แก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ รัฐมีมติตั้ง นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด

ไทยแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ด้วยการผลักดันสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยแนวคิดดังกล่าวเกิดจากกระทรวงยุติธรรมต้องการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน รวมทั้งสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อส่งเสริมให้อัตราการทำผิดซ้ำลดลง คืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับภาคเอชนหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในเขตพื้นที่ที่จัดสรร

นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นี้ มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้พ้นโทษและผู้อยู่ระหว่างพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษโดยมีพื้นที่นำร่องต้นแบบ 4 จังหวัด คือ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก) เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) เรือนจำกลางระยอง (เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว)

แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ นิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ กนอ. (ที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น) คือ ยธ. หาพื้นที่ที่เหมาะสม อาจเช่าที่ราชพัสดุ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เปิดพื้นที่ให้สถานประกอบการเช่าใช้ประกอบการหรือเปิดเชิญชวนเอกชนที่สนใจ อาจมีสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุนเข้ามาลงทุน  และจัดพื้นที่บริเวณที่พักอาศัยรองรับผู้กระทำผิด

แบบที่สอง นิคมภายในพื้นที่เรือนจำ (ที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์) ยธ.จะเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุจากกรมราชทัณฑ์ในราคาถูกแล้วเชิญชวนเอกชนมาร่วมทุน รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารและพื้นที่อาศัยผู้กระทำผิด เอกชนลงทุนเครื่องจักร วิธีการผลิตและแหล่งรับซื้อผลิตภัณฑ์ อาจมีการร่วมลงทุนรูปแบบอื่นๆ เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรหรือนิคมอุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ

แบบที่สามคือการใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมอุตสาหกรรม เชิญชวนผู้ปรกอบการที่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดหาที่ดินของเอกชนและพัฒนาเป็นนิคม โดยมีสิทธิปรโยชน์จูงใจพิเศษในกรณีที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว

บทบาทของกระทรวงยุติธรรม แบ่งได้ ดังนี้

  • รับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ คัดกรอง จำแนก แยกกลุ่ม
  • ฝึกงานในศูนย์เตรียมความพร้อมด้านฝึกทักษะการทำงานเป็นเวลา 2 ปี สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์จะครบกำหนดปล่อยตัว เป็นผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไปหรือเหลือโทษจำคุกต่อไม่เกิน 7 ปี
  • เข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีพิเศษ เป็นผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไป เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี มีคุณสมบัติตามเกณฑ์พักการลงโทษ
  • ทำงานจริงในนิคมอุตสาหกรรม เมื่อผู้ต้องขังผ่านการฝึกงานในศูนย์เตรียมพร้อมเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จะได้รับการพิจารณาพักโทษ 5 ปี ติดอุปกรณ์ควบคุมตัวอิเล็กทรอนิกส์ ตามเงื่อนไขควบคุมการประพฤติ และเข้าไปทงานในนิคมฯ นำร่องที่กำหนดเป็นเวลา 5 ปี ครบกำหนดก็ทำงานต่อกับนิคมฯ ได้

ในด้านงบประมาณ การเงิน กระทรวงยุติธรรมไม่มีอำนาจจัดสรรงบ แต่ต้งเป้าจะพัฒนาและส่งผู้ได้รับการพักการลงโทษเข้าไปทำงานในสถานประกอบการให้ได้จำนวน 16,000 คนต่อปี เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ภาครัฐต้องใช้ดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เฉลี่ย 21,000 บาทต่อคนต่อปี จะทำให้รัฐลดงบประมาณดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำได้ราว 336 ล้านบาทต่อปี

ที่มา – รัฐบาลไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา