ดอกเบี้ยทบต้น คืออะไร คนอยากออมเงินต้องรู้!

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่าดอกเบี้ยกันมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ เงินปันผลก็ถือว่าเป็นหนึ่งในดอกเบี้ยเหมือนกัน และที่จะได้ยินควบคู่กันอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ ดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งบทความนี้จะพามาทำความเข้ากับ ดอกเบี้ยทบต้น ให้มากขึ้นกัน

ดอกเบี้ยทบต้น คืออะไร

ดอกเบี้ยทบต้นหรือ Compound Interest คือรูปแบบการคำนวณดอกเบี้ยที่จะนำยอดรวมระหว่างเงินต้นและดอกเบี้ยในงวดก่อนหน้ามาเป็นตัวคิดคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดถัดไป ทำให้เมื่อเงินต้นนั้นสูงขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้ก็จะสูงตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น บัญชีเงินฝาก A มีดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ 1% ต่อปี หากเราฝากเงินเข้าบัญชีไป 1 ล้านบาทโดยไม่ถอนออกมาเป็นเวลา 3 ปี ดอกเบี้ยทบต้นจะเริ่มทำงานจากเงินต้นของทุกๆ ปี ซึ่งเงินที่อยู่ในบัญชีจะงอกเงยเป็นดังนี้

ปีที่ 1 เงินต้น 1,000,000 บาท รวมกับดอกเบี้ย 1% (10,000 บาท) ในปีนี้เราจะมีเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,010,000 บาท

ปีที่ 2 เงินต้น 1,010,000 บาท รวมกับดอกเบี้ย 1% (10,100 บาท) ในปีนี้เราจะมีเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,020,100 บาท

ปีที่ 3 เงินต้น 1,020,100 บาท รวมกับดอกเบี้ย 1% (10,201 บาท) ในปีนี้เราจะมีเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,030,301 บาท

อย่างที่เห็นว่าในปีที่ 3 หากไม่มีการถอนเงินออกมาเราจะมีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชี 1,030,301 บาท และจะถูกคำนวณไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาของการฝาก เป็นการให้ดอกเบี้ยทำให้เงินงอกเงย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการคิดดอกเบี้ยเงินฝากแบบนี้จะอยู่ในรูปแบบของเงินฝากออมทรัพย์

วิธีการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น

เงินต้นรวมดอกเบี้ย = เงินต้น * (1+อัตราดอกเบี้ยต่อปี) ยกกำลังจำนวนปี

หากนำตัวอย่างข้างต้นมาแทนในสูตรนี้ จะได้เท่ากับ [ 1,000,000 * (1+0.01) ^3 = 1,030,301 ]

นอกจากการฝากออมทรัพย์แล้ว ยังมีการลงทุนที่มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นคล้ายกับการฝากออมทรัพย์​ เช่น กองทุนรวมชนิดสะสมมูลค่า หรือ การเอาดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนไปลงทุนต่อในหลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนเท่าเดิม

เมื่อมีรายรับก็ต้องมีรายจ่าย ดอกเบี้ยทบต้นที่เกิดขึ้นฝั่งรายจ่ายก็มีเช่นกันที่ใกล้ตัวหน่อยก็คือดอกเบี้ยบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ดอกเบี้ยบ้าน เป็นต้น

อย่างดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นจะเกิดจากการจ่ายล่าช้าหรือการจ่ายขั้นต่ำ หากมีการจ่ายขั้นต่ำอยู่ตลอดและไม่หยุดใช้จ่ายก็จะทำให้เงินต้นนั้นไม่ลดลง สวนทางกับดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เรายังจ่ายล่าช้าอยู่ หากไม่รีบปิดยอดและหยุดการใช้จ่ายบัตรใบนั้นก็จะทำให้เราเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

Source : CIMB Thai, ttbbank.com, longtunman.com,SET Investnow

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา