On-Air กับ Online ต้องไปพร้อมกัน Cool 93 เดินเกมดิจิทัลรักษาแชมป์ตลาดวิทยุ 6,000 ล้านบาท

วิทยุเป็นอีกสื่อที่มูลค่าตลาดนิ่งที่ 6,000 ล้านบาทมาระยะหนึ่ง ผ่านการเติบโตเพียงปีละ 1-2% ดังนั้นการจะอยู่รอดในตลาดนี้ได้ต้องสร้างความแตกต่าง แล้วทำไมคลื่น Cool Fahrenheit 93 ถึงยืนระยะได้ 17 ปี และครองเบอร์หนึ่งมา 16 ปีซ้อน

Online แซง On-Air มา 3 ปีแล้ว

ด้วยความที่เป็นคลื่นเบอร์หนึ่งของประเทศไทยผ่านฐานผู้ฟังต่อเดือนราว 4.1 ล้านคน ทำให้แบรนด์ และเอเยนซี่ต่างมุ่งมาที่คลื่น Cool 93 เป็นอันดับแรกๆ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือฐานผู้ฟังต่อเดือนนั้นมาจากฝั่ง Online ถึง 3.75 ล้านคน และมีผู้รับฟัง On-Air ผ่านวิทยุเพียง 1.4 ล้านคน (อ้างอิงจากผลสำรวจของ Nielsen) ที่สำคัญจำนวนผู้ฟังผ่านทาง Online เริ่มมากกว่าการรับฟังแบบ On-Air มาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมวิทยุอีกครั้ง หลังจากต้องใช้เครื่องรับ-ส่งสัญญาณ และเจอเรื่องสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด

ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุ Cool 93 เล่าให้ฟังว่า ถึงจะมีการรับฟังเพลงผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น แต่ธุรกิจคลื่นวิทยุด้านเสียงเพลงก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเมื่ออินเทอร์เน็ต และ Smartphone เข้าถึงมากขึ้น การรับฟังวิทยุก็ย้ายอยู่ Online เท่านั้น และตอนนี้แทบจะทุกคลื่นวิทยุต่างก็มีเว็บไซต์ กับ Application เพื่อให้รับฟังผ่าน Online แต่การรับฟังวิทยุผ่านเครื่องรับก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่ฟังระหว่างเดินทางบนรถยนต์ส่วนตัว ดังนั้นธุรกิจคลื่นวิทยุจะไม่หายไปจากประเทศเร็วๆ นี้

ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุ Cool Farenhiet 93

ถึง Online จะแซง แต่ On-Air ทำเงินมากกว่า

“ถ้ามองกันเรื่องรายได้ต้องยอมรับว่า On-Air ยังทำเงินให้กับบริษัทได้มากว่า โดยคิดเป็นสัดส่วน 65% รองลงมาเป็น On Ground เช่นการจัดกิจกรรม และคอนเสิร์ตต่างๆ อีก 20% ส่วน Online จะมีรายได้เพียง 15% เท่านั้น เพราะการซื้อโฆษณาส่วนใหญ่จะซื้อผ่านช่องทาง On-Air และด้วยตอนนี้คลื่น Cool 93 ออกอากาศแบบ Simulcast บน Online ดังนั้นโฆษณาที่ได้ยินก็เท่ากับมาจากฝั่ง On-Air แต่ถึงอย่างไร Online นั้นเติบโตเป็นเท่าตัว และปีนี้คาดว่าต้องเพิ่มขึ้นแน่ เพราะบริษัทเตรียมแผนการทำตลาดเพื่อดึงผู้ฟังฝั่ง Online เพิ่มอีก 20% หรือ 4.5 ล้านคน/เดือน เพื่อเพิ่มคุณค่าสื่อ”

ทั้งนี้ Cool 93 ลงทุน 10 ล้านบาทนำเทคโนโลยี ROM (Radio Online Measurement) เพื่อช่วยจับข้อมูล และพบว่ากลุ่มผู้อายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มผู้ฟังผ่าน Online มากที่สุด และ 57% ของผู้ฟังทั้งหมดเป็นผู้หญิง ซึ่งผู้ฟังผ่าน Online ทั้งหมดจะมาจากพื้นที่กรุงเทพ กับต่างจังหวัดอย่างละครึ่ง เมื่อตัวเลขมากขนาดนี้จึงมีโอกาสที่จะจำหน่ายโฆษณาเฉพาะช่องทาง Online มากกว่าเดิม จากที่ปกติแบรนด์จะซื้อแค่ช่องทาง Online ได้แค่เวลาข่าวหลัง 18.00 น. หรืออื่นๆ ที่ช่องทางคลื่นวิทยุไม่ได้ออกอากาศ ซึ่ง Online ออกอากาศ 24 ชม. แต่ถึงฐานผู้ฟังจะมากขึ้น ทางคลื่นก็ยังไม่ขึ้นค่าโฆษณาแต่อย่างใด

การใช้งาน Application ของคลื่น Cool 93

ทำ Online อย่างเดียวเริ่มแล้ว แต่แค่ส่วนน้อย

ส่วนเรื่องรายได้ของ Cool 93 ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 515 ล้านบาท เติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดวิทยุ หลังจากปี 2559 ทำรายได้ไม่ถึง 500 ล้านบาทตามเป้าหมาย โดยภาพรวมการแข่งขันในปีนี้ยังไม่มีอะไรที่หวือหวา เพราะอุตสาหกรรมวิทยุยังไม่มีสัญญาณบวก และคงเห็นการแข่งขันแค่ในแง่กิจกรรม On Ground ของแต่ละคลื่นเท่านั้น นอกจากนี้แนวโน้มเรื่องคลื่นวิทยุหันไปอยู่บนช่องทางออนไลน์อย่างเดียวก็เริ่มมีมากขึ้น เช่นคลื่น Cat Radio และอื่นๆ เนื่องจากการทำออนไลน์ไม่มีใครกำกับ และไม่ต้องไปขอใบอนุญาตจากกสทช.

ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมใช้งบประมาณราว 60 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี เช่นการจัดอีเวนท์ On Ground 20 ครั้ง รวมถึงออกแบบ Coolism หรือ Application รับฟังวิทยุของบริษัทเสียใหม่ เพื่อยกระดับการใช้งาน และจูงใจให้ผู้บริโภค Download ลงมาใช้มากขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 3 ล้าน Download ผ่านการทำระบบสะสมคะแนน Cool Degree ที่จะคิดการฟัง 1 นาที เป็น 1 Degree และหากสะสมได้จำนวนหนึ่งก็สามารถมาแลกของรางวัลได้ ทั้งนี้การจะสะสมคะแนนต้องผูกบัญชีกับ Facebook ทำให้บริษัทได้ข้อมูลผู้ใช้จากการลงทะเบียนมาด้วย

สรุป

ตอนนี้ผู้ฟังคลื่น Cool 93 นั้นสามารถแบ่งพฤติกรรมได้คือ ช่วงเช้าตื่นนอนจะฟังผ่านโทรศัพท์มือถือ และเมื่อออกจากบ้านก็จะฟังในรถยนต์ เมื่อถึงที่ทำงานจะฟังหน้าคอมพิวเตอร์ และจากนั้นก็จะวนกลับมาในรถยนต์ และโทรศัทพ์มือถือตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า Online กลายเป็นช่องทางหลักจริงๆ และถ้าคลื่นใดไม่ Go Online ก็คงลำบากในอุตสาหกรรมวิทยุขณะนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา