่าย รายละเอียดโครงการของภาครัฐในทุกระดับ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่ลดทอนสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชน
20 ปีผ่านไปชาวโลกมองไทยมีปัญหานี้เพิ่มขึ้น
แต่ที่ผ่านมาทั่วโลกให้คะแนนไทยต่ำลงเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ได้แก่
- ดัชนีมาตรฐานการควบคุมคอร์รัปชั่น(Controlofcorruptionindex: CCI) ของ World Bank ปี 2017 ไทยได้คะแนน -0.39 โดยอยู่อันดับที่ 120 จากทั้งหมด 209 ประเทศ ถือว่าแย่ลงจากปี 1996 ที่ไทยได้ -0.36 คะแนน โดยอยู่อันดับที่ 103 จากทั้งหมด 187 ประเทศ
เมื่อไทยได้คะแนนติดลบ แสดงว่ามาตรฐานการควบคุมคอร์รัปชั่นไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก - การจัดอันดับโดยองค์กร Transparency International บอกว่าภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นของไทยปรับแย่ลง โดยปี 2018 ไทยอยู่อันดับที่ 99 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ปรับตัวลดลงจากปี 2012 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 90 จากทั้งหมด 175 ประเทศ
นอกจากนี้ยังมีข่าวเมื่อปี 2018 ว่า คอร์รัปชั่นยุค คสช.ทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี ดัชนีคอร์รัปชันไทยจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล คสช. เพิ่มขึ้นถึง 37% เพราะกฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น และกระบวนการที่ขาดความโปร่งใส ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา