REIC: สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 2/ 2567

สำรวจตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ และปริมณฑล คนรุ่นไหนอยากซื้อบ้านมากที่สุด ที่อยู่อาศัยแบบไหนที่คนอยากอยู่มาก มาดูกัน

รายงานจาก REIC ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 เผยให้เราเห็นว่า บ้านเดี่ยวมีความต้องการสูงที่สุด และวัยทำงานที่มีอายุ 25-34 ปีเป็นช่วงวัยที่ต้องการที่อยู่อาศัยมากที่สุด ดังนี้

Real Estate

สำหรับเป้าหมายในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่

32.1% ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเอง
17.8% เพื่อลงทุน, เก็งกำไร, ให้เช่า
15.0% เพื่อเป็นทรัพย์สิน
9.5% ต้องการแยกครอบครัว, แต่งงาน
8.6% ต้องการความสะดวกในการเดินทาง
7.8% ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
5.2% ต้องการพื้นที่ co-working space
3.2% ต้องการนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ
0.8% อื่นๆ

สำหรับเป้าหมายในการซื้อเพื่อลงทุนและเป็นทรัพย์สิน สัดส่วนรวม 32.8% ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่สัดส่วน 33.3% ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังให้ความสำคัญกับการลงทุน สะสมความมั่งคั่ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต

ความเชื่อมั่นของการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ต้องการซื้อเพื่อลงทุนและเป็นทรัพย์สินยังกังวลต่อปัจจัยลบจากมาตรการ LTV และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อยังไม่เอื้อต่อการซื้อเพื่อลงทุน เป็นแรงกดดันต่อภาพรวมของความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัย

สัดส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางและต้องการสภาพแวดล้อมดีขึ้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 7.8% เป็น 8.6% และจาก 7.6% เป็น 7.8% ตามลำดับ

ช่วงวัย หรืออายุของคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
49.4% อายุ 25-34 ปี
26.9% อายุ 35-44 ปี
10.0% อายุ 45-54 ปี
7.8% อายุ 18-24 ปี
5.9% อายุ 55 ปีขึ้นไป

รายได้ของคนที่ต้องการที่อยู่อาศัย เฉลี่ยต่อเดือน

15,001-30,000 บาท 34.8%
30,001-50,000 บาท 27.1%
50,001-80,000 บาท 16.2%
80,001-100,000 บาท 3.8%
มากกว่า 100,000 บาท 9.3%

ประเภทที่อยู่อาศัยและราคาที่ต้องการซื้อมากที่สุด

บ้านเดี่ยว 39.3% ต้องการซื้อระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท
คอนโดมิเนียม 36.0% ต้องการซื้อระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท
ทาวน์เฮาส์ 19.4% ต้องการซื้อระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท
บ้านแฝด 5.0% ต้องการซื้อระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท
อาคารพาณิชย์ 0.3% ต้องการซื้อระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท

จังหวัดที่คนสนใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย

กรุงเทพมหานคร 48.7%
นนทบุรี 10.5%
ปทุมธานี 8.0%
สมุทรปราการ 7.0%
นครปฐม 5.0%
สมุทรสาคร 3.9%
อื่นๆ 16.9%

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 39.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 (QoQ) ค่าดัชนีระดับ 39.2% เป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

สะท้อนว่า ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ แม้ว่าในช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 รัฐบาลออกมาตรการ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว

โดยออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% ให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 7.00 ล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้คนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในวันโอนกรรมสิทธิ์

นอกจากนี้ก็มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้แก่ โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3.00 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท สำหรับบ้านราคาตั้งแต่ 2.50 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อช่วยให้ผู้ต้องการซื้อบ้านสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ช่วยกระตุ้นให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยยังมีแรงกดดันจากปัจจัยลบหลายด้าน ดังนี้

1. การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย

2. ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 90% ของ GDP ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สถาบันการเงินต้องเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ทำให้พบการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินมีสัดส่วนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย-ปานกลาง

3. ภาวะดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 2.50% ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ลดลงโดยตรง

4. การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้ได้ส่งผลให้รายได้ของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระลดลง ซึ่งกระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยโดยตรง

ที่มา – REIC ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา