การใช้ชีวิตปัจจุบันของคนส่วนใหญ่ต้องผูกติดอยู่กับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เพราะความสะดวก การเข้าถึงความเจริญ หน้าที่การงาน และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า หลายคนจึงเลือกที่จะเช่าที่อยู่อาศัยในเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ถ้าอยากประหยัดค่าเช่าก็ต้องหารูมเมท ต้องเสียเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ ต้องจ่ายค่ามัดจำล่วงหน้า สารพัดค่าทั้งหลายที่เราต้องควักตังค์จ่าย
Co-living space แก้ปัญหาสัญญาเช่ากวนใจ หารูมเมทช่วยแชร์ไม่ได้
ธุรกิจเช่าที่อยู่อาศัยแบบใหม่ที่เรียกว่า Co-living space ชื่อว่า Roomr สร้างมาเพื่อแก้ปัญหาพวกนี้โดยเฉพาะ เพราะคุณไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม มีระบบสัญญาที่โปร่งใส สามารถย้ายเข้าอยู่ได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง มีพื้นที่ Co-working space ให้ใช้ จ่ายแค่ค่าเช่าอย่างเดียว พอ!
Co-living space ของ Roomr เน้นกลุ่มผู้เช่าที่เป็นนักเรียน นักศึกษาในเมืองใหญ่ทั่วโลก ทั้งนิวยอร์ก ซานฟานซิสโก ลอนดอน เบอร์ลิน และเทลอาวีฟ
ห้องพักของ Roomr ออกแบบมาเพื่อพร้อมอยู่อาศัยได้ทันที มีทั้งโต๊ะ ตู้ เตียง โซฟา ทีวี และชุดครัว อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟนได้ตั้งแต่ปลดล็อคประตูห้อง เรียกช่างซ่อม เรียกบริการทำความสะอาด ตัดปัญหาปวดหัวถ้ามีของใช้ในห้องเสียแล้วต้องแจ้งให้เจ้าของห้องมาซ่อมให้ ในห้องนอนก็มีผ้าปูเตียงที่สามารถวิเคราะห์การนอนหลับของแต่ละคนได้
เลือกจ่ายแพงขึ้น ถ้าอยากอยู่คนเดียว
ค่าใช้จ่ายในการเช่าห้องพักของ Roomr ระดับราคาจะต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของห้องพัก ซึ่งมีให้เลือกระหว่าง 1,400-1,725 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 44,282-54,563 บาทต่อเดือน สำหรับพักคนเดียว
ส่วนห้องที่มีขนาดใหญ่สำหรับอาศัยได้หลายคนจะมีราคา 4,725 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 149,456 บาทต่อเดือน ซึ่งแพงกว่าค่าเฉลี่ยของการเช่าห้องพักขนาดเดียวกันซึ่งมีราคา 3,727 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 117,890 บาทต่อเดือน
เฟอร์นิเจอร์ก็เตรียมไว้ รูมเมทก็จัดให้ อยากเลือกรูมเมทเองต้องยอมจ่ายแพงขึ้น
ส่วนใครที่อยากประหยัดค่าใช้จ่าย ถ้าอยากหารูมเมทก็สามารถให้ Roomr จัดการให้ได้เลย โดยผู้เช่าแต่ละคนจะไม่สามารถเลือกรูมเมทเองได้ Roomr จะเป็นผู้เลือกให้ และหากรูมเมทย้ายออก Roomr ก็ต้องหารูมเมทมาแทนเช่นกัน แต่ถ้าอยากเลือกรูมเมทเองก็ต้องเลือกห้องแบบสำหรับอยู่อาศัยได้มากกว่า 1 คนตั้งแต่แรก ซึ่งจะมีราคาที่แพงขึ้น
แต่อย่าลืมว่าราคาที่แพงกว่าค่าเฉลี่ยนี้ เป็นห้องพักที่ตกแต่งครบ พร้อมเข้าอยู่โดยไม่ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์ใดๆ เพิ่มเลย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์หลังย้ายที่อยู่อาศัยใหม่กว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 221,434 บาท
CEO มั่นใจ Co-living space ไม่ขาดทุนเหมือน Co-Working space แน่
รูปแบบการทำธุรกิจ Co-living space ของ Roomr คล้ายกับ Co-working space ของ WeWork มาก จนทำให้เกิดความกังวลว่า Roomr จะขาดทุนมหาศาลเหมือน WeWork หรือไม่ แต่ Goldschmidt CEO ของ Roomr ให้ความมั่นใจว่าธุรกิจจะไปได้สวยแน่นอน เพราะมีห้องพักกว่า 350 ห้อง ในจำนวนนี้ 90% มีผู้อยู่อาศัย และพนักงานเพียง 15 คน
ไม่ใช่แค่ Roomr เท่านั้นที่ทำ Co-living space แต่ยังมี Venn ที่ทำ Co-living space เช่นกัน โดยมีห้องพักจำนวน 40 ตึก อยู่ที่เทลอาวีฟ เบอร์ลิน และนิวยอร์ก ซึ่งมีแผนจะขยายไปที่อื่นในอนาคต
ซึ่ง Co-living space ของ Venn ตั้งเป้าเป็นสถานที่คลายความเหงาให้คนด้วย จากผลสำรวจของ Cigna บริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพเมื่อปี 2018 พบว่า ชาวอเมริกันเกือบครึ่งรู้สึกเหงาบ่อยๆ หรือเหงาตลอดเวลา การสร้าง Co-living space เป็นการช่วยคลายความเหงาให้กับคนได้ เพราะภายในไม่ได้มีแค่ที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมี Co-working space และร้านกาแฟ ให้คนได้เข้ามาพูดคุย มีปฎิสัมพันธ์คลายความเหงากันได้
รัฐบาลหลายๆประเทศมีความพยายามที่จะสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกาที่ราคาที่อยู่อาศัยมีราคาสูงมาก ไม่ว่าจะเช่าหรือซื้อก็ตาม หน่วยงานที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัยของนิวยอร์ค จึงตั้งเป้าหมายสร้าง Co-living space ภายในปี 2025 ที่ผู้เช่าใช้เงินน้อยกว่า 30% ของเงินเดือนเพื่อจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย
ที่มา – cashay
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา