จับชีพจรร้านกาแฟ Starbucks ทำเดลิเวอรี TrueCoffee เปิด Subscription และ Amazon บุกพรีเมียม

แม้หลายคนยังต้อง Work from Home จนการดื่มกาแฟนอกบ้านน้อยลง แต่ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ในไทยต่างปรับตัวเพื่อประคองยอดขาย ดังนั้นลองมาดูกันว่า Starbucks, TrueCoffee และ Cafe Amazon ทำอะไรบ้าง

coffee

Starbucks กับการทำเดลิเวอรีเอง

เริ่มต้นที่ Starbucks ก่อน เพราะล่าสุดเปิดตัว Starbucks Delivers บริการส่งกาแฟ, เครื่องดื่ม และอาหารถึงบ้าน ถือเป็นการต่อยอดจากที่เคยเปิดตัวบริการสั่งเครื่องดื่ม กับอาหารล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Starbucks TH แล้วไปรับที่ร้าน รวมถึงการร่วมมือกับแพลตฟอร์มส่งอาหารอื่น ๆ เพื่อรุกตลาดเดลิเวอรีได้

สำหรับ Starbucks Delivers ผู้ซื้อสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Starbucks TH เหมือนการสั่งซื้อล่วงหน้า และ Starbucks Delivers ยังแตกต่างจากการสั่งเครื่องดื่ม และอาหารผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหารรายอื่นคือ สะสม และใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของ Starbucks Rewards ได้ ทั้งยังมีโปรโมชันเหมือนกับหน้าร้าน

จากการสอบถามพนักงานส่งของ Starbucks Delivers ทราบว่า Starbucks จ้างพนักงานส่งของตัวเอง ไม่ได้ใช้พาร์ตเนอร์รายอื่น แต่การใช้งาน Starbucks Delivers ยังด้อยกว่าแพลตฟอร์มเดลิเวอรีอื่น ๆ เช่นไม่สามารถตรวจสอบสถานะจัดส่ง มีแค่ข้อความแจ้งว่าผู้ส่งรับสินค้า หรืออยู่ระหว่างเดินทาง และถ้าส่งฟรีต้องสั่ง 300 บาทขึ้นไป

ล่าสุดตัวแทนทีมประชาสัมพันธ์ Starbucks แจ้งว่า การจัดส่งเครื่องดื่มและขนมที่สั่งผ่าน Starbucks Delivers ดำเนินการโดยบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดส่งอาหาร และปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Starbucks TH ถึง 1.7 ล้านคน

TrueCoffee ชูกลยุทธ์ Subscription

ต่อด้วย TrueCoffee ที่สู้ศึกร้านกาแฟด้วยกลยุทธ์ Subscription จากเดิมที่เปิดให้บริการสั่งซื้อเครื่องดื่ม และอาหารล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน TrueCoffee มาระยะหนึ่งแล้ว โดย TrueCoffee เคลมตัวเองว่าเป็นร้านกาแฟรายแรก และรายเดียวในไทยที่ให้บริการแบบ Subscription

รายละเอียดบริการ Subscription ของ TrueCoffee จะมีทั้งหมด 5 รูปแบบไล่ตั้งแต่ราคาต่ำไปสูงคือ Boran All The Way, I Like it Hot, Hot or Cold, True Signature Lover และ Everything Jingle Bell เริ่มต้นที่ 10 แก้ว/เดือน ราคา 599 บาท จนถึง 30 แก้ว/เดือน ราคา 2,999 บาท

ข้อแตกต่างของแต่ละแบบเช่น เลือกได้เฉพาะเครื่องดื่มกาแฟร้อน, เลือกเครื่องดื่มอะไรก็ได้แบบร้อน และเย็น หรือเลือกได้ทั้งร้อน-เย็น-ปั่น สามารถอัพไซต์เครื่องดื่ม และเพิ่มเบเกอรีด้วยการจ่ายเงินเพิ่มอีกเล็กน้อยได้ แต่น่าเสียดายที่บริการนี้ยังต้องสั่งล่วงหน้าเพื่อไปรับหน้าร้าน ยังตัดยอดเครื่องดื่มเพื่อส่งถึงบ้านผ่านแอปพลิเคชันอื่น ๆ ไม่ได้

truecoffee

Cafe Amazon กับการบุกตลาดพรีเมียม

สุดท้ายที่ Cafe Amazon หนึ่งในธุรกิจของ PTTOR ที่เมื่อปลายปี 2020 ลงทุนกว่า 170 ล้านบาท ในบริษัทเจ้าของร้านกาแฟพรีเมียม Pacamara เพื่อบุกตลาดนี้ เพราะเดิมที Cafe Amazon อาจโดดเด่นที่สาขาจำนวนมาก แต่ในตลาด Specialty Coffee ที่กำลังเติบโต บริษัทกลับยังไม่มีที่ยืนมากนัก

หากอ้างอิงจากข้อมูลของ Nestle จะพบว่า ภาพรวมตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2020 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท และกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท เหตุที่กาแฟในบ้านเติบโตเพราะ COVID-19 ระบาด ทำให้ผู้บริโภคอยู่บ้านกันมากขึ้น แต่ยังต้องการดื่มกาแฟอยู่เหมือนเดิม

จึงไม่แปลกที่ Starbucks, TrueCoffee และ Cafe Amazon พยายามตีแตกการดื่มกาแฟนอกร้านด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อประคองยอดขายในวิกฤต COVID-19 ที่เริ่มกลับมาสร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคอีกครั้ง และในครึ่งหลังของปี 2021 น่าจะได้เห็นกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์ของแบรนด์เหล่านี้อีกแน่นอน

coffee
ภาพจาก pixabay.com

สรุป

ธุรกิจร้านกาแฟไม่ว่าจะเชนใหญ่อย่าง Starbucks, TrueCoffee หรือ Cafe Amazon รวมถึงร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่เน้นบรรยากาศ ต่างต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะจะขายแค่บรรยากาศในร้านเหมือนเดิมคงไม่ได้ ดังนั้นการปรับตัวทั้งรุกออนไลน์, ส่งถึงบ้าน หรือวิธีอื่น ๆ น่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย แต่ถึงอย่างไรก็คงสู้การขายหน้าร้านไม่ได้อยู่ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา