CNN เปิดโปงขบวนการฉ้อโกง ขายถุงมือยางใช้แล้วของไทย ส่งออกไปสหรัฐกว่า 10 ล้านชิ้น

CNN Investigation รายงาน พบถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์แบบใช้แล้ว มีทั้งที่สกปรก มีทั้งที่เปื้อนคราบเลือดติดอยู่ด้วย ถุงมือเหล่านี้ตรวจพบที่บริเวณโรงงานตามชานเมืองของกรุงเทพฯ นอกจากถุงมือใช้แล้วที่พบเห็นได้อยู่เกลื่อนพื้นของโรงงาน บริเวณใกล้เคียงยังมีภาชนะบรรจุน้ำผสมสีสำหรับย้อมถุงมือให้ดูใหม่ขึ้นด้วย ทางเจ้าหน้าที่ไทยระบุว่า แรงงานต่างด้าวพยายามจะทำให้ถุงมือดูมีสภาพใหม่เพื่อนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง นี่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่สาธารณสุขไทยก็เคยเข้าบุกค้นโรงงานเหล่านี้มาแล้วในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

illegal glove

จากที่ CNN รายงานพบว่า ไม่ใช่แค่โรงงานแห่งเดียวที่ทำเช่นนี้และยังพยายามทำเงินจากความต้องการใช้ถุงมือไนไตรที่ใช้สำหรับการแพทย์ที่กำลังมีความต้องการสูงด้วย (ถุงมือไนไตร [nitrile gloves] นี้ทำจากยางสังเคราะห์ป้องกันสารพิษและสารเคมีได้) ช่วงที่โควิดระบาดหนักนี้ทำให้มีความต้องการถุงมือยางดังกล่าวสูงมาก

ถุงมือที่มีลักษณะต่ำกว่ามาตรฐานเช่นนี้ถูกบรรจุใส่กล่องเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก ท่ามกลางความขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ในปัจจุบัน Douglas Stein หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมที่มีการฉ้อโกงให้ข้อมูลกับ CNN ว่า ถุงมือไนไตรถือเป็นสินค้าที่อันตรายที่สุดในโลกแล้วตอนนี้ มีถุงมือใช้แล้วหรือเรียกว่าถุงมือมือสองถูกนำเข้าสหรัฐฯ เป็นจำนวนมหาศาลและดูเหมือนว่ารัฐบาลกลางเพิ่งจะรู้เหมือนกันว่ามีการนำเข้าถุงมือมาตรฐานแย่มากขนาดนี้เข้าประเทศ

แม้ว่าท่าทีดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐของอเมริกาก็ยังหาทางจัดการกับการค้าผิดกฎหมายเช่นนี้ได้ค่อนข้างยากเนื่องจากการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ถูกระงับไว้ชั่วคราวในช่วงที่เกิดโรคระบาดอย่างหนักและยังระงับอยู่จนถึงทุกวันนี้

glove
Photo by Anton on Unsplash

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมของปีนี้ บริษัทในสหรัฐอเมริกาได้เตือนหน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ สองแห่งที่ทำหน้าที่ดูแลการนำเข้าของสหรัฐฯ มีทั้งกรมศุลกากร (CBP) และองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ถึงประเด็นการนำเข้าถุงมือที่มีลักษณะต่ำกว่ามาตรฐานมาจากบริษัทในไทย มีการส่งออกถุงมือมายังสหรัฐฯ มากกว่า 10 ล้านชิ้นและมาถึงสหรัฐฯ​ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ด้านองค์การอาหารและยาระบุกับทาง CNN ว่า จะไม่แสดงความคิดเห็นกรณีนี้แต่ได้ใช้วิธีในการค้นหาและยุติการขายสินค้าที่ไม่ได้รับอนุมัติไว้หลายขั้นตอนด้วยกัน โดยอ้างว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ในการตรวจสอบและทบทวนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้งที่มีการขายภายในประเทศและบริเวณพรมแดนด้วย

อย่างที่รู้กันดีว่า นับตั้งแต่โควิดระบาดเป็นต้นมา อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ขาดตลาดมาโดยตลอด ราคาถุงมือไนไตรก็ไต่ระดับสูงขึ้นมากเพราะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดท่วมท้นเช่นนี้ ทางองค์การอาหารและยาได้เคยสั่งแบนถุงมือยางแบบมีแป้ง (powdered latex) ที่ใช้กันในสาธารณสุขมาแล้ว (ถุงมือยางแบบไร้แป้ง ราคาถูกกว่า มีกระบวนการผลิตซับซ้อนน้อยกว่า) ซึ่งถุงมือยางส่วนใหญ่ผลิตในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ต้องอาศัยยางจากธรรมชาติและโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญและยังเป็นการผลิตที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูงและยังหาแหล่งผลิตได้น้อย แบรนด์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือมักจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการพูดถึง ขึ้นชื่อกันมานานแล้วถึงจะได้เปรียบตลาดที่เหลือ

ด้าน Tarek Kirschen นักธุรกิจจากไมอามี เคยสั่งซื้อถุงมือยางจากไทยไปราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 66 ล้านบาทจากบริษัทในไทยที่ชื่อบริษัท แพดดี้ เดอะรูม เขาบอกว่า เขาได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าที่แสดงความไม่พอใจต่อเขา หัวเสียใส่เขาเมื่อเห็นสินค้า จากนั้นเขาก็เห็นสินค้าจากคอนเทนเนอร์ล็อตที่สองที่มาถึงไมอามี เขาบอกว่า มันเป็นถุงมือยางที่ใช้แล้ว พวกเขาแค่ล้างถุงมือนั้นและรีไซเคิลมัน บางชิ้นก็สกปรก บางชิ้นก็เปื้อนเลือดติดมาด้วย แถมยังมีประทับตราวันที่ด้วยว่ามีการผลิตตั้งแต่ 2 ปีแล้ว เขาไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเองเลยกับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า

จากนั้น Kirschen ก็คืนเงินให้ลูกค้าของเขา ทิ้งถุงมือเหล่านั้นในขยะฝังกลบและแจ้งกับองค์การอาหารและยาเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาบอกว่า ถุงมือที่เขาสั่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เลย แต่ทาง CNN รายงานว่า ถ้าวิเคราะห์จากสถิติการนำเข้ารวมทั้งบริษัทผู้จัดจำหน่ายรายอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาแล้ว พบว่า มีการสั่งซื้อถุงมือยางจากบริษัท แพดดี้มากเกือบ 200 ล้านชิ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิดอย่างหนัก

glove
Photo by Anton on Unsplash

ไม่ใช่แค่บริษัทเดียวที่กลายเป็นเหยื่อฉ้อโกงถุงมือยางต่ำกว่ามาตรฐานจากไทยไปสหรัฐ

ยังมีอีก บริษัท US Liberty LLC ก็เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ได้รับถุงมือยางในลักษณะฉ้อโกงเช่นเดียวกับที่ได้รับจากบริษัท แพดดี้ ที่ Kirschen ได้เผชิญมา แต่แตกต่างกันตรงที่บริษัทที่กระทำกับ US Liberty คือบริษัทเวียดนาม ถุงมือยางที่ได้รับคือถุงมือที่มีรอยขาด เปรอะเปื้อน มีรอยฉีก แถมยังมีเฉดสีที่แตกต่างกัน

CNN ระบุว่า ทาง CNN ได้พยายามที่จะติดต่อผู้นำเข้าทั้งหมดแล้ว แต่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ตอบข้อซักถามดังกล่าว มีเพียงสองบริษัทนี้เท่านั้นที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถุงมือยางที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ส่วนบริษัท Uweport กล่าวกับ CNN ว่า พวกเขาไม่สามารถนำถุงมือที่สั่งซื้อเข้ามาเพื่อไปขายต่อให้กับบริษัทด้านการแพทย์ได้ตามแผนที่วางไว้ เลยต้องขายให้กับบริษัทอาหาร ร้านอาหารและโรงแรมในราคาที่ถูกกว่าเดิม

ด้าน Louis Ziskin ซีอีโอบริษัท AirQueen หนึ่งในบริษัทที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ สั่งซื้อถุงมือยางจากบริษัท แพดดี้ ราว 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 89 ล้านบาทผ่านบุคคลที่สามในเอเชียโดยจ่ายเงินล่วงหน้าทั้งหมด 100% Ziskin เคยเป็นอดีตนักโทษที่ใช้เวลาอยู่ในเรือนจำกว่าสิบปีหลังจากโดนจับกุมข้อหาลักลอบขนยาอีเข้าสหรัฐอเมริกาในปี 2000 แต่ทศวรรษต่อมา เขาก็กลายเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบอิสระพบว่า ถุงมือที่โรงงานในลอสแองเจลิสที่เขาสั่งซื้อ ไม่ใช่ถุงมือไนไตร แต่เป็นถุงมือยางเกรดต่ำหรือถุงมือที่มีไวนิลและส่วนใหญ่ก็เป็นถุงมือที่เปรอะเปื้อนและมีลักษณะเป็นถุงมือมือสองด้วย

Ziskin ระบุว่า เขาไม่มีทางที่จะส่งต่อถุงมือจำพวกนั้นไปให้โรงพยาบาลแน่ๆ ตราบใดที่เขายังมีสติสัมปชัญญะดีพอ เขารู้ดีว่ามันเป็นเรื่องของความปลอดภัย สำหรับเขาแล้ว บริษัทเหล่านี้ต่างหากที่ไม่เคยถูกขึ้นแบล็คลิสต์มาก่อน จึงทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น

glove
ภาพจาก อ.ย.

นอกจากถุงมือคุณภาพต่ำที่เขาได้รับแล้ว Ziskin ยังบอกอีกว่า เขายังได้รับเอกสารการตรวจสอบสินค้าปลอมจากบริษัท แพดดี้ด้วย แน่นอน เรื่องนี้ต้องถึงทางการ Ziskin แจ้งไปยังหน่วยงานรัฐหลังจากได้รับถุงมือคุณภาพแย่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นองค์การอาหารและยาหรือกรมศุลกากร ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีหลักฐานบันทึกเตือนไว้ด้วย แต่ก็ยังมีสินค้าจากบริษัท แพดดี้ส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุด้วยถุงมือราว 80 ล้านชิ้นมายังสหรัฐในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนพนักงานท่าเรือถึงการขนส่งสินค้าจากบริษัท แพดดี้ รูม ว่าควรจะมีการกักกันสินค้าก่อนโดยไม่ต้องตรวจสอบ คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก Ziskin แจ้งเตือนผ่านไปแล้ว 5 เดือน ด้านองค์การอาหารและยาไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ กับการตรวจสอบนี้ แต่ทางกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิยืนยันว่า กำลังมีการตรวจสอบบริษัทนี้อยู่ ส่วนทางกรมศุลกากรแจ้งกับ CNN ว่า มีการยึดหน้ากากปลอมราว 40 ล้านชิ้นและอุปกรณ์ PPE อีกนับแสนชิ้น นอกจากนั้นก็มีการยึดถุงมือที่ส่งเข้ามาด้วยแต่ยังไม่มีการตรวจสอบว่ามีปริมาณเท่าไร

ด้านกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิก็ตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อจัดการเรื่อง PPE ปลอมขึ้นมา ชื่อหน่วยงานว่า Operation Stolen Promise มีเป้าหมายในการจัดตั้งเพื่อทำลายล้างกระบวนการปลอมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ปัจจุบันจับกุมได้มากกว่า 2,000 ชิ้นแล้ว เรื่องนี้ทาง Mike Rose เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสืบสวนพิเศษของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเผยว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นโมเดลให้กับทั่วโลกสามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อจัดการหยุดการนำเข้าดังกล่าวได้ ให้นำไปสู่การยุติธุรกรรมและกิจกรรมที่เป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิดได้

illegal glove

ถุงมือยางมือสอง ถุงมือยางเจ้าปัญหา: บริษัทแพดดี้ เจ้าของเป็นชาวฮ่องกงที่ยังเอาผิดไม่ได้ ส่วนบริษัท SkyMed เจ้าของเป็นนายทหารเก่า

ทางการไทยบุกตรวจค้นบริษัท แพดดี้ รูมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีถุงขยะบรรจุถุงมือยางในสีที่แตกต่างกัน ต่างวัตถุดิบและยังมีคุณภาพต่างกันอีกด้วย บุกจับกุมขณะที่คนงานในโรงงานกำลังยัดถุงมือเก่าในกล่องปลอมที่ติดแบรนด์บริษัทศรีตรัง ด้านบริษัทศรีตรังก็ระบุกับ CNN เช่นกันว่าไม่เคยทำธุรกิจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท แพดดี้ รูมมาก่อน ด้าน Doug Stein ผู้เชี่ยวชาญด้าน PPE เผย สินค้าที่เป็นถุงมือยางที่ถูกนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกา จะไม่มีการแปะป้ายที่เป็นฉลากภาษาต่างประเทศ นี่อาจเป็นสัญญาเตือนแรกๆ ที่ทำให้ให้พบว่า นี่เป็นเรื่องผิดปกติ

แม้ทางองค์การอาหารและยาจะจับกุมตัวเจ้าของโรงงานได้ แต่ยังไม่สามารถตั้งข้อหาได้ ทั้งยังไม่สามารถทำให้ยุติขบวนการของบริษัท แพดดี้ รูมได้ด้วย ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวกับ CNN ว่า หลังจากที่บุกไปยังบริษัทแพดดี้ รูมได้ 1 เดือนก็พบกระบวนการเช่นเดียวกันนี้อีก เขาแค่เปลี่ยนสถานที่ ย้ายโกดังไปที่อื่น เพราะความต้องการถุงมือยางยังสูงอยู่มาก กลุ่มลูกค้าก็ยังรอคอยสินค้าอยู่มากเช่นกัน

ด้านหุ้นส่วนบริษัทแพดดี้ รูม ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ผ่านมา ไทยบุกจับและยึดสินค้าต่ำกว่ามาตรฐานมาอย่างน้อย 10 ครั้ง มีทั้งการใช้ถุงมือใช้แล้วนำมาบรรจุหีบห่อใหม่ในกล่องถุงมือไนไตรปลอม มีทั้งบุกจับขณะคนงานกำลังทำความสะอาดถุงมือยางที่ใช้แล้ว มีทั้งกำลังย้อมถุงมือยางด้วยสีผสมอาหาร

เภสัชกรหญิงสุภัทราคาดว่า น่าจะเป็นถุงมือยางที่นำมาจากจีน อินโดนีเซียและส่งมาที่ไทยเพื่อทำความสะอาด ทั้งซักล้าง ย้อมสีและทำให้แห้ง จากนั้นค่อยบรรจุหีบห่อใหม่ เธอบอกว่า ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดอย่างหนักเช่นนี้ ทำให้ความต้องการถุงมือยางสูงมากทั้งในโรงพยาบาลและความต้องการของคนทั่วไป ทำให้ปริมาณของการทำถุงมือยางผิดกฎหมายจึงมีจำนวนมหาศาล

ถุงมือยาง
ภาพจาก อ.ย.

ไม่ใช่แค่ถุงมือยางที่ผลิตจากบริษัท แพดดี้ รูมที่ปรากฎให้เห็นว่ามีการปลอมถุงมือยางใช้แล้วส่งออกเพื่อจำหน่ายในสหรัฐเท่านั้น แต่เภสัชกรหญิงสุภัทรายังระบุด้วยว่า น่าจะเป็นการทำงานเป็นเครือข่าย ทำกันเป็นขบวนการ ยังมีบริษัท SkyMed อีกด้วยที่ทำแบบเดียวกัน แบรนด์นี้ดำเนินธุรกิจโดยอดีตนายทหารของไทย กล่องถุงมือยางที่แปะแบรนด์ของ SkyMed ถูกค้นพบในบริษัท แพดดี้ รูม บริษัท SkyMed นี้ มีใบอนุญาตนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่ผลิตในเวียดนาม แต่ไม่เคยนำเข้าถุงมือจากไทยและยังไม่ได้ผลิตถุงมือยางเองด้วย ด้าน SkyMed ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วน Ziskin ผู้ถูกฉ้อโกงจากบริษัท แพดดี้ รูม เกือบ 90 ล้านบาทตัดสินใจมาไทยเพื่อทวงคืนความเสียหาย 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เขาโดนจับกุมข้อหาบุกรุกและลักพาตัวหลังจากเผชิญหน้ากันในร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขายืนยันว่า เขาไม่ได้ใช้กำลังและปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เขาต้องการทวงเงินคืนจากบริษัทนี้เท่านั้น จากนั้นเขาก็ถูกปล่อยตัวกลับลอสแองเจลิส ด้านตำรวจไทยระบุกับ CNN ว่าคดียังไม่จบ กำลังอยู่ในขั้นตอนสืบสวนอยู่แม้ทุกเครือข่ายเชื่อมโยงขบวนการจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาก็ตาม

สำหรับข้อมูลบริษัท แพดดี้ เดอะรูม เทรดดิ้ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 25 สิงหาคม 2560 สถานะนิติบุคคลยังดำเนินกิจการอยู่ ชื่อคณะกรรมการคือนายลุก เฟย หยาง หยาง ประเภทของธุรกิจตอนจดทะเบียนคือการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมวิชาชีพนักเรียนและนักศึกษา ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะสตรีท ดินแดง กรุงเทพฯ ข้อมูลงบการเงินไม่ปรากฎตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

จากการสอบถามไปทาง STGT (ศรีตรังโกลฟส์ ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของไทย) ระบุว่า ไม่ได้มีข่าวอะไรพิเศษโดยตรงกับทาง STGT แต่มีข่าวว่าสหรัฐฯ พบถุงมือยางทางการแพทย์ใช้แล้วกว่า 10 ล้านชิ้นนำเข้าจากไทย โดย STGT แจ้งว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ลูกค้าของ STGT ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหญ่และมีการมาตรวจสอบโรงงานก่อนซื้อสินค้าอยู่แล้ว ส่วนในช่วงโควิดก็มีการทำ virtual site visit อยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ทาง STGT แจ้งว่า เคยมีคนปลอมกล่องสินค้าเป็นแบรนด์ของ STGT ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างฟ้องร้อง

สรุป

เรื่องนี้ยังไม่จบ ทางการไทยยังตามจับผู้ต้องหาต่อไป แม้ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาก็ตาม ส่วนชื่อเสียงของไทยก็ฉาวต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไข เรื่องนี้ถ้าสหรัฐฯ ตรวจสอบพบในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มส่งผลกระทบระยะยาวต่อการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์จากไทยไปสหรัฐ และอาจส่งผลต่อประเทศลูกค้ารายอื่นด้วย สหรัฐฯ อาจออกกฎหมายที่ทำให้ส่งออกยากขึ้น เสียภาษีมากขึ้น เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศต่อไทยในระยะยาวได้ หากไม่เร่งแก้ไขจริงจัง

ที่มา – CNN, DBD

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา