การติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีต้นตอมาจากอู่ฮั่น หูเป่ย์ จีนแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้คนหวาดกลัวและกังวลไปทั่วโลก แม้ความจริงแล้วจะมีอัตราการตายจากการติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ
เมื่อเทียบกับโรคซาร์สแล้ว ถือว่าแตกต่างกันมาก เพราะซาร์สคร่าชีวิตผู้คนไปราว 774 ราย ติดเชื้อรวม 8,096 ราย จาก 29 ประเทศ ช่วงปี 2002-2003 ซาร์สมีอัตราการตายสูงถึง 9.6% ขณะที่ไวรัสโคโรนามีการเสียชีวิตจากการติดเชื้ออยู่ที่อัตรา 2%
- ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถรักษาจนหายจากอาการติดเชื้อได้
- ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือมีความเจ็บป่วยอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้คนทั่วโลกตระหนก หวั่นวิตกกับไวรัสโคโรนา เพราะความไม่รู้และไม่มีการรับรองใดๆ เกี่ยวกับโรคนี้ สิ่งที่สาธารณชนควรจะทำคือ ระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ตัวเองป่วย และมาตรการที่ได้ผลสำหรับการป้องกันก็คือ พยายามล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามือสัมผัสที่หน้า
Amira Roess ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลกและด้านระบาดวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย George Mason กล่าวว่า ยิ่งมีการติดเชื้อ ยิ่งทำให้ความกลัวแพร่กระจายมากขึ้น และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความหวั่นวิตกก็คือ ความกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก
มีงานวิจัยด้านจิตวิทยาเคยชี้ให้เห็นว่า ภัยคุกคามที่ทำให้ระดับความกังวลเพิ่มมากขึ้น คือความกังวลจากความไม่รู้ ผู้คนจะกังวลน้อยลงถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยดี
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ มีตัวเลขที่พิสูจน์แล้วว่าอัตราการตายของคนอเมริกันนั้น ส่วนใหญ่ 1 ใน 7 มาจากการตายที่เกี่ยวกับโรคด้านหัวใจ แต่ถ้าเป็นการตายที่เกิดจากน้ำมือของชาวต่างชาติ หรือตายเพราะตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายนั้น ถือว่ามีอัตราการตายอยู่ที่ 1 ใน 45,808 ราย
ปรากฎว่าแบบสำรวจความกลัวของชาวอเมริกันที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Chapman เมื่อปี 2016 ระบุว่า ผู้คนกังวลและกลัวที่ชาติจะถูกโจมตีจากผู้ก่อการร้าย หรือกลัวที่จะเป็นเหยื่อจากผู้ก่อการร้ายมากติดอันดับ 1 ใน 5 ของความกลัวทั้งหมด ทั้งที่ความจริงแล้ว คนมีความเสี่ยงจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจมากกว่า
หากเทียบกับโรคอีโบลา (Ebola) ที่แพร่กระจายอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ช่วงปี 2014-2016 แล้ว พบว่า อีโบลานั้นสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ มันเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ยากที่จะป้องกัน และมันก็แพร่กระจายโดยไม่รู้ตัว และยังไม่ชัดเจนอีกด้วยว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถคุมสถานการณ์ได้หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องเหยียดชาติเกิดขึ้นอีก ในฝรั่งเศส แคนาดา และสหรัฐฯ มีรายงานว่าเกิดเหตุเหยียดชาติเพิ่มขึ้น เพราะกลัวไวรัสโคโรนา
The Guardian รายงานว่า มีผู้ปกครองเกือบ 9,000 รายในบริเวณใกล้เมืองโตรอนโต ลงนามร้องเรียนไม่ให้นักเรียนที่เคยเดินทางไปจีนในรอบ 17 วันที่ผ่านมาเข้าเรียน หลายคนที่ลงนามก็เขียนว่า ให้คนจีนหยุดกินสัตว์ป่า หยุดแพร่เชื้อโรคใส่คนอื่น หยุดแพร่เชื้อโรคและกักบริเวณตัวเอง หรือไม่ก็กลับบ้านไปซะ
The New York Times รายงานว่า ธุรกิจในฮ่องกง เกาหลีใต้ และเวียดนาม เขียนป้ายไม่ต้อนรับลูกค้าที่มาจากจีนด้วย
เหตุผลที่จะทำให้มีความหวังในช่วงที่ไวรัสโคโรนาระบาด Martinello รองศาสตราจาร์ยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มองว่า มีปัจจัยเพียงเล็กน้อยที่อาจจะลดความกลัวเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาได้บ้างคือ
ประการแรก มีการนิยามหรือมีข้อบ่งชี้เกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่นี้ที่มีความรวดเร็วมากขึ้น เร็วกว่าสมัยก่อนเยอะ หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ค้นพบไวรัส ทางการจีนจึงเผยแพร่ข้อมูลนี้
ประการที่สอง เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าตอนค้นพบไวรัสโคโรนาสมัยทศวรรษ 1960 ทำให้การปฏิบัติการทางการแทพย์และไวรัสวิทยาสามารถวิจัยข้อมูลเชิงลึกเพื่อสืบค้นได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คนได้ เช่น นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าไวรัสโคโรนาสามารถติแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหวัดได้ เมื่อโรคซาร์สระบาดก็ถือเป็นครั้งแรกที่สามารถสืบย้อนดูได้ว่า ไวรัสโคโรนานี้แพร่เชื้อไวรัสมาจากสัตว์
ทั้งนี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมากกว่า อย่างน้อย 15 ล้านรายติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เสียชีวิตมากถึง 20,000 ราย นับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักคือเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และมีแนวโน้มจะแย่กว่าเดิม
มาตรการป้องกันก็คือล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงเอามือสัมผัสผิวหน้า และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ทั้งนี้ คนมักจะคุ้นเคยกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่มาตามฤดูกาลมากกว่า ทำให้รับมือน้อยกว่าหรือไม่ค่อยระมัดระวัง ป้องกันตัวเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ Martinello มองว่า การที่ความกังวลจากไวรัสโคโรนาที่แพร่กระจายอยู่ น่าจะทำให้โรคหวัดมีจำนวนลดลงเพราะผู้คนจะระมัดระวังตนเองมากขึ้น
สถานการณ์ล่าสุดจากเว็บไซต์ Gisanddata โดย Johns Hopins CSSE ที่บันทึกจำนวนผู้ติดเชื้อรายประเทศหลังยืนยันแล้วแบบเรียลไทม์ ระบุว่า ไวรัสโคโรนามีผู้ติดเชื้อรวม 14,549 ราย เสียชีวิต 305 ราย รักษาจนหายจากอาการติดเชื้อรวม 340 ราย
- จีน 14,375 ราย
- ญี่ปุ่น 20 ราย
- ไทย 19 ราย
- สิงคโปร์ 18 ราย
- เกาหลีใต้ 15 ราย
- ฮ่องกง 14 ราย
- ออสเตรเลีย 12 ราย
- ไต้หวัน 10 ราย
- เยอรมนี 8 ราย
- สหรัฐอเมริกา 8 ราย
- มาเลเซีย 8 ราย
- มาเก๊า 7 ราย
- ฝรั่งเศส 6 ราย
- เวียดนาม 6 ราย
- แคนาดา 4 ราย
- สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ 4 ราย
- อิตาลี 2 ราย
- รัสเซีย 2 ราย
- ฟิลิปปินส์ 2 ราย
- อังกฤษ 2 ราย
- เนปาล 1 ราย
- กัมพูชา 1 ราย
- สเปน 1 ราย
- ฟินแลนด์ 1 ราย
- สวีเดน 1 ราย
- อินเดีย 1 ราย
- ศรีลังกา 1 ราย
ที่มา – Business Insider (1), (2), Gisanddata
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา