งานเข้าแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติจีน Shein ถูกตั้งคำถามเรื่องบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ไม่เลิก สหรัฐฯ จับตามองหนักขึ้นหลังเริ่มได้รับความนิยมสูง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสภาคองเกรส 22 รายทั้งจากฝั่งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยื่นจดหมายต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาหรือ SEC เรียกร้องให้กำหนดให้ Shein แบรนด์เสื้อผ้า Fast Fashion สัญชาติจีนรับรองต่อ SEC ว่าผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไม่ได้ผลิตโดยการบังคับใช้แรงงายอุยกูร์
เนื้อหาในจดหมายที่ยื่นต่อ SEC มีใจความว่า มีข้อกล่าวหาที่เชื่อถือได้ว่า Shein ได้บังคับใช้แรงงานอุยกูร์ในเขตปกครองซินเจียงและกดค่าแรงต่ำกว่าปกติ ทำให้สมาชิกรัฐสภาต้องการความโปร่งใสและข้อพิสูจน์จากแบรนด์โดยไม่มีอิทธิพลจากรัฐบาลจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตัวแทนของ Shein เผยต่อสำนักข่าว CNN ปฏิเสธว่า แบรนด์ไม่มีซัพพลายเออร์อยู่ในเขตซินเจียงและยืนยันว่าแบรนด์ต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาได้แบนสินค้านำเข้าจากเขตซินเจียงตามกฎหมาย Uyghur Forced Labor Prevention Act เนื่องจากความกังวลว่าจะมีการบังคับใช้แรงงาน ขณะที่จีนเองก็ปฏิเสธว่าไม่ได้บังคับใช้แรงงานอุยกูร์พร้อมเผยว่าการกระทำแบบนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายจีนเช่นเดียวกันแม้ว่าจะมีรายงานและสารคดีออกมาว่ามีการใช้บังคับใช้แรงงานจริง
Shein เริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา แอปพลิเคชันของแบรนด์เป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ในสหรัฐอเมริกา และมีรายงานว่าบริษัทเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ภายในปีนี้
แบรนด์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2008 โดย Chris Xu หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของจีนในปัจจุบัน ในปี 2022 Shein กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด จากรายงานของ Money.co.uk เว็บไซต์ให้บริการด้านการเงินของสหราชอาณาจักรเผยว่า Shein แซงหน้าแบรนด์ดังอย่าง Nike และ Adidas ในการเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีผู้ค้นหาใน Google มากที่สุด และแซงหน้า Zara และ Macy’s ในเรื่องยอดขายออนไลน์
อย่างไรก็ตาม มีรายงานหลายชิ้นเผยว่า แบรนด์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Shein ดำเนินธุรกิจโดยเน้นไปที่การผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion ราคาถูกที่ส่งออกไปยังกว่า 150 ประเทศ เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัยรุ่นก่อนจะแตกไลน์สินค้าอื่น เช่น ของใช้ภายในบ้าน Shein ใช้โมเดลธุรกิจคล้ายกับ Amazon โดยเป็นตลาดออนไลน์ที่มีโรงงานเสื้อผ้ากว่า 6,000 แห่งภายใต้แบรนด์
จุดเด่นของกลยุทธ์การตลาดของ Shein เน้นพื้นที่โฆษณาบน Facebook และ Google การทำรายการเรียลลิตี้พร้อมคนดังอย่าง Khloé Kardashian และที่สำคัญที่สุด คือ แคมเปญโฆษณา #SHEINhaul ที่ให้อินฟลูเอนเซอร์ลองเสื้อผ้าของแบรนด์และโพสต์วิดีโอลงบน TikTok แลกกับการที่ผู้ติดตามอินฟลูอินเซอร์คนนั้น ๆ จะได้ส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากแบรนด์เมื่อซื้อสินค้าผ่านวิดีโอ
กลยุทธ์ด้านธุรกิจทำให้แบรนด์เติบโตอย่างมาก Bloomberg รายงานว่าในปี 2022 Shein มียอดขายแตะ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 3.37 ล้านล้านบาท จากปี 2022 ที่มียอดขายอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญ ถือว่าเพิ่มขึ้น 10 เท่าในระยะเวลาเพียง 2 ปี
Shein ไม่ได้เป็นแบรนด์สัญชาติจีนเพียงแบรนด์เดียวที่ถูกสหรัฐอเมริกาจับตามอง แต่ยังมีแบรนด์ Temu ที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าจีนที่ก่อตั้งขึ้นโดย PDD Holdings ที่เป็นเจ้าของ Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชจีนเจ้าใหญ่ที่ถูกสืบสวนว่าสามารถสอดแนมผู้ใช้งาน
ทั้ง Shein และ Temu ถูกเพ่งเล็งว่ามีความเชื่อมโยงกับการบังคับใช้แรงงาน การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ทางการค้า ความไม่ปลอดภัยของสินค้า และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
อ่านเพิ่มเติม
- สงครามการค้ารอบใหม่! สหรัฐผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่บังคับใช้แรงงานจากซินเจียง จีน
- ฝ้ายจากซินเจียงคือฝ้ายที่ฉันรัก ดีไซเนอร์จีน คนจีนมั่นใจ ชาติจีนไม่ได้ทำอะไรอุยกูร์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา