เมื่อผู้บริโภคกลายเป็นสินค้า | BI Opinion

ยุคดิจิตอลนี้มีหลากหลายบริการที่เปิดให้เราได้ใช้ฟรีๆ จะใช้อะไรก็สะดวกเพียงปลายนิ้วแถมยังไม่ต้องเสียเงินด้วย แต่เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงอาจเริ่มได้เห็นจุดเปลี่ยนผ่านจากของฟรีที่เราใช้บริการได้โดยไม่เสียตังค์มาเป็นการที่เราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างบ้างแล้ว 

ลองนึกถึงการเข้าไปดูข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้ครับ ตอนนี้เราคงชินกับการโดนบังคับให้กดยอมรับคุกกี้หรือเทคโนโลยีการติดตามเพื่อให้เจ้าของเว็บไซต์จัดเก็บข้อมูลบางอย่างไว้ที่เบราเซอร์ของผู้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ เช่น จดจำการตั้งค่าในเว็บไซต์นั้นไว้และก็จะมีการส่งข้อมูลการใช้งานกลับไปเพื่อให้เจ้าของเว็บไซต์ได้มีข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ที่เขาใส่ไว้เพื่อขออนุญาตแล้ว แต่ก็เชื่อว่าผู้บริโภคโดยทั่วไปคงไม่มีใครไปใส่ใจดูในรายละเอียดกันหรอกว่าเขาเอาข้อมูลเราไปทำอะไรบ้าง 

หรืออีกตัวอย่างที่เวลาเราดูคอนเทนต์บนแพลทฟอร์มใดๆ ตอนนี้เราจะถูกเชิญชวนให้กดไลค์ กดแชร์ กด subscribe กดกระดิ่ง กด allow notification กันตลอดเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ทำคอนเทนต์ได้มีเราเป็นฐาน subscriber มีสถิติการเข้าดูเพื่อที่จะไปช่วยเขาสร้างรายได้จากการนำไปใช้อ้างอิงเวลาหาสปอนเซอร์ไปทำรีวิวขายสินค้าต่อหรือเป็นไปตามเกณฑ์ที่แพลทฟอร์มจะจ่ายผลประโยชน์ให้ ซึ่งแน่นอนว่าแพลทฟอร์มก็จะใช้เราต่อเป็นฐานผู้บริโภคที่ถูกนำไปใช้เวลาเขาขาย targeted advertising เวลากิจการใดๆ ต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตอลเหล่านี้ หรือในบางแพลทฟอร์ม เมื่อเขาให้เราใช้บริการต่างๆ ฟรีนานพอจนเกิดความเคยชินหรือฆ่าคู่แข่งอื่นๆ ทิ้งแล้ว คราวนี้แหละก็จะถึงเวลาที่ผู้ประกอบการเขาต้องการรายได้เพื่ออยู่รอด ผู้บริโภคก็จะเริ่มเจอเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมาทีหลังมากขึ้น เช่น เคยดูคลิปวิดีโอฟรีๆ มีโฆษณามาแปะให้พอรำคาญบ้าง แต่คราวนี้อาจถูกบังคับให้ต้องดูโฆษณาขึ้นมาบังคั่นระหว่างดูคอนเทนต์ไม่ต่างจากการดูโทรทัศน์สมัยก่อน ถ้าไม่อยากรำคาญก็จ่ายเงินเป็นสมาชิกระดับพรีเมียมเสีย  หรือเคยอ่านบทความในเว็บไซต์ฟรีๆ แต่ดูบ่อยๆ มากขึ้นเขาก็อาจปิดคอนเทนต์ไม่ให้ดู ถ้าอยากดูประจำก็จ่ายเงินสมัครเป็นสมาชิกรายเดือน

ถึงแม้ผู้บริโภคไม่ได้จ่ายเงินไปเพื่อใช้บริการ แต่สิ่งที่เราแลกไปคือการให้ข้อมูลส่วนตัวไปเพื่อแลกกับการให้ผู้ให้บริการสามารถนำเราไปใช้หารายได้ต่อได้โดยเราไม่รู้ตัวและเราก็มักไม่ได้ใส่ใจในการดูข้อมูลเงื่อนไขในรายละเอียดว่าจะเสียข้อมูลอะไรไปบ้าง ดังนั้นผู้บริโภคจึงดูเหมือนจะได้รับประโยชน์เต็มๆ ไปในช่วงแรก แต่ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะถูกนำไปใช้เป็นฐานเพื่อขายข้อมูล ขายโฆษณาหรือนำเสนอบริการระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้นในภายหลัง ซึ่งในธุรกิจหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่ผู้ให้บริการบางแห่งมีการเปิดให้ลูกค้าซื้อขายหุ้นได้ฟรีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ประกอบการเขาก็ต้องหารายได้จากช่องทางต่างๆ มาทดแทน เช่น เงินของลูกค้าที่ฝากอยู่กับเขาจะไม่ได้ดอกเบี้ยอย่างที่พึงจะได้รับ หรือคำสั่งซื้อขายหุ้นของนักลงทุนอาจไม่ได้ถูกส่งเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยตรงแต่จะถูกอ้อมส่งไปให้ market maker ก่อนเพราะหากคำสั่งได้รับการจับคู่ผู้ประกอบการจะได้รายได้ (payment for order flow) ซึ่งความโปร่งใสด้านการซื้อขายก็อาจลดลง หรือในบางกรณีเขาอาจขายข้อมูลคำสั่งซื้อขายเหล่านี้ให้กับ hedge fund หรือใครก็ได้ที่ต้องการเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้เขา ซึ่งผู้ที่ได้ข้อมูลจะเอาไปทำอะไรต่ออันนี้ก็ไม่มีใครทราบได้แล้ว

ดังนั้น ผู้บริโภคควรต้องดูเงื่อนไขดีๆ ว่าสิ่งที่คุณจะเสียไปเพื่อแลกกับบริการฟรีนี้มันคุ้มค่ากับคุณหรือไม่ และบริการฟรีที่ว่านั้นเป็นแค่โปรโมชั่นระยะสั้นเพื่อดึงดูดลูกค้าหรือเป็นของจริงที่มาจากการที่ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้จริงจังและนำประโยชน์นั้นมาหยิบยื่นให้กับผู้บริโภค เพราะถ้าเป็นอย่างแรกนี่สุดท้ายตัวผู้บริโภคเองแหละครับที่จะตกเป็นสินค้าให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้นำไปหารายได้ต่อ ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็เป็นมาช้านานแล้วไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกันในยุคดิจิตอล ตัวอย่างเช่น เราได้ดูรายการโทรทัศน์ฟรีหรือฟังวิทยุฟรีก็เพราะเราเป็นเรทติ้งฐานผู้ชมฐานผู้ฟังให้ผู้จัดรายการเขาไปใช้อ้างอิงในการขายโฆษณา 

ดังนั้น สุดท้ายอาจเข้าสู่กฎของธรรมชาติที่ว่าของดีที่ฟรีมันคงยากที่จะมีอยู่จริง เพราะธุรกิจใดๆ ก็ย่อมต้องการผลตอบแทนทั้งนั้น มันขึ้นกับว่าระยะเวลาของการหารายได้ว่าความจำเป็นจะมาเมื่อไรหรือจะมาในรูปแบบไหนและมีความชัดเจนและโปร่งใสให้กับผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา