ผลวิจัยเผย ใกล้ชิดธรรมชาติ แก้เหงาได้ ลดความเสี่ยงเสียชีวิต 45%

ผลวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ชิ้นล่าสุดพบว่า การอยู่ใกล้ธรรมชาติหรือสัมผัสแหล่งธรรมชาติท่ามกลางเมืองใหญ่ ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้อย่างมีนัยสำคัญ ความเหงาหรือความโดดเดี่ยวนี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลด้านสุขภาพ มันสามารถสร้างความเสี่ยงให้เกิดการเสียชีวิตได้ 45% ความเหงาดังกล่าวสร้างความเสี่ยงให้แก่ชีวิตมากกว่าคนที่ต้องเผชิญอากาศเป็นพิษ หรือผู้ที่ชอบดื่มเหล้าหนักๆ เสียอีก

nature

การศึกษาดังกล่าวได้มีการเอาปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่สามารถส่งผลกระทบต่อความเหงามาประเมินเป็นครั้งแรก เป็นการนำข้อมูลแบบเรียลไทม์มาใช้ เก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนมากกว่าจะใช้ความทรงจำของผู้คนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร งานวิจัยพบว่า ความรู้สึกท่ามกลางผู้คนแออัดยัดเยียด ทำให้คนเหงาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 39% แต่คนที่เห็นต้นไม้ ท้องฟ้าหรือได้ฟังเสียงนกร้องจะช่วยลดความเหงาลง 21%

นักวิจัยระบุว่า หากผู้คนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีความแออัดเหล่านี้ต้องการลดความเหงา อาจต้องหันมารวมกลุ่มในสังคมมากขึ้นและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ช่วยทำให้คลายความโดดเดี่ยวลงบ้าง การใช้เวลากับธรรมชาติจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสุขได้ มีการประเมินว่าการเดินป่าช่วยทำให้อังกฤษลดงบต้นทุนในการรักษาสุขภาพจิตได้มากถึง 185 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 8.27 พันล้านบาท ซึ่งพื้นที่ธรรมชาติในเมืองใหญ่นั้นช่วยลดความโดดเดี่ยวของผู้คนและยังทำให้คนรู้สึกผูกพันกับสถานที่และยังเพิ่มโอกาสในการเข้าสังคมมากขึ้นด้วย

ด้าน Michael Smythe ศิลปินผู้ทำงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางสังคมและภูมิทัศน์เมือง เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่ศึกษาประเด็นดังกล่าว เขาเล่าว่าคนที่ทำงานกับพื้นที่สาธารณะแบบเขาต่างก็รู้ดีว่า ความรู้ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากพื้นที่มีคุณค่าและพวกเขาก็พบว่าสุขภาพของสิ่งแวดล้อมกับสาธารณสุขเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกัน

nature
Photo by Sergei A on Unsplash

งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ใน the Scientific Reports journal และเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันที่คนทั่วโลกสามารถโหลดไปใช้งานได้ ชื่อแอป Urban Mind แอปดังกล่าวเปิดมาครั้งแรกจะให้เลือกว่าจะตอบข้อมูลแบบส่วนตัวหรือร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นสาธารณะ ถ้าเป็นแบบส่วนตัวจะต้องมีรหัสในการเข้าไปใช้งานด้วย

จากนั้น แอปดังกล่าวจะวัดประสบการณ์ของผู้ใช้แอปเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในเมืองและในชนบท จะให้ตอบคำถามถึงความรู้สึกเกี่ยวสภาพแวดล้อมที่ผู้ใช้งานกำลังอยู่ ณ ที่นั้น ถามคำถาม 3 ครั้งต่อวันในรอบ 2 สัปดาห์ ช่วงเวลาที่ตอบคำถามจะมีทั้งตอนตื่น ตอนเหงา และตอนที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย การใช้แอปดังกล่าวเพื่อสำรวจความรู้สึกผู้คนในสภาวะแวดล้อมต่างๆ ก็เพื่อช่วยให้มีการออกแบบเมืองให้น่าอยู่ อยู่แล้วผู้คนมีความสุขมากขึ้น

Under Mind
ตัวอย่างคำถามจากแอป Under Mind

ด้าน Christopher Gidlow ศาสตราจารย์ด้านงานวิจัยสุขภาพประยุกต์จากมหาวิทยาลัย Staffordshire แห่งอังกฤษผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ พูดถึงงานวิจัยว่า มันมีการยอมรับมานานแล้วว่า การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติสามารถทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและเกิดความเชื่อมโยงกันได้ งานศึกษาชิ้นนี้จะเป็นหลักฐานชั้นดีในการช่วยเพิ่มน้ำหนักประเด็นดังกล่าวว่าการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาตินั้นส่งผลดีต่อความสุขในสังคม

มีคนตอบคำถามราว 756 คนแบ่งเป็นเพศหญิง 526 คน เพศชาย 225 คน ไม่ระบุเพศ 5 คน อายุระหว่าง 16-80 ปี ส่วนใหญ่อายุราว 33 ปี มีหลายเชื้อชาติอาทิ แอฟริกัน แคริบเบียน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ฮิสปานิก ฯลฯประเมินไปแล้ว 16,600 ครั้ง มีทั้งนักเรียน นักศึกษา 30.0% พนักงาน  53.8% นายจ้าง 9.8% คนที่เกษียณแล้ว 2.7% และคนว่างงาน 3.7%

ตัวอย่างผลสำรวจ อาทิ มีความใกล้ชิด สัมผัสธรรมชาติ 77.3% ไม่ใกล้ชิดธรรมชาติ 22.7% อยู่ในที่หนาแน่น 8.4% ไม่อยู่ในที่หนาแน่น 91.6% ตัวอย่างคำถาม เช่น คุณรู้สึกยินดีแค่ไหนเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางผู้คน ตอนนี้คุณเห็นต้นไม้ไหม เป็นต้น ผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตอบคำถามด้วยตัวเอง ผลสรุปของงานวิจัยสรุปว่า การคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติส่งผลดี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิต ทำให้คนมีความสุขและลดความโดดเดี่ยวได้ดีขึ้น

ที่มา – The Guardian, Research 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา