Com7 เตรียมควัก 400-500 ล้านบาท ควบรวมกิจการน่าสนใจ หวังติดอาวุธธุรกิจโตยั่งยืน

เรียกว่าเปิดปีอย่างดุดันก็ว่าได้ หลังกลุ่ม Com7 ยืนยันว่าเตรียมควบรวมธุรกิจที่น่าสนใจอีก หลังซื้อค้าปลีกมือถือรายย่อย แถมเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทลิซซิ่งจากแดนอาทิตย์อุทัยกับกลุ่ม Synnex อีก เพื่อเป็นเบอร์หนึ่งยาวๆ

สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น

M&A ช่วยสร้างการเติบโตก้าวกระโดด

ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีอาจไม่เติบโตอย่างหวือหวาเหมือนช่วงแรกๆ ที่คอมพิวเตอร์บูม โดยมีสินค้ากลุ่ม Smartphone เข้ามาแทนที่ และแย่งกำลังซื้อจากสินค้ากลุ่มไอทีไปพอสมควร ทำให้ผู้ค้าไอทีต่างๆ ต้องปรับตัว เพื่อพยุงธุรกิจให้เจริญเติบโตต่อไป ซึ่งกลุ่ม Com7 ก็คือหนึ่งในค้าปลีกไอทีที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก

สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น เล่าให้ฟังว่า การปรับตัวของบริษัทนั้นทำมาโดยตลอด สังเกตจากยอดขาย Smartphone ที่คิดเป็นสัดส่วนมากขึ้นเรื่องๆ โดยสิ้นปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 49% จากการเร่งทำตลาดเพียงไม่กี่ปี เช่นการจับมือกับแบรนด์จีน และการเป็นพาร์ทเนอร์กับ Samsung และ Apple อย่างเหนียวแน่น

ขณะเดียวกันการควบรวมกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยให้บริษัทมีโอกาสในการทำตลาดมากขึ้นเช่นกัน อาทิการเข้าควบรวมกิจการค้าปลีกมือถือ BKK, กิจการติดตั้งระบบ NOVUS INTEGRATION และล่าสุดในกลางปีก่อนกับการจับมือผู้นำเข้าสินค้าไอที Synnex เพื่อถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจลิซซิ่ง BAF จากญี่ปุ่น

ไม่หวั่นการเข้ามาของร้าน Apple Store

“การเข้าถือหุ้นใหญ่ใน BAF ร่วมกับ Synnex จะช่วยธุรกิจในอนาคตแน่ๆ เพราะ BAF เพิ่งเข้ามาทำลิซซิ่งในไทย และเน้นที่รถจักรยานยนต์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง1% จึงมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งขอเราวางระบบให้เรียบร้อยก่อน และมันจะต่อยอดธุรกิจเราแน่ๆ เช่นการซื้อ Smartphone และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ โดยจะเห็นได้ชัดเจนในปี 2562”

จำนวนหน้าร้านของกลุ่ม Com 7 ที่มีถึง 629 แห่งในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้กลุ่ม Com7 เตรียมงบประมาณควบรวมกิจการไว้อย่างน้อย 400-500 ล้านบาท/ปี ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทที่อยู่ในเกณฑ์พิจารณาจำนวนหนึ่ง และบริษัทเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจหลักของกลุ่ม Com7 เช่นเป็นผู้นำเข้าสินค้า หรือเป็นผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับช่องทางจำหน่ายเป็นต้น

ส่วนข่าวการเข้ามาเปิดหน้าร้าน Apple Store ในประเทศไทยของ Apple นั้น ทางบริษัทมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะแสดงถึงความสำคัญของตลาดประเทศไทย และช่วยสื่อสารแบรนด์ Apple ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าเดิม ทำให้ Com7 ที่เป็นเบอร์หนึ่งผู้จำหน่ายสินค้าของ Apple มีโอกาสจำหน่ายได้มากขึ้นเช่นกัน

ภาพ pixabay.com

หวังปี 2561 โต 15% จาก 20,000 ล้านบาท

สำหรับเป้ารายได้ในปี 2561 ของกลุ่ม Com 7 ตั้งไว้ที่เติบโต 15% จากรายได้ประมาณการณ์ปี 2560 ที่ 20,000 ล้านบาท ผ่านการวางงบลงทุนที่ 380 ล้านบาท แบ่งเป็นขยายสาขา และปรับปรุงร้านเดิม 280 ล้านบาท, ลงทุนด้านการตลาด 50 ล้านบาท และที่เหลือใช้กับธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท เช่นออนไลน์ และการขายเข้าโครงการ

“ปีนี้ขอตั้งให้โตน้อยกว่าปีก่อนที่โตจาก 2559 ถึง 20% เล็กน้อย เพราะปีนั้นเราทำได้ดีเกินคาด ปรับเป้ารายได้ถึง 3 ครั้ง หลักๆ มาจากยอดจำหน่ายมือถือที่โตก้าวกระโดด รวมถึงตัวหน้าร้านออนไลน์ bananastore.com กับรายได้การเข้าโครงการก็เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน จึงเป็นความท้าทายของเราในการรักษาการเติบโตในปีนี้ไว้ให้ได้”

ด้านกระแสการจำหน่าย iPhone ในประเทศไทยตอนนี้ “สุระ” ยอมรับว่า ช่วงแรกที่ iPhone X เปิดตัวมียอดจำหน่ายเยอะมาก แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงทรงๆ โดยมี iPhone 8 ทั้งสองรุ่นเริ่มมียอดขายกระเตื้องขึ้น ซึ่งปัจจุบันทาง Com7 มียอดจำหน่ายเครื่องเปล่าถึง 80% ส่วนเครื่องที่จำหน่ายพร้อมซิมการ์ดอยู่ที่ 20% เท่านั้น

สรุป

จากเดิมที่ฝากภาระรายได้ไว้กับสินค้าคอมพิวเตอร์ Com7 ก็มีสัดส่วนรายได้จาก Smartphone เป็นหลักแล้ว แถมปีนี้ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่ม และกระจายธุกิจอื่นๆ ออกมาอีก จึงเชื่อว่าการครองเบอร์หนึ่งในแง่ผู้ค้าไอทีคงไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับแบรนด์ที่มีทั้ง Apple และความแข่งแกร่งในช่องทางจำหน่าย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา