เมล็ดกาแฟแพงขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี แต่ทำไม Starbucks จะไม่ได้รับผลกระทบ ราคาเครื่องดื่มยังเหมือนเดิม

Starbucks
Starbucks Photo: Shutterstock

ราคาเมล็ดกาแฟดิบโลก แพงขึ้น

ตลาดกาแฟโลกระส่ำ เมื่อแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟโลกอย่างบราซิลได้รับผลกระทบหนัก หลักๆ คือสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ภัยแล้ง ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตได้เท่าที่ควร ประสบภาวะขาดแคลน และสิ่งที่ตามมาคือ “ราคา” ที่พุ่งสูงขึ้น

รายงานของ Financial Times เมื่อช่วงเดือนกรกฏาคมปี 2021 เปิดเผยว่า ราคาเมล็ดกาแฟโลกปรับตัวสูงขึ้น หรือพูดภาษาชาวบ้านคือแพงขึ้น และที่น่าตกใจคือ แพงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี

แต่ให้หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว สิงหาคมปี 2021 รายงานของ The Wall Street Journal เปิดเผยเป็นที่แรกโดยเปิดข้อมูลพบว่า ราคาเมล็ดกาแฟโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง และรอบนี้พุ่งสูงขึ้นจนแพงที่สุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2014 กันเลยทีเดียว

กราฟจาก Trading Economics ทำให้เห็นชัดเจนว่า ราคาเมล็ดกาแฟโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2020 ลากยาวมาจนถึงจุดพีคในปี 2021

Coffee Bean Price
Source: Trading Economics
  • พูดให้เห็นภาพคือ ช่วงก่อนหน้านี้ 2020 ราคาของเมล็ดกาแฟดิบครึ่งกิโลกรัม อยู่ที่ประมาณ 50 บาท แต่ถ้าเทียบกับกลางปี 2021 ราคาของเมล็ดกาแฟดิบพุ่งทะลุ 100 บาทต่อครึ่งกิโลกรัมไปแล้ว เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ผู้ประกอบการและคนทำธุรกิจในวงการกาแฟได้รับผลกระทบไปตามๆ กันทั้งโลก แต่อย่างน้อยๆ มีอยู่ 1 รายที่ออกมาบอกว่า “จะไม่ได้รับผลกระทบ” เขาคือเชนร้านกาแฟรายใหญ่และเป็นทุนข้ามชาติที่ชื่อว่า Starbucks

Starbucks

ทำไม Starbucks จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

Kevin Johnson ซีอีโอ Starbucks พูดถึงประเด็นปัญหาราคาเมล็ดกาแฟแพงสูงสุดในรอบหลายปีกับกลุ่มนักลงทุนว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้สร้างแนวทางการทำธุรกิจที่รอบคอบอย่างมาก ทั้งในแง่การจัดหาและจัดเก็บเมล็ดกาแฟ รวมถึงทำการป้องกันความเสี่ยงในอนาคตเพื่อทำให้เราได้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าดิบ (arabica green coffee) ในราคาที่ดีอยู่เสมอ”

  • สิ่งที่ Starbucks ทำคือใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรียกว่า “Hedging” หรือการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดจากความเสี่ยงในอนาคต

ซีอีโอของ Starbucks บอกว่า ทางบริษัทได้ทำสัญญาซื้อเมล็ดกาแฟล่วงหน้าไว้แล้วมากกว่า 1 ปี (ในสัญญาระบุว่า 14 เดือน) ทำให้ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในอนาคต ทั้งสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ภาวะขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์ หรือแม้กระทั่งปัญหาทางสังคมการเมืองของประเทศผู้ผลิต สุดท้ายแล้วราคาเมล็ดกาแฟที่ Starbucks รับซื้อจะเป็นราคาที่ตายตัว (fixed cost) ไม่เปลี่ยนแปลง

“อันที่จริงแล้ว Starbucks ทำสัญญาซื้อเมล็ดกาแฟดิบล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 12 ถึง 18 เดือน (1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง) มาโดยตลอด แม้แต่ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด เราก็ยังไม่หยุดซื้อ” ซีอีโอของ Starbucks ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ดังนั้นแล้ว ราคาเครื่องดื่มของ Starbucks จะยังคงเดิมต่อไปได้อีกเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แม้ว่าทั้งโลกจะตกอยู่ในสถานการณ์แห่งวิกฤตราคาเมล็ดกาแฟที่พุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ Hedging แบบที่ Starbucks ใช้กับการซื้อเมล็ดกาแฟก็มีด้านกลับ เพราะหากราคากาแฟลดต่ำลงกว่าสัญญาที่ทำไว้ล่วงหน้า ก็ขาดทุน แต่ถึงที่สุด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ในอนาคตและการตัดสินใจของบริษัท

อ้างอิง – Business Insider, WSJCNN, FT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา