บมจ. เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ หรือ CM เร่งสร้างยอดขายในประเทศเพิ่ม ปูพรมแบรนด์ขนม Cornista เข้าโรงเรียน ควบคู่กับการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์และออฟไลน์ หวังมีพื้นที่ในตลาดสแน็คไทยที่ปี 2023 มีมูลค่าตลาดกว่า 1.05 แสนล้านบาท ส่วนครึ่งแรกของปี 2023 บริษัทมีรายได้รวม 659 ล้านบาท 93% มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป
Cornisata บุกโรงเรียนเร่งสร้างแบรนด์
อังกูร พลพิพัฒนพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ หรือ CM เล่าให้ฟังว่า หลังจากนี้บริษัทเตรียมเดินหน้าทำตลาดแบรนด์ Cornista ขนมข้าวโพดฟรีซดรายเคลือบรสชาติคาราเมลบัตเตอร์และไวท์ช็อกโกแลตมากขึ้น หลังทยอยทำตลาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023
การทำตลาด Cornista ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 บริษัทจะเน้นไปที่การเข้าถึงโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ควบคู่กับการขยายช่องทางจำหน่ายที่ปัจจุบันอยู่ตามค้าปลีก รวมถึงช่องทางออนไลน์ให้มีมากขึ้น จากปัจจุบันมีจำหน่ายที่ Foodland, Gourmet Market, DON DON DONKI และ Phenix Food Wholesale
“ถ้าพูดถึงการเติบโต 100-200% อาจดูเหมือนเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน แต่หากมองในมุมที่เราเพิ่งเริ่ม ตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยาก และตัวเลข 200-300% ไม่ได้ยากอะไรนัก ดังนั้นการเติบโตในอัตรา 200-300% ยังคงอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้” อังกูร กล่าว
จุดเริ่มต้นมาจากข้าวโพดแช่แข็ง
CM เริ่มต้นธุรกิจมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน ผ่านการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งข้าวโพดแช่แข็งคือหนึ่งในนั้น โดย Cornista มาจากการนำข้าวโพดแช่แข็งมาประยุกต์ด้วยกระบวนการฟรีซดรายที่รักษากลิ่นและรสชาติของสินค้าต้นตำรับได้ดีกว่าการอบแห้งแบบทั่วไป ช่วยสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับบริษัท
นอกจากข้าวโพดแช่แข็ง CM มีการรับผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปแบบ OEM เช่น ถั่วแขกแช่แข็ง, ถั่วแระแช่แข็ง, ข้าวโพดอ่อนแช่แข็ง และผักรวมแช่แข็ง ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง เช่น ถั่วแระแช่แข็งแบรนด์ EDA กับผลิตภัณฑ์ทาขนมปังถั่วแระญี่ปุ่นผสมไวท์ช็อกโกแลตแบรนด์ Benas
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 CM มีรายได้รวม 659 ล้านบาท มากกว่าที่ทำได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 ที่ 628 ล้านบาท โดยรายได้ในครึ่งแรกของปี 2024 แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 611 ล้านบาท และรายได้ในประเทศ 20 ล้านบาท ส่วนปี 2023 ปิดรายได้ที่ 1,253 ล้านบาท ลดลงราว 100 ล้านบาทจากปี 2022
เจาะภาพรวมตลาดสแน็คไทย 1.05 แสนล้านบาท
เมื่อเดือน เม.ย. 2024 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดรายงานภาพรวมตลาดของทานเล่น หรือ สแน็ค ในประเทศไทยว่า ปี 2023 มีมูลค่าถึง 1.05 แสนล้านบาท โดยมีกลุ่ม Savoury Snacks หรือของทานเล่นรสเค็มหรือเผ็ดเป็นตัวนำที่มูลค่า Savoury Snacks 47,206.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.9
แต่ด้วยกระแสรักสุขภาพที่เติบโตอย่างชัดเจน ทำให้กลุ่มสแน็คเพื่อสุขภาพมีการเติบโตจนมีมูลค่า 28,314.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.9 ประกอบด้วยกลุ่มสำคัญดังนี้
- สแน็คที่ไม่มีน้ำตาล (No Sugar Snacks) 4,378.1 ล้านบาท
- สแน็คที่ไม่มีกลูเตน (Gluten Free Snacks) 2,991.7 ล้านบาท
- สแน็คที่เพิ่มวิตามิน (Good Source of Vitamins Snacks) 2,872.2 ล้านบาท
- สแน็คที่มีโปรตีนสูง (High Protein Snacks) 2,654.3 ล้านบาท
- สแน็คที่มีไฟเบอร์สูง (High Fiber Snacks) 1,858.4 ล้านบาท
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ชี้ว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีการดูแลสุขภาพและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการส่งเสริมของภาครัฐให้ลดการทานหวาน มัน เค็ม รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการในการออกผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มผลิตขนมเพื่อสุขภาพมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา