Communtity Mall ยังเหลือที่บนถนนทุกสาย แต่รูปแบบ – กลุ่มเป้าหมายต้องศึกษาให้ดี

เมื่อชีวิตคนเมืองเปลี่ยนไป การทำงานรีบเร่ง และต้องการพักผ่อนแบบสะดวกสบาย ดังนั้นห้างสรรพสินค้าข้างบ้านคืออีกทางออก ทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาห้างในลักษณะนี้ขึ้นจำนวนมาก เพื่อตอบความต้องการของผู้บริโภค แต่บางแห่งก็มีล้มหายตายจากกันไปบ้าง ลองมาศึกษากลยุทธ์การบริหารอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้กัน

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ริมถนนทั่วกรุงเทพพัฒนาเป็น Mall ได้

กฤษณา อุดมพิทยภูมิพิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอกาสมา จำกัด บอกว่า ถนนเส้นหลักในกรุงเทพสามารถพัฒนาเป็น Mall หรือห้างสรรพสินค้าได้ทุกแห่ง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยังชอบไปพักผ่อนตามห้างต่างๆ อยู่ แต่ไม่ใช่ห้างที่สร้างจะสำเร็จไปทุกแห่ง ผ่านประเภทของห้างที่ค่อนข้างเยอะ เช่น Department Store, Community Mall, Entertainment Mall และ Sport Mall เป็นต้น ดังนั้นก่อนจะลงทุนก่อสร้างต้องทำการสำรวจพื้นที่เพื่อศึกษาความต้องการของชุมชน และลักษณะการใช้ชีวิตก่อน

“ตอนนี้ Community Mall เกิดขึ้นเยอะมาก แต่เชื่อว่ายังมีพื้นที่อีกมากมายที่ให้โครงการต่างๆ ไปก่อสร้าง เพราะคนอยู่ชานเมืองก็เริ่มไม่อยากฝ่ารถติดเข้าไปพักผ่อนภายในเมืองแล้ว ดังนั้นถ้า Mall ต่างๆ สามารถดึงกิจกรรมที่คนเมืองในชีวิตมาอยู่ข้างนอกได้ เช่นร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร รวมถึง Super Market ที่เป็นตัวดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาเดินใน Mall ที่อยู่ใกล้กับชุมชน นอกจากนี้เรื่องบริการต่างๆ เช่นธนาคารก็เป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้ Mall ที่เปิดใหม่เติบโตอย่างยั่งยืน”

กฤษณา อุดมพิทยภูมิพิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอกาสมา จำกัด
กฤษณา อุดมพิทยภูมิพิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอกาสมา จำกัด

ถ้าทำ Community Mall ต้องจำลองให้เป็นอีกชุมชน

อย่างไรก็ตามเมื่อเทรนด์ผู้บริโภคเริ่มใช้ชีวิตพักผ่อนใกล้บ้านมากขึ้น ทำให้ Community Mall กลายเป็นรูปแบบห้างที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องการเข้ามาลงทุนสูง แต่ด้วย Community Mall หมายถึงแหล่งรวมชุมชนระแวกนั้น ทำให้การดึงบุคลิกของแต่ละชุมชนออกมาจึงจำเป็นที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละชุมชน ประกอบกับต้องมีโลเคชั่นที่ดี แม้จะอยู่ไม่ติดถนนใหญ่ แต่ใกล้แหล่งชุมชนก็มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนสร้าง Community Mall และตลาดนี้ไม่ได้แข่งกันชัดเจน อยู่ที่แต่ละห้างจะดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มไหนมากกว่า

ธัชชัย ศีลพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคเอเอ็น พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เล่าว่า ด้วยถนนรามอินทรายังไม่มี Community Mall เปิดมากนัก โดยเฉพาะตั้งแต่แยกหลักสี่ จนถึงจุดตัดถนนประดิษฐ์มนูญธรรม (เลียบทางด่วนรามอินทรา) ประกอบกับผู้บริโภค โดยเฉพาะคนทำงานเริ่มย้ายออกมาอยู่ชานเมืองมากขึ้น ทำให้การสร้าง Community Mall เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันจึงเป็นไปได้ ประกอบกับถนนเส้นนี้กำลังจะมีรถไฟฟ้าสีชมพู ทำให้ความน่าสนใจในการสร้าง Community Mall จึงมีมากขึ้น

ภาพโครงการ Ease Park
ภาพโครงการ Ease Park

ลงทุน 200 ล้านบาท สร้าง Ease Park

จากเหตุผลข้างต้น เคเอเอ็น พร๊อพเพอร์ตี้ จึงลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้าง Community Mall ภายใต้ชื่อ Ease Park บริเวณถนนรามอินทรา กม. 4.5 (ซ.มัยลาภ) และห่างจากรถไฟฟ้าสีชมพูสถานีไมยราพราว 100 ม. โดยภายในห้างนี้มีพื้นที่ 3.5 ไร่ ประกอบด้วยอาคารสูง 3 ชั้น มีร้านค้ารวม 17 ร้าน เช่น Villa Market, Neo Suki และ King Kong Buffet รวมถึงร้าน Starbucks ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ปัจจุบันมีผู้ค้าเช่าพื้นที่แล้ว 80% และพร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนธ.ค. นี้

สำหรับ Ease Park จะเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่อาศัยรอบห้างในระยะห่าง 3.5 – 4 กม. ผ่านการทำ Direct Marketing ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เช่นการลงโฆษณา Facebook และ Google กับผู้ที่อยู่อาศัยในระยะห่างดังกล่าว นอกจากนี้ยังเตรียมจัดกิจกรรต่างๆ เช่นการดึงร้านอาหารภายในเมืองมาออกร้านในตัวห้าง เพื่อลดปัญหาการเข้าไปพักผ่อนภายในเมือง ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะพัฒนาธุรกิจที่พักอาศัยแนวราบในรูปแบบทาวน์เฮาส์ระแวกรามอินทรา 1 โครงการในปี 2560 และในปี 2561 อีก 2 โครงการ

สรุป

โอกาสของ Community Mall ยังมีเสมอ แต่ด้วยพื้นที่ที่น้อยลง ประกอบกับค่าที่ก็แพงขึ้นทุกวัน ทำให้การลงทุนเรื่องนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยง และหากสายป่านไม่ยาวก็อาจหลุดจากช่วงเริ่มต้นได้ยาก ดังนั้นเรื่องโอกาสก็จริง แต่ก่อนจะลองลุงทุนต้องศึกษาภาพรวมของชุมชนเหล่านั้นให้ดีก่อน โดยส่วนตัวเชื่อว่าการสร้าง Community Mall จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้ เพราะคนในชานเมืองค่อนข้างต้องการพักผ่อนใกล้บ้าน ไม่อยากเดินทางไกล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา