สัญญาณดีตั๋วร่วม…? เมื่อ Easy – Pass จับมือ M – Pass

ผู้ใช้ทางด่วน และมอเตอร์เวย์คงดีใจไปตามๆ กัน เมื่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับกรมทางหลวง จับมือกันใช้อุปกรณ์ผ่านทางอัตโนมัติร่วมกันซักที หลังจากการทางพิเศษฯ เริ่มต้นบริการนี้มาก่อน ในชื่อ Easy – Pass เมื่อปี 2555 ก่อนที่กรมทางหลวงจะเปิดใช้ M – Pass ในปี 2558

โดยการเชื่อมต่อทั้งสองระบบเข้าด้วยกันเพื่อใช้ผ่านทางได้ทั้งทางด่วนที่บริหารงานโดยการทางพิเศษฯ และเส้นทางมอเตอร์เวย์ช่วงกรุงเทพ – ชลบุรี กับบางนา – บางปะอิน  จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 พ.ย. เป็นวันแรก เรียกว่าเป็นสัญญาณดีของการใช้งานระบบตั๋วร่วมของประเทศไทยก็ว่าได้

แต่จริงๆ ระบบนี้น่าจะเชื่อมต่อกันตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ควรแยกออกมา เพราะถือเป็นการลงทุนซ้ำซ้อน ที่สำคัญช่วงนั้นผู้ใช้ Easy – Pass ก็แตะที่ 1 ล้านผู้ใช้แล้ว ดังนั้นการสร้างระบบใหม่ขึ้นมา ในขณะที่ระบบเดิมดีอยู่แล้วจึงไม่ใช่เรื่องที่มีเหตุผลนักที่จะเปิดระบบใหม่ที่ใช้งานเหมือนกัน

แม้ M – Pass จะชูความแตกต่างจาก Easy – Pass ในเรื่องการใช้เป็นอุปกรณ์ผ่านทาง พร้อมกับนำเงินก้อนนั้นไปใช้ชำระค่าบริการ หรือซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์อื่นๆ ได้ จนปัจจุบันมี 1.2 แสนผู้ใช้ แต่ก็ไม่ใช่ตัวดึงดูดให้ผู้ขับรถหันมาใช้ระบบนี้ เพราะ E – Wallet ในเมืองไทยก็มีให้เลือกหลายเจ้า และมีโปรโมชั่นที่โดดเด่นกว่า

อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงต้นของการให้บริการ M – Pass เมื่อปี 2558 ต้องการให้เป็นระบบตั๋วร่วมตั้งแต่ต้นตามที่พล.อ.อ.ประจิน จั่่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นกล่าวไว้ว่า ต้องการพัฒนาระบบ ETC (Electronic Toll Collection) ร่วมกับ Easy – Pass แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา และมีข้อกฎหมายที่ต้องศึกษา

จนต้องรอตกตะกอนถึง 1 ปี จึงจะออกมาเป็นระบบตั๋วร่วมอย่างเป็นรูปธรรม เรียกว่าเป็นตั๋วร่วมของระบบคมนาคมแรกๆ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้านี้หลายโครงการก็มีความพยายามสร้างระบบตั๋วร่วม แต่ก็ไม่สำเร็จซักที ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่ผู้อ่านบางรายก็คงเดากันได้

บัตรแมงมุม ภาพจาก // เฟสบุ๊ก Thai Common Ticket
บัตรแมงมุม ภาพจาก // เฟสบุ๊ก Thai Common Ticket

ถึงขั้นปีที่แล้วมีการจัดประกวดออกแบบตั๋วร่วม และได้ผู้ชนะเมื่อเดือนต.ค. 2558 คือ นางสาววรรธิชา อเนกสิทธิสิน ที่ออกแบบบัตรตั๋วร่วมในชื่อ แมงมุม และเป็นบัตรแรกที่ใช้งานได้ทั้งระบบรถไฟฟ้า, ทางด่วน, มอเตอร์เวย์ และรถเมล์ ที่สำคัญจะใช้งานได้จริงกับระบบข้างต้นในเดือนส.ค. 2559

แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แถมยังเลื่อนกำหนดวันให้บริการไปเป็นเดือนก.พ. 2560 ทำให้ผู้บริโภคก็ยังต้องพกบัตรจำนวนมากใส่กระเป๋าหากต้องการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ แม้จะดีขึ้นมาหน่อยตรงหน่วย M – Pass ใช้งานร่วมกับ Easy – Pass ได้แล้ว

สุดท้ายการเชื่อมต่อระบบระหว่าง M – Pass กับ Easy – Pass ก็ยังไม่ใช่สัญญาณดีของการเกิดระบบตั๋วร่วมในประเทศไทยอยู่ดี เพราะไม่ได้มีชื่อเดียวกัน ประกอบกับระบบเก็บเงินในนั้นก็เป็นคนละกระเป๋า และคิดว่าวันใดวันหนึ่งก็คงมีซักระบบที่หายไป

ส่วนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เจรจากันจนสำเร็จ เพื่อให้ระบบตั๋วร่วมเกิดขึ้นจริง

และเชื่อว่าทุกคนคงรอได้ และพร้อมที่จะติดบัตร 3 – 4 ใบ เพื่อใช้เดินทางในระบบขนส่งมวลชนต่างๆ

เพราะหลายคนคงรอตั้งแต่ช่วงรถไฟฟ้าใต้ดินเกิดใหม่ๆ เมื่อปี 2547 หรือ 10 กว่าปีมาแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา