บ้านพักคนชราไทยไม่พอ คนแก่ 7 แสนต้องการคนดูแล แต่ตอนนี้มีรองรับแค่แสนเดียว

เข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ มาหลายปีแล้วสำหรับประเทศไทยและในอีกไม่เกิน 16 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ มีจำนวนผู้สุงอายุมากกว่า 30% ของประชากร หรือประมาณ 20.5 ล้านคน โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจะกระทบกับเศรษฐกิจและสังคม ความพร้อมของประเทศจึงสำคัญ

‘ธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอช เฮลท์เทค จํากัด ผู้พัฒนา CloudNurse แพลตฟอร์มสำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุเจ้าแรกของไทยเล่าถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุและบ้านพักชราในไทยให้ Brand Inside ฟัง

‘ธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอช เฮลท์เทค จํากัด ผู้พัฒนา CloudNurse แพลตฟอร์มสำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุ

ผู้สูงวัย 7 แสนต้องการคนดูแล แต่คนจ่ายไหวมีแค่ 1 แสน

ผู้บริหาร ‘CloudNurse’ (คลาวด์เนิร์ส) อธิบายว่า ในประเทศไทยที่มีประชากร 66 ล้านคน มีประชากรสูงอายุราว 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ไทยมีลักษณะเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์

โดยจากประชากรสูงอายุ 13 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 75 ปีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน และในกลุ่มประชากรสูงอายุกว่า 75 ปีนั้น จะมี ‘กลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแล’ จากบุคคลอื่นๆ หรือต้องการพึ่งพิงอยู่ประมาณ 750,000 คน

แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มผู้สูงวัยเกิน 75 ปีที่ตัวเองหรือลูกหลานมีกำลัง สามารถจ่าย ‘ค่าบ้านพักคนชรา‘ ได้มีอยู่ประมาณ 100,000 คนเท่านั้น เพราะหลายคนไม่สามารถจ่ายค่าบ้านพักคนชราที่มีราคาราว 15,000-55,000 บาทต่อเดือนได้

โดยกลุ่มที่ไม่มีกำลังพอจะจ่ายค่าบ้านพักคนชราก็มักจะอยู่บ้านให้ลูกหลานเลี้ยงดู ขณะที่กลุ่มมีกำลังจ่ายสูงมากๆ ก็อาจเลือกอยู่บ้านและจ้างผู้ช่วยพยาบาลดูแล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 2,500 บาทต่อวัน ไม่รวมการเปลี่ยนกะ 2 กะต่อวัน รวมถึงการเปลี่ยนคนมาทดแทนในวันหยุดหรืออื่นๆ

บ้านพักคนชราไทย ไม่เพียงพอคนที่ต้องการ

อีกด้านหนึ่ง คือ จำนวนบ้านพักคนชราในประเทศไทยเองก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบันมีเพียง 2,000-3,000 แห่ง รองรับผู้สูงอายุได้ประมาณ 60,000 คนเท่านั้น หรือคิดเป็น 60% จากความต้องการทั้งหมด

นอกจากนั้น จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 75 ปีในไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 6% ขณะที่จำนวนเตียงในบ้านพักคนชราไทยเติบโตแค่ปีละราว 2% จึงอาจยังโตไม่ทันกับจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าพักอาศัยที่เพิ่มขึ้นทุกปี

แม้จำนวนเตียงจะโตไม่ทันกับความต้องการ แต่ ตลาดบ้านพักคนชราไทย ที่มีขนาดประมาณ 2,200 ล้านบาทยังมีพื้นที่ในการเติบโตได้อีกมาก โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยราว 7.8% ต่อปี เติบโตมากกว่าในสหรัฐอเมริกา (6.8%) และญี่ปุ่น (6.4%)

โดย ‘ธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล’ อธิบายว่า ปัจจุบันบ้านพักคนชราในไทยยังคงทำงานด้วย ‘กระดาษ’ เป็นหลัก จึงทำให้ผู้ร่วมก่อตั้ง CloudNurse ที่เล็งเห็นโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดบ้านพักคนชราไทย เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบ้านพักคนชราได้

จึงนำมาสู่การพัฒนา CloudNurse แอปพลิเคชันระบบหลังบ้านสำหรับบ้านพักคนชรา ที่ภายในแอปจะประกอบด้วยชาร์จคนไข้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รายงานสุขภาพคนไข้ รายงานส่งครอบครัว และแดชบอร์ด เพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารบ้านพักคนชราสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากปกติเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราจะใช้เวลากับงานเอกสาร (บันทึกประจำตัวคนไข้ รายงานสำหรับญาติ และอื่นๆ) นานกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้มีเวลาดูแลผู้สูงวัยลดลง การเข้ามาของ CloudNurse จึงจะช่วยลดเวลาของเจ้าหน้าที่และเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้สูงวัย

แอป CloudNurse เปิดตัวตอนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้ให้บริการกับบ้านพักคนชรา 3 แห่ง รวมจำนวนผู้สูงวัยกว่า 100 คน โดยตั้งเป้าหมายจะมี ‘บ้านพักคนชรา’ เป็นลูกค้า 100 แห่ง โดยมีแผนจะพัฒนาฟีเจอร์อีก 3 เฟสใหญ่ๆ และอยากให้สามารถเข้าถึงคนทั่วไปที่ต้องการดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวที่บ้านในอนาคตด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา