ต้องบอกว่าเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤติมากมาย และบางครั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ก็ลดเหลือ 5 จากเต็ม 50 แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ และเดือนต.ค. ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 แลัวดัชชีความเชื่อมั่นหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ลองมาศึกษาไปกับข้อมูลของ Nielsen กัน
ความเชื่อมั่นเริ่มฟื้น และปีหน้าจะกลับมาเต็มรูปแบบ
สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า หากนับตั้งแต่ต้นปี 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็อยู่ในขั้นปกติ หรืออยู่ราว 35 จากเต็ม 50 เพราะความสงบในประเทศ และสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากเจออะไรหนักๆ เช่นปัญหาราคาน้ำมัน, เศรษฐกิจตกต่ำ, การรัฐประหาร รวมถึงภัยแล้งที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจากการพบเจอกับวิกฤติหนักๆ มามาก เหตุการณ์เมื่อเดือนต.ค. จึงส่งผลกระทบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพียงเล็กน้อย และในเดือนพ.ย. 2559 ก็ดีดตัวจาก 36.2 เป็น 36.4 ด้วย
“คนไทยเจ็บกันมาเยอะ และจะเรียกว่าเจ็บจนสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นเวลามีวิกฤติอะไรเข้ามา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็จะนิ่งไปไม่นาน ก่อนที่จะดีดตัวกลับมาอยู่ในช่วงปกติ และทำให้การจับจ่ายในปีหน้าก็คงอยู่ในภาวะปกติอยู่ รวมถึงความเชื่อมั่นอาจเพิ่มขึ้นก็ได้หากไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบ แต่ถึงประเทศไทยจะนิ่ง นักท่องเที่ยวกลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะถ้ามีเหตุการณ์ไม่สงบนานๆ นักท่องเที่ยวเขาก็ไม่มาเหมือนกัน รวมถึงการที่มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อกิจกรรมท่องเที่ยว เช่นเดือนต.ค. ปีนี้ก็ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มเพียง 0.5% จากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่เพิ่ม 11%”
คนเมืองเยอะ ใช้เวลานอกบ้านเกิน 6 ชม. ทำ FMCG โตลำบาก
ในทางกลับกัน ถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น และน่าจะเกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มเป็นคนเมืองมาขึ้น ผ่านการใช้เวลานอกบ้านเกิน 6 ชม. ทำให้กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG อาจเติบโตช้าลง สังเกตจากตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนต.ค. การเติบโตของการใช้จ่ายสินค้า FMCG อยู่ที่ 3% ต่างจากปีก่อนที่เติบโต 3.8% โดยเฉพาะกับการบริโภคในครัวเรือน เช่นซื้อวัตถุดิบมาทำกับข้าวในบ้านที่ลดลงเหลือ 5.5 ครั้ง/สัปดาห์ ลดลงจากเดือนก.ย. ที่อยู่ราว 5.8 ครั้ง/สัปดาห์ และมูลค่าจับจ่ายต่อครั้งที่ไปซื้อสินค้าก็เหลือ 244 บาท จากเดือนก.ย. อยู่ที่ 248 บาท
นอกจากนี้กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับยาสูบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ก็มียอดขายลดลงเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วคนเมืองจะใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน ซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถหาใช้ได้จากการไปใช้บริการกับร้านค้าต่างๆ ดังนั้นการทำตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ก็จะยากขึ้น โดยเฉพาะกับสินค้าแอลกอฮอล์ และยาสูบที่ไม่สามารถโฆษณาได้ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ต้องหาวิธีการทำตลาดใหม่ๆ และปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ตลอดเวลาเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคได้ตลอดเวลา แต่ด้วยความเป็นคนเมือง ก็มีส่วนร้านค้าสะดวกซื้อที่ได้ประโยชน์จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยการจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เพิ่งขึ้น 8.3% ต่างจากร้านค้าอื่นๆ
ถึงเศร้าแค่ไหน คนไทยก็ยังปาร์ตี้กันปลายปีช่วยปั้มเงินสะพัด
ด้วยช่วงเดือนธ.ค. ของทุกปีเป็นเวลาที่การจับจ่ายของผู้บริโภคจะจับจ่ายอย่างสูงสุด ผ่านค่าเฉลี่ยเกิน 8% เมื่อเทียบกับเวลาปกติ แต่การชะลอตัวของผู้บริโภคก็อาจไม่ทำให้การจับจ่ายถึงค่าเฉลี่ยดังกล่าวเหมือนทุกปี แต่ถึงอย่างไรก็น่าจะยังเติบโตอยู่ เพราะจากการสำรวจคนไทย มีถึง 88% ที่ตัดสินใจเข้าไปร่วมกิจกรรมปีใหม่ต่างๆ รวมถึงยังซื้อของให้กันเหมือนเดิม เพียงแตกต่างจากเดิมที่กิจกรรม และสินค้าจะเรียบร้อยมากขึ้น เช่นการไปสวดมนต์ข้ามปี หรือสินค้าก็จะเป็นของโครงการหลวง และกลุ่มสำรวจนี้คาดว่า หลังจาก 2 เดือน กิจกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้ชีวิตก็จะกลับมาสู่สภาวะปกติ
ขณะเดียวกัน สมวลี ย้ำว่า ช่วงปลายปีที่รัฐบาลประกาศนโยบาย ช้อปช่วยชาติ ก็น่าจะทำให้กระตุ้นการจับจ่ายช่วงปลายปีได้ประมาณหนึ่ง เพราะเมื่อดูตัวเลขจากปีก่อนจะมีการเติบดตขึ้นจากช่วงเวลาปกติอย่างชัดเจน และมูลค่าการจับจ่ายสินค้า MFCG ปีนี้ก็จะอยู่ราว 9 แสนล้านบาท (เฉพาะช่องทางค้าปลีก) โดย 30% ของจำนวนนี้คือการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาใช้งานภายในบ้าน เช่นการซื้อน้ำมันพืชมาทำกับช้าวที่บ้าน ส่วนที่เหลือเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้นอกบ้าน เช่นการซื้อน้ำดื่มจากร้านสะดวกซื้อมาดื่มในทันที
สรุป
FMCG คือสินค้าที่ผู้บริโภคแทบจะใช้งานกันทุกวัน ดังนั้นเมื่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มกลับมา สินค้ากลุ่มนี้ก็น่าจะจับจ่ายกันมากขึ้นแน่นอน และอาจจะมีราคาสูงขึ้นด้วย เพราะสังคมเมืองย่อมชื่นชอบความสะดวกสบาย และสามารถยกระดับชีวิตได้ ดังนั้นปีหน้า หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลง โอกาสที่การจับจ่ายใช้สอยของชาวไทยก็น่าจะเติบโตแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา